09.00 INDEX เอกภาพอันร่วนซุยของรัฐบาล วิบากกรรม ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เอกภาพอันร่วนซุยของรัฐบาล วิบากกรรม ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งๆที่รัฐบาลอันประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส.อยู่ในมือจำนวนมากถึง 268 จากทั้งหมด 475 คน

อันเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวน 207 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านถึง 59 เสียง เหตุใดจึงเกิดสภาวะ ‘สภาล่ม’

ทั้งยังเป็นสภาวะ ‘สภาล่ม’ อย่างชนิดซ้ำซากต่อเนื่องกัน

Advertisement

คำถามนี้จึงมิได้มีแต่ต่อบรรดา ‘วิปรัฐบาล’ ซึ่งมี นายนิโรธ สุนทรเลขา เป็นประธานเท่านั้น หากแต่ยังเป็นคำถามโดยตรงไปยังหัว หน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญ

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ พรรคประชาธิปัตย์

ถึงที่สุดแล้วคือความรับผิดชอบของ ‘พลังประชารัฐ’

เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดสภาวะแตกฉานซ่านเซ็นขึ้นภายในของพรรคร่วมรัฐบาลอันมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ

หรือว่ามีปมและความขัดแย้งที่ยากยิ่งในการเยียวยาเกิดขึ้น

จำเป็นต้องยอมรับว่ารอยร้าวก่อนสถานการณ์ของวันที่ 4 กันยายน ยังจำหลักอย่างหนักแน่นระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ยิ่งเมื่อมีการเอาคืนโดยการใช้อำนาจของมาตรา 171 ปลด ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากครม.

ยิ่งเมื่อมีความพยายามเรียกตัว ‘รัฐมนตรี 6 คน’ ของพรรคพลัง ประชารัฐเข้าพบในทำเนียบรัฐบาลเพื่อก่อปฏิบัติการรุกไล่ ร.อ.ธรรม นัส พรหมเผ่า ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค

รอยแค้นจากปฏิบัติการวันที่ 8 กันยายน ต่อเนื่องมายังปฏิบัติ การวันที่ 25 ตุลาคม จึงฝังลึก ‘ภายใน’ ของรัฐบาล

เป็นปัญหาระหว่างรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

ตราบใดที่ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังมิได้มีการสะสางกระทั่งสร้างความปรองดอง ขึ้นได้ในทางเป็นจริง

สภาวะ ‘สภาล่ม’ สร้างความอกสั่นขวัญแขวนก็ยังเกิดขึ้น

ท่ามกลางความไม่มีบารมีของประธานวิปคนใหม่ที่มิอาจทดแทนบารมีของประธานวิปคนเก่าได้

นี่ย่อมเป็นวิบากกรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image