พลิกปูม ‘โจชัว หว่อง’ แกนนำต้านจีน

โจชัว หว่อง

โจชัว หว่อง ไค ฟุง จะอายุครบ 20 ปี ในวันที่ 13 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ แต่สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะ “หน้าตาแห่งการประท้วง” มานานกว่า 2 ปีแล้ว เมื่อนักศึกษารูปร่างผอมบาง สวมแว่นตากรอบหนากับทรงผม “กะลาครอบ” กลายเป็นผู้นำชาวฮ่องกงเป็นเรือนหมื่น ยืนหยัดประท้วงต่อต้านการปกครองเบ็ดเสร็จจากแผ่นดินใหญ่จีนยืดเยื้อเกือบ 3 เดือนเต็ม เมื่อปี 2014

ฮือฮากันไปทั่วในนาม “อัมเบรลลา เรฟโวลูชั่น” หรือ “ปฏิวัติร่ม” อันเป็นการลุกฮือขึ้นต่อต้านจีนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาหลังอังกฤษส่งมอบเขตเช่าแห่งนี้คืนให้กับรัฐบาลปักกิ่ง

โจชัว หว่อง เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง นับถือศาสนาคริสต์ได้รับการเลี้ยงดูมาเยี่ยงโปรเตสแตนต์ที่ดี โรเจอร์ หว่อง ผู้เป็นบิดามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลูกสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมของเด็กหนุ่มฮ่องกงรายนี้ ด้วยการนำลูกชายไปเยี่ยมเยียนบรรดาเพื่อนร่วมสังคมผู้ด้อยโอกาสอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่วัยเด็ก พร้อมชี้ให้เห็นว่าความรับผิดชอบหนึ่งในฐานะผู้ที่มีความพร้อมมากกว่า คือควรใส่ใจดูแลผู้คนเหล่านี้

เมื่อหว่องเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่ “ยูไนเต็ด คริสเตียน คอลเลจ” (เกาลูนตะวันออก) นั้นทักษะในการพูดและการจัดการที่เคยมีมาจากการทำงานกลุ่มให้กับโบสถ์ยิ่งพัฒนาเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปมีกิจกรรมทางสังคมในท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย อายุเพียง 15 ปี ก็เริ่มเข้าสู่ขบวนการชุมนุมประท้วงทางการเมืองเป็นครั้งแรก ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมต่อต้านรถไฟความเร็วสูงเมื่ปี 2553

Advertisement

ในเดือนพฤษภาคม ปีถัดมา หว่องร่วมมือกับ อีวาน ลัม ก่อตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวของนักเรียนขึ้นเรียกว่า “สกอลลาริสม์” เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกด้วยการแจกใบปลิวต่อต้านการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและตำราเรียนของฮ่องกงเสียใหม่ ที่ทางการจีนเพิ่งประกาศออกมาในช่วงเวลานั้น กลุ่มจัดตั้งของหว่องกับผองเพื่อนดังกล่าวสามารถเคลื่อนไหวอย่างได้ผล จัดให้มีการชุมนุมเพื่อ “ยื่นหนังสือร้องเรียน” ให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว เรียกคนเข้าร่วมได้กว่า 100,000 คน ในปี 2555

ชาวฮ่องกงรู้จัก โจชัว หว่อง ดีมานับตั้งแต่บัดนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เห็นพ้องด้วยและไม่เห็นคล้อยตามก็ตามที

แต่ชื่อ โจชัว หว่อง โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อกลายเป็น 1 ใน 78 ผู้ประท้วงที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหลังเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในการชุมนุมประท้วงที่ “ซีวิค สแควร์” ด้านหน้าคอมเพล็กซ์ศูนย์รัฐบาลกลางแห่งฮ่องกง เมื่อกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนหนึ่งพยายามบุกเข้าไปภายในศูนย์ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเต็มรูปและประท้วงความพยายามของทางการปักกิ่งที่จะปฏิรูประบบการเลือกตั้งของฮ่องกง ในเดือนกันยายนปี 2557 การชุมนุมและการจับกุมดังกล่าวกลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงยืดเยื้อที่กลายเป็น “ปฏิวัติร่ม” ในเวลาต่อมา

Advertisement

กลุ่มประท้วงที่จัดการชุมนุมหนึ่งในนั้นก็คือ สมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง และสกอลลาริสม์ นั่นเอง

หว่องได้รับอิสรภาพในอีก 46 ชั่วโมงต่อมา ถือเป็นคนหลังสุดที่ได้รับการปล่อยตัว แต่การถูกควบคุมตัวไม่ได้ทำให้หว่องสะทกสะท้าน เขาพร้อมกับแกนนำนักศึกษาคนอื่นๆ กลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการประท้วงที่เริ่มต้นด้วยการ “นั่งประท้วง” บริเวณสี่แยกใจกลางเมืองจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “ออคคิวพาย เซนทรัล วิธ พีซ แอนด์ เลิฟ” จากแยกเดียวลุกลามออกไปเป็นการยึดครอง อาศัยท้องถนนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมือง กินอยู่หลับนอน นานเกือบ 3 เดือนเต็ม มีผู้เข้าร่วมในระดับสูงสุดเกินกว่า 100,000 คนในหลายๆ คืนระหว่างการชุมนุม

หว่องกับเพื่อนนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนถูกตั้งข้อหา ยุยงให้ผู้อื่นเข้าร่วมและเข้าร่วมในการชุมนุมประท้วงเมื่อปลายปีเดียวกัน ก่อนได้รับประกันตัวภายใต้เงื่อนไขห้ามเข้าหลายพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ชุมนุม โดยเฉพาะย่าน มง ก๊ก คดีดังกล่าวมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หว่องถูกลงโทษให้ทำงานรับใช้สังคม 80 ชั่วโมง

ในช่วง 2 ปีหลังจากเหตุการณ์ “ปฏิวัติร่ม” โจชัว หว่อง กลายเป็น “ทูตของขบวนการประชาธิปไตย” แห่งฮ่องกงไปโดยปริยาย ได้รับเชิญให้เดินทางไปเยือนหลายต่อหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, เคมบริดจ์, ฮาร์วาร์ด และสแตนฟอร์ด

ทั้งนี้ หลังจากได้รับเชิญมาเมืองไทยแต่ไม่เป็นผลแล้ว หว่องยังมีกำหนดจะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี., นิวยอร์ก และไมอามี อีกระลอก

เท่าที่ผ่านมา หว่องเคยถูกทางการมาเลเซียห้ามเข้าประเทศเพียงครั้งเดียวเมื่อ 26 พฤษภาคม 2558

ก่อนที่จะมามีประสบการณ์ซ้ำรอยอีกครั้งในเมืองไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image