‘นิกร’ เผย พรรคร่วมรัฐบาล ยื่นกม.ลูก พรุ่งนี้ 11 โมง ระบุยังมีประเด็นเห็นต่าง แต่เคลียร์ได้ไร้ปัญหา

‘นิกร’ เผย พรรคร่วมรัฐบาล ยื่นกม.ลูก พรุ่งนี้ บ่ายสอง ระบุยังมีประเด็นเห็นต่าง แต่เคลียร์ได้ไร้ปัญหา คาดร่างกม.เสร็จ ก.ค.ปีหน้า

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมยื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาา ในวันพรุ่งนี้ (23 ธันวาคม) เวลา 11.00 น. โดยเนื้อหาถือว่าเรียบร้อยได้ข้อยุติในภาพรวม แม้มีบางประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะใช้กลไกของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อแปรญัตติแก้ไข อย่างไรก็ตามจากการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงแนวทางพิจารณาและเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติในประเด็นที่ส.ส.เห็นต่างจากร่างพ.ร.ป.ที่เสนอโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

สำหรับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ กกต. ยกร่างและทำความเห็นนั้น ยอมรับว่าแก้ไขเพียงรายละเอียดตัวเลขของส.ส.บัญชีรายชื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่พบการแก้ไขปัญหาของนายทะเบียนพรรคการเมืองและพรรคการเมือง ฉะนั้นหากให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองของรัฐบาลที่เสนอรัฐสภา โดยการยกร่างของ กกต. เป็นร่างหลักในการพิจารณา เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในกระบวนพิจารณา และส.ส.สามารถเสนอแก้ไขได้ โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือไพรมารีโหวต ที่เสนอให้แก้ไขให้ใช้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นผู้แสดงความเห็นต่อรายชื่อผู้สมัครส.ส. ที่พรรคการเมืองจะส่งลงเลือกตั้ง โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งต่างจากกฎหมายฉบับเดิม ทั้งนี้การแก้ไขประเด็นดังกล่าว พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าสอดคล้องกับมาตรา 45 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง

นายนิกร กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ยังเห็นต่าง คือ หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ที่ กกต. และพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งการสมัครแบบและแบบบัญชีรายชื่อ แต่พรรคร่วมเสนอให้แยกคนละเบอร์ โดยเหตุผลสำคัญที่พรรคร่วมเสนอดังกล่าว เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ทั้งนี้สำหรับปฏิทินทำงานต่อการแก้ร่างพ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับ คาดว่าภายในกลางเดือนมกราคม 2565 รัฐสภาจะพิจารณาในวาระรับหลักการ และตั้งกมธ. พิจารณา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้พิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วันนับจากวันที่รับหลักการ ดังนั้นเชื่อว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image