4 ภาคี จับมือเซ็นเอ็มโอยู หนุนพืชพลังงาน ‘สุพัฒนพงษ์’ แง้มแผน ปรับเพิ่มพลังงานสะอาด

4 ภาคี จับมือเซ็นเอ็มโอยู หนุนพืชพลังงาน ด้าน ‘สุพัฒนพงษ์’​ แง้มแผนปรับเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในอนาคต 50%

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)​ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากโดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานในความร่วมมือครั้งนี้

นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาพลังงานในระดับพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ซึ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานทั้งไฟฟ้าและความร้อนจากวัตถุดิบพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ภายในประเทศ เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม้โตเร็ว และพืชพลังงาน ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ.2050 และสอดรับกับการประกาศจุดยืนลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมการประชุมระดับผู้นำในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC: COP) ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ประกอบกับ แนวนโยบายการส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน ได้ขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง ปัจจุบันได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว 43 โครงการ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 16 โครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 27 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม149.50 เมกะวัตต์ ซึ่งกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง จากการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งยังเล็งเห็นความสำคัญในการนำพลังงานทดแทนไปใช้ในภาคความร้อน เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวน รวมถึงกลุ่มเกษตรกร ให้มีการลงทุน ติดตั้ง ระบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ ชีวมวลอัดเม็ด และการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวได้โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน จะต้องมีการกำหนดปริมาณเป้าหมาย และโซนนิ่งให้สอดคล้องกับศักยภาพ และการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งกระทรวงพลังงาน จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินการต่อไป

Advertisement

“พลังงานสะอาดนับเป็นทั้งความท้าทาย ความยาก และความจำเป็น นอกจากลดการกีดกันทางการค้า แล้วยังช่วยผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนเป็นศูนย์ อนาคตอาจจะปรับสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดมากขึ้น หรืออย่างน้อยประมาณ 50% ของกำลังการผลิตใหม่ที่จะเกิดขึ้น” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ด้านนายเฉลิมชัย กล่าวว่า การลงนามระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และส.อ.ท. ในครั้งนี้ได้เน้นความสำคัญในการส่งเสริมการเพิ่มรายได้และสร้างทางเลือกให้เกษตรกร จากเดิมปลูกพืชที่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนที่ต่ำ มาเป็นการปลูกพืชพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงส่งเสริม ให้มีการรวบรวมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ

Advertisement

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ และทุกหน่วยงาน ตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ และชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)​ ตามนโยบายในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีความสมดุล ทั้งการลดการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชทางเลือกที่ในพื้นที่เหมาะสม และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งแน่นอนว่า พืชพลังงานทดแทน เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกร โดยมีโรงไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่แน่นอน ที่จะร่วมผลักดันประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ต่อไป” นายเฉลิมชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image