เดินหน้าชน : ‘ของขวัญปีใหม่’

ปี 2564 กำลังจะคืบคลานผ่านไปอย่างทุลักทุเล เพราะสะบักสะบอมจากพิษโควิด-19

ภาคธุรกิจต่างได้รับผลกระทบ หนักบ้าง เบาบ้าง แตกต่างกันไป

สำหรับปี 2565 ปีใหม่กำลังจะมาถึงนี้ แม้ว่าจะยังคงตื่นกลัวกับโอไมครอนโควิด-19 กลายพันธุ์

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักก็ยังมีความหวังว่า น่าจะดีกว่าปีนี้

Advertisement

แม้ว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาไทยจะยังไม่มากมายเหมือนปีก่อนโควิด-19

แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาบ้าง ภาคการท่องเที่ยวพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง หลังจากโดนพิษโควิดหนักกว่าใครเพื่อน

มีความเห็นน่าสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเศรษฐกิจปีหน้า ประเทศไทยจะมีทิศทางอย่างไร

Advertisement

เป็นส่วนหนึ่งจากงานสัมมนา เศรษฐกิจประจำปี 2564 ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ “ทางรอด 2022” Survival Guide (เซอร์ไววัล ไกด์) ในช่วงสัมมนาหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565”

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน ภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า “ถ้าไม่มีการระบาดระลอกใหม่ แรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจคือการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ปกติ รวมไปถึงให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศบ้าง ตั้งเป้าไว้ 5.8 ล้านคน แต่หากท่องเที่ยวของต่างชาติยังไม่กลับมา เศรษฐกิจไทยจะเป็นอีกปีที่มีความเสี่ยง และมีโอกาสจีดีพีโตไม่ได้ที่ 3.9%”

ส่วน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เห็นว่า “กำลังซื้อของผู้บริโภคตอนนี้กลับเข้ามาบ้าง แต่อยู่แค่ระดับกลางถึงบน ส่วนระดับล่างยังมีความอ่อนแอ โดยเฉพาะคนในภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว บทบาทภาครัฐจึงมีความสำคัญในการช่วยพยุงคนระดับล่าง พร้อมทั้งเปลี่ยนการใช้เงินจากการแจกให้เปล่า มาเป็นการช่วยส่งเสริมการจ้างงานแทนมากกว่า ปีหน้ามีความเสี่ยงเรื่องการเมือง การเลือกตั้งในสหรัฐ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันช่วงชิงความเป็นชาตินิยม นโยบายต่างประเทศของสหรัฐจึงกดดันจีนไม่ให้ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแทนที่ได้ จึงออกมาในรูปแบบของสงครามทางการค้า ทำให้ประเทศไทยเกิดความเสี่ยงในการส่งสินค้าไปจีนได้น้อยลง”

สำหรับ นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลกประจำประเทศไทย มองว่า “ปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน (Supply Disruption) ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นในหลายประเทศ เกิดจากโรงงานประเทศหนึ่งยังปิดตัวอยู่จากการระบาดของโรคโควิด ทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น รวมไปถึงค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นปัจจัยเสี่ยงต้องจับตาในปีหน้า”

ทั้ง 3 มุมมองทำให้เห็นว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมแผนรับมือความไม่แน่นอนในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยงในหลายเรื่อง

ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การส่งออก การลงทุน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

แต่สิ่งสำคัญที่สุด การบ้านของรัฐบาลคือต้องช่วยคนระดับล่าง โดยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

เพราะนับวันช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยยิ่งถ่างอ้ามากขึ้นทุกวัน

ดังนั้น นอกจากการช่วยผ่านโครงการแจกเงินต่างๆ แล้ว การช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งจำเป็น

เพราะปัจจุบันค่าใช้จ่ายประจำวัน ทั้งค่ากิน ค่าของใช้จำเป็น ค่าเดินทาง ค่าเน็ต

เป็นภาระต่างๆ อันหนักอึ้งของประชาชนจำนวนมาก

หากจะขอให้ประชาชนมีโอกาสได้เลือกบ้าง

“ของขวัญปีใหม่” ปีนี้ รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกกระทรวงจัดของขวัญให้ประชาชน

ก็ขอให้เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากจริงๆ

ไม่ใช่แค่ “ของชำร่วย” เอาไว้โชว์แค่สวยงาม หรือเพียงเพื่อเอาไว้ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานช่วงปีใหม่เท่านั้น

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image