พท.ยื่นแก้ กม.ลูก ใช้เบอร์เดียวทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ พรรคเล็กขอคงหลักการเสียงไม่ตกน้ำ

‘พท.’ ยื่นแก้ 2 กม.ลูก ใช้เบอร์เดียวทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ พรรคเล็กขอคงหลักการคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่รัฐสภา พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม ในฐานะประธาวิปฝ่ายค้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ… ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภา

นพ.ชลน่านกล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.ป.ว่าการด้วยเลือกตั้ง ส.ส.ว่า จากการเปลี่ยนแปลงจำนวนเขตเลือกตั้งจาก 350 เขต เป็น 400 เขต และบัญชีรายชื่อ จาก 150 คนเป็น 100 คน ในร่างของพรรคเพื่อไทย เราเน้นให้มีเขตที่ติดต่อกัน จะแตกต่างจากของเดิม รวมทั้งฐานจำนวนประชากรต้องเขียนให้ชัดเจนขึ้น ขณะที่วิธีการคำนวณต้องเป็นไปตามมาตรา 91 ให้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับคะแนนรวมของบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศแล้วนำมาคำนวณโดย 100 คน เป็นตัวตั้ง เอามาเฉลี่ยจำนวน ส.ส.ที่จะได้รับในแต่ละพรรคการเมือง โดยใช้ 100 คนเป็นตัวหาร

เราจะดูเศษทศนิยมเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น พรรคเพื่อไทยได้ 35.8 พรรคอื่นๆ ได้ 30.2 สมมุติรอบแรกได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 90 ที่นั่ง เหลืออีก 10 ที่นั่งก็จะมาดูที่เศษทศนิยม เป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน แม้จะเอาเศษไม่ใช้ แต่ก็ไม่มีการปัดเศษ และการจัดเบอร์ผู้สมัครให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทราบว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่น่าจะเสนอร่างดังกล่าว แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความจำเป็นและสำคัญ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.เขต จาก 350 เป็น 400 เขต กฎหมายเดิมเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางในการคัดเลือกผู้สมัคร และบังคับให้จัดตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง ในร่างของพรรคเพื่อไทยเรายังยืนยันเจตนารมณ์ เรื่องการส่งเสริมการเลือกตั้งเบื้องต้นหรือไพรมารีโหวต เนื่องจากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 จะไปยกเลิกไม่ได้ ดังนั้นจึงเปลี่ยนวิธีการให้มีเพียงตัวแทนสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพียง 1 เขตก็สามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตทั้งจังหวัด และให้มีบทเฉพาะกาลรองรับจังหวัดใดที่มีตัวแทนพรรคอยู่แล้ว ให้ทำไพรมารีในเขตของตัวเองและทำในเขตอื่นได้ด้วย และการส่งบัญชีรายชื่อนั้นสามรถส่งได้เลยเมื่อมีผู้สมัคร ส.ส.เขตไปสมัครเพียง 1 เขต ก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการรับรองคุณสมบัติผู้สมัคร นอกจากนี้ยังเสนอเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคต้องมีความชัดเจน ทั้งนี้เชื่อว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมีนาคม 2565

Advertisement

ขณะที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวกรณีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ระบุว่าจะนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา แม้ว่าในที่ประชุมคณะทำงานจะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่หลายประเด็น แต่ที่คณะทำงานรับได้ คือ จะไปสู้กันในชั้นสงวนคำแปรญัตติในการประชุมร่วมรัฐสภา หลังร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว

นพ.ระวีกล่าวต่อว่า ประเด็นหลักที่จะต้องต่อสู้ คือ พรรคเล็กเห็นว่าจะต้องคงหลักการคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ และหลักการเรื่อง ส.ส.พึงมีที่จะต้องคงอยู่โดยไม่ถูกแก้ไข อีกทั้งเรื่องการหารคะแนนจะต้องหารด้วย 500 ไม่ใช่ 100 และใช้แนวทางเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือ การนำคะแนนบัตร ส.ส.เขต ของทุกพรรครวมกัน บวกด้วยคะแนนบัตรเลือกพรรคของทุกพรรครวมกัน แล้วหารด้วย 500 จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน สมมุติว่าเป็นคะแนน A จากนั้นนำคะแนนเขตของแต่ละพรรค บวกด้วยคะแนนพรรคของแต่ละพรรค แล้วหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. (A) จะได้เป็น ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ

การคิดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตของแต่ละพรรค จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค การคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่มีการบังคับว่าจะต้องได้ส.ส.ขั้นต่ำ 1% หลังจากคิด ส.ส.บัญชีรายชื่อเต็มตามคะแนนเต็มแล้ว ถ้ามี ส.ส.บัญชีรายชื่อยังไม่ครบ 100 คน เหลือจำนวนเท่าใด ให้ใช้การปัดเศษคะแนนพรรคการเมืองตามลำดับมากน้อย จนกว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อครบ 100 คน อย่างไรก็ตาม ตนจะประสานกับทาง ส.ว. เพื่อทำความเข้าใจในเหตุผลเหล่านี้ และขอใช้เสียง ส.ว.ช่วยสนับสนุนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image