หลายคนคงสงสัยว่าทำไมต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดอื่นผู้ว่าราชการจังหวัดล้วนมาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย
เดิมทีนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นข้าราชการการเมือง แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ส่วนการเลือกตั้งมีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2518 จากการประเทศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีผู้ว่าราชการมาจากการเลือกตั้ง และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เช่นเดียวกับเมืองพัทยาที่มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาการเมืองพัทยา
เหตุผลสำคัญ คือ กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเมืองพัทยาที่เป็นเมืองหลักของการท่องเที่ยว ทั้งสองแห่งจึงมีการปกครองในลักษณะท้องถิ่นพิเศษเพื่อความคล่องตัวโดยมีอิสระในการบริหาร และมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นด้วยตนเอง
ในปี 2564 โดยมีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 คือ การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประมาณกลางปี 2565 จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่ามีปัจจัยอะไรในการตัดสินใจลงคะแนนให้ผู้สมัครเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ช้านี้
แม้กรุงเทพมหานครเป็นการปกครองท้องถิ่น (พิเศษ) แต่ก็มีการเมืองระดับชาติเข้ามาแทรกตลอดมา กล่าวคือ การลงคะแนนเลือกตั้งได้อิงพรรคการเมือง และผู้สมัครมักประกาศตัวในฐานะตัวแทนพรรคการเมืองอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความนิยมในพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลอาจไม่ใช่ปัจจัยเชิงบวกเสมอไป ดังนั้น จึงมีข่าวปรากฏของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นอิสระและผู้สมัครบางคนได้อิงพรรคการเมืองให้การสนับสนุน ใครจะเข้าวินหรือได้รับการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนกรุงเทพฯที่ยังไม่อาจคาดเดาได้