ที่เห็นและเป็นไป : หรือคิดว่ายังมีความหวัง โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

เวลาในปฏิทินเดินทางมาถึงครึ่งเดือนสุดท้ายของปีเก่า อีกไม่กี่วันจะเริ่มปีใหม่

อาจจะเป็นด้วยห้วงเวลาเช่นนี้ที่ทำให้ในแวดวงสนทนาเริ่มมีคำถามว่า “ปีหน้าจะเป็นอย่างไร”

เป็นอย่างไรในความหมายที่ครอบคลุมทุกด้าน ด้วยความอยากรู้ว่าจะดีขึ้นได้บ้างหรือไม่ เหมือนเดิม หรือจะแย่ลง

เท่าที่พยายามรวบรวมสดับตรับคำตอบที่ได้ฟังมา

Advertisement

“การเมือง” ร้อนแรงขึ้นแน่นอน

เริ่มจาก “การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.” ที่อย่างไรเสียการหาเสียงจะต้องเป็นการโจมตีกัน และเรื่องที่จะหยิบยกขึ้นมาใส่กันย่อมหนีไม่พ้นปัญหาของคน กทม.ที่ย่อมต้องโยงถึงการทำงานของรัฐบาล

ขณะที่ปัญหาภายในพรรครัฐบาลจะมีมากขึ้น ไม่เพียงความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐที่จะต้องเร่งหาข้อยุติ เพราะจะปล่อยให้พรรคเป็นไปเช่นนี้ต่อไม่ได้ และข้อยุตินั้นอาจจะต้องเลือกการแตกหักกับบางกลุ่ม บางพวก นั่นหมายถึงจะทำให้อุณหภูมิการเมืองระอุขึ้นมา

Advertisement

และจะถูกซ้ำด้วยสถานการณ์ภายในประชาธิปัตย์ ซึ่งผู้บริหารพรรคจะถูกดันให้ต้องปรับท่าทีที่มีต่อพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาลที่กลายเป็นพรรคประกาศตัวชัดเจนในการแบ่งฐานเสียงฟากอนุรักษนิยมจากประชาธิปัตย์ทั้งในภาคใต้และ กทม. โดยแสดงออกชัดเจนในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดสงขลา และชุมพร ซึ่งจะส่งผลต่อท่าทีการร่วมรัฐบาลจะต้องเปลี่ยนไปในการวางเกมการเมืองเข้าใส่กันมากขึ้น

นั่นหมายถึงจะเกิดปัญหาซับซ้อนมากขึ้นในการทำงานของรัฐบาล ที่มีแนวโน้มกระทบกระเทือนถึงเอกภาพของรัฐบาล

หันมามองอีกหนึ่งอำนาจอธิปไตยฟากการเมือง รัฐสภาความเป็นไปในปีหน้าน่าสนใจมาก

สภาผู้แทนราษฎร ถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่าการประสานงานเพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างเรียบร้อย ดูจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เหตุการณ์ประชุมล่มบ่อยครั้ง โดยที่ฝ่ายค้านไม่ยินยอมที่ประอะลุ้มอล่วยด้วย ฝ่ายรัฐสภาไม่กระตือรือร้นเมื่อไร จะต้องถูกฝ่ายค้านวางเกมให้การประชุมเดินหน้าต่อไปเมื่อนั้น ซึ่งทำให้ประชาชนก่นประณามการทำหน้าที่ของ ส.ส.หนักขึ้นเรื่อย และแน่นอน “พรรครัฐบาล” จะโดนหนักเพราะเป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมาก ทำให้ต้องมีหน้าที่ควบคุมให้สภาเดินหน้าไปได้

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจะสร้างแรงกดดันให้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองเสียหาย

ส่วนวุฒิสภา ในปีที่ผ่านมาจะพบว่ากระแสการปฏิเสธนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นเครื่องมือปกป้องการสืบทอดอำนาจสร้างความรู้สึกร่วมกับประชาชนสูงยิ่ง แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีเรื่องใดเลยที่บทบาทของ ส.ว.ได้รับการยอมรับจากประชาชน

แม้จะยังทำหน้าที่ปกป้องรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็ง แต่ความรังเกียจของประชาชนกับพฤติกรรมรับใช้อำนาจที่อำนวยประโยชน์ให้ตัวเองถูกแสดงออกชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเสี่ยงต่อสภาวะไร้เกียรติของผู้ทรงเกียรติกลุ่มนี้

เมื่อหันมาทาง “ความเคลื่อนไหวของประชาชน” ชัดเจนแล้วจะลงถนน หรือพื้นที่สาธารณะตั้งแต่ต้นปี เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นอ่อนไหว

ในทาง “เศรษฐกิจ” แม้แนวโน้มของสถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น แต่ตัวขับเคลื่อนระบบยังทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือแทบทำไม่ได้เลย

การท่องเที่ยว แม้จะผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น แต่ทุกฝ่ายย่อมรู้ดีว่าไม่มีทางเหมือนเดิม ด้วยอย่างไรเสีย “ทัวร์จีน” ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงการท่องเที่ยวไทยจะยังไม่กลับมา เพราะนโยบายยังไม่ปล่อยคนออกนอกประเทศของรัฐบาลจีน

และถึงอย่างไร ความกลัวว่าต้องเสี่ยงกับโควิดก็ยังมีอยู่

“การลงทุน” ยังอยู่กับปัญหาอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ส่งเสริมการลงทุนแบบเอาเป็นเอาตาย และค่าแรงที่ถูกกว่า

“การส่งออก” กำลังซื้อของตลาดโลกอยู่ในภาวะที่ประเทศต่างๆ ยังไม่สนับสนุนการซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากนัก ขณะที่พืชผลการเกษตรมีคู่แข่งสำคัญจากประเทศเพื่อนบ้าน และจีนที่เข้มแข็งในการผลิตมากขึ้น

ขณะที่ความรู้ความสามารถของผู้นำรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำอะไรไม่ได้มากกว่า คิดนโยบายที่ไม่ได้เรื่องราวอย่าง “เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ปลูกตำแย และอะไรต่ออะไรที่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นความคิดของคนระดับผู้นำประเทศ”

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำได้แค่การกู้เงินมาแจก ซึ่งเป็นแหล่งเดียวที่พอเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดได้บ้าง

หันมองทางด้านสังคม “ความเหลื่อมล้ำ” ยังเป็นปัญหาให้เกิดความขัดแย้งในทุกมิติ ซึ่งจะเป็นเรื่องสร้างแรงเสียดทานต่อการอยู่ร่วมกันแทบที่ผู้คนสบตากันด้วยความขุ่นข้องต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือภาพที่จะเกิดขึ้น

ภาพนั่นจะส่งผลให้สถานการณ์ของปีหน้า ดีขึ้น เหมือนเดิม หรือเลวร้ายลง

น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนคิดได้เอง หรือหากไม่อยากคิดก็แค่รอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image