ส่องเบื้องลึก ‘สภาล่ม’

ส่องเบื้องลึก ‘สภาล่ม’

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องเจอกับสภาพองค์ประชุมสภาล่มกันแบบวันเว้นวัน เหมือนเป็นการรับน้องทางการเมือง ในการคุมเสียงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นับตั้งแต่ ‘นิโรธ สุนทรเลขา’ ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แทน ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. และอดีตประธานวิปรัฐบาล ที่ถูกศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ดูเหมือนการทำหน้าที่ประธาน วิปรัฐบาลคนใหม่ จะมีปัญหาในการประสานงานกับวิปฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการควบคุมเสียง ส.ส.ของฝั่งรัฐบาล

เพราะนับตั้งแต่ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ประสานการประชุมสภามา 6 ครั้ง ประชุมรัฐสภา 2 ครั้ง โดยการประชุมทั้ง 8 ครั้ง พบว่าการประชุมเกิดปัญหาสะดุด 2 ครั้ง

เริ่มจากครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานในที่ประชุมสภา ต้องชิงปิดประชุมไปก่อนการลงมติร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่. …) พ.ศ. … ทั้งที่วิปทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ว่าต้องลงมติให้ผ่านไปก่อน แล้วจึงปิดประชุม แต่สภาพที่เกิดขึ้นในห้องประชุม เมื่อประธานที่ประชุมนัดตรวจสอบองค์ประชุม แล้วเห็นสภาพสมาชิกอยู่ในห้องประชุมแบบร่อยหรอ เช็กองค์ประชุมอย่างไรก็คงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 238 คน จาก ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนี้คือ 475 คน จึงต้องชิงปิดการประชุมไปก่อน

Advertisement

ขณะที่ครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมรอบนี้ยังไม่ทันจะเข้าสู่วาระ แต่ถูกวิปฝ่ายค้านวัดพลัง เสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ หลังไม่พอใจการอภิปรายเสียดสีพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ของ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. อภิปรายกล่าวหาว่าฝ่ายค้านขาดประชุม ทั้งที่ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายเสนอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ และไม่แสดงตนแม้จะมาเข้าร่วมประชุมด้วย ถือเป็นการเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป เนื่องจากการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกฝ่าย

ส่วนการประชุมล่มในห้วงวันที่ 15 ธันวาคม และวันที่ 17 ธันวาคม นอกจากสาเหตุที่สมาชิกขาดประชุม และติดภารกิจลงพื้นที่ในช่วงวันศุกร์ ที่ปกติจะงดการประชุม แต่เมื่อมีการนัดประชุมเพิ่มในวันศุกร์ ส.ส.ที่มีภารกิจในวันดังกล่าว จึงขาดประชุมกันหลายคน

Advertisement

อีกทั้งการนัดประชุมเพิ่มในวันศุกร์ มักจะเป็นการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ในคณะต่างๆ ที่พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่จะเห็นชอบตามรายงานของ กมธ. และมักจะไม่มีการตรวจสอบองค์ประชุม ในกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่เห็นด้วย จึงต้องมีการลงมติชี้ขาด ส่งผลให้ต้องเช็กองค์ประชุมและปรากฏว่าการมีสมาชิกจากพรรคร่วมรัฐบาลขาดการประชุมหลายคน และฝ่ายค้านเห็นว่าตามธรรมเนียมการประชุมสภา หน้าที่รักษาองค์ประชุมของสภาจะเป็นของฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก นั่นคือ ฝ่ายรัฐบาล

เมื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมกันหลายคน ฝ่ายค้านจึงไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมให้ ส่งผลให้องค์ประชุมล่มอีกครั้ง

แต่อีกสาเหตุหนึ่งสำคัญ และถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายในการทำงานร่วมกันระหว่างวิปทั้งสองฝ่าย คือ ท่าทีและการประสานงานของประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ที่มักมีปัญหาในการพูดคุยและทำความเข้าใจในข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุมสภาในแต่ละสัปดาห์

โดยเฉพาะประเด็นที่วิปฝ่ายค้านยังติดใจในการทำหน้าที่ของประธานวิปรัฐบาล เนื่องจากญัตติ รวมทั้งระเบียบวาระ โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอยากเสนอให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสภาก่อนนั้น มักถูกเสียงข้างมากของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โหวตไม่ให้นำระเบียบวาระของพรรคร่วมฝ่ายค้านขึ้นมาพิจารณาบ้าง

รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ยังใช้เสียงข้างมากโหวตเลื่อนระเบียบวาระเรื่องอื่น มาลัดคิวระเบียบวาระ รวมทั้งเรื่องสำคัญของฝ่ายค้านอยู่บ่อยครั้ง จนพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่พอใจ

ทั้งที่ที่ผ่านมา การประสานงานของประธานวิปรัฐบาลในก่อนหน้านั้น จะเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมให้กับวิปฝ่ายค้านได้เสนอญัตติ หรือการอภิปรายในบางเรื่องอยู่บ้าง

จนวิปฝ่ายค้านต้องงัดเทคนิคทางการเมืองมาใช้ในเกมการประชุมสภากับฝ่ายของพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมลงชื่อและแสดงตน ร่วมรักษาองค์ประชุมสภาให้เดินหน้าต่อ ไม่ต้องเจอกับปัญหาที่ประชุมสภาล่ม เหมือนในช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาล

โดยเทคนิคที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำมาใช้แก้เกม ดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาลคือ การเสนอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อเรียงตามตัวอักษร เพื่อป้องกันการนับองค์ประชุมแบบเสียบบัตรแสดงตน เนื่องจากอาจมีสมาชิกบางท่านเสียบบัตรแทนเพื่อนสมาชิกที่ไม่อยู่ในห้องประชุม

นอกจากนี้ ในการแสดงตนในที่ประชุมจะให้เป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาล ในการรวบรวมเสียงมาแสดงตนในการรักษาองค์ประชุม โดยฝ่ายค้านจะไม่ร่วมแสดงตนช่วยรักษาองค์ประชุมให้ หากวิปรัฐบาลยังไม่ปรับท่าทีในการทำงานร่วมกัน

แม้เสียงของสภาในขณะนี้มี ส.ส.ทั้งสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 268 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 207 คน ด้วยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะมีมากกว่า 59 เสียง แต่ในการเข้าประชุมสภาจริง มักมี ส.ส.มาประชุมกันไม่ครบ ทั้งขาดประชุมบ้าง ลาประชุมบ้าง

แต่ในเมื่อที่ประชุมสภาอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมากของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ตามธรรมเนียมปฏิบัติหน้าที่รักษาองค์ประชุมจึงเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล

ยิ่งการเมืองในพรรคแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลยังไร้เอกภาพอยู่เช่นนี้ ย่อมส่งผลถึงองค์ประชุมสภา และเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากผู้มีอำนาจในระดับแกนนำรัฐบาลและผู้รับผิดชอบงานสภา ยังไม่ลงมาแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาที่ล่มบ่อยครั้งเช่นนี้ ถึงคิวที่กฎหมายสำคัญๆ ของรัฐบาลที่ต้องเข้าที่ประชุมสภาขอความเห็นชอบ ทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. …

หากเจออุบัติเหตุไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาสักร่างใดร่างหนึ่ง ย่อมส่งผลให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image