‘2564’ ปีแห่งศึก ‘อปท.’ ล้มช้าง-ป้องแชมป์-แจ้งเกิด

‘2564’ ปีแห่งศึก ‘อปท.’ ล้มช้าง-ป้องแชมป์-แจ้งเกิด

ปี 2564 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีหลังการรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ทีมบริหารชุดเดิม และ ข้าราชการนั่งรักษาการบริหารงานมายาวนานกว่า 8 ปี หลังเปิดสนามแข่งขัน บรรยากาศการแข่งขันทั้ง 3 สนามคึกคัก หลายจังหวัดเป็นพื้นที่ชนช้าง มีคนเก่ง คนดัง ลงสนามแรกคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายก อบจ. 77 จังหวัด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 และประกาศรับรองผลในช่วงต้นปี 2564 ผลการเลือกตั้งมีทั้งแชมป์เก่าได้ไปต่อ ขณะที่หลายรายตกเก้าอี้ พ่ายศึกให้ผู้สมัครหน้าใหม่ตบเท้าเข้าสภาอย่างคึกคัก

สำหรับพื้นที่ช้างล้ม ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ‘ส.ว.ก๊อง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร’ จากพรรคเพื่อไทย เด็กเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ล้มแชมป์เก่า ‘บุญเลิศ บูรณุปกรณ์’อดีตนายก อบจ.หลายสมัย ชัยชนะส่วนหนึ่งมาจากนายใหญ่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความและคลิปวิดีโอเชิญชวนชาวเชียงใหม่ไปลงคะแนนให้ ส.ว.ก๊อง, ส่วน จ.ลำปาง พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ ล้มแชมป์เก่า 6 สมัย ชาติชาย เจียมศรีพงษ์,จ.ปทุมธานี บิ๊กแจ๊ส พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เอาชนะ ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ อดีตนายก อบจ. 4 สมัย ไปอย่างสวยงาม

พื้นที่ภาคอีสาน จ.นครพนม ‘ศุภพานี โพธิ์สุ’ หัวหน้าทีมกลุ่มนครพนมร่วมใจ ลูกสาว ‘ครูแก้ว ศุภชัย โพธิ์สุ’ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ล้มแชมป์เก่า ‘สมชอบ นิติพจน์’ จากพรรคเพื่อไทย, จ.มุกดาหาร ‘พ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์’ อดีต ส.ว. จากพรรคเพื่อไทย ชนะ ‘วิริยะ ทองผา’ อดีตรองนายก อบจ. สามี ‘มลัยรัก ทองผา’ อดีตนายก อบจ.มุกดาหาร อย่างเฉียดฉิว ที่ จ.ร้อยเอ็ด ‘เอกภาพ พลซื่อ’ เอาชนะ ‘มังกร ยนต์ตระกูล’ กลุ่ม ‘เพื่อไทยร้อยเอ็ด’

พื้นที่ภาคใต้ ‘ธราธิป ทองเจิม’ อดีตรองนายก อบจ.พังงา ชนะ ‘บำรุง ปิยนามวาณิช’ อดีตนายก, จ.กาญจนบุรี ‘หมอหนุ่ย สุรพงษ์ ปิยะโชติ’ จากทีมพลังกาญจน์ คว่ำแชมเก่า ‘เสี่ยสรรค์ รังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์’ จากทีมพลังใหม่

Advertisement

สำหรับแชมป์เก่า ที่ยังครองใจชาวบ้านมีจำนวนไม่น้อย เด่นสุด ‘โกหงวน สมศักดิ์ กิตติธรกุล’ วัย 74 ปี นั่งเก้าอี้เป็นสมัยที่ 7 ชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ.เพชรบุรี และ เผด็จ นุ้ยปรี อบจ.อุทัยธานี 3 รายแรกนี้ลงสนามแบบไร้คู่แข่ง, วิเชียร ขาวขำ อบจ.อุดรธานี คมคาย อุดรพิมพ์ อบจ.มหาสารคาม วิทยา คุณปลื้ม อบจ.ชลบุรี, บุญชู จันทร์สุวรรณ อบจ.สุพรรณบุรี พ.ต.ท.ธงชัย เย็นประเสริฐ อบจ.นนทบุรี สมทรง พันธ์เจริญวรพันธ์ อบจ.กรุงเก่า ฯลฯ

จากนั้นมาช่วงต้นปี กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ทั่วประเทศ 2,472 แห่ง ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 เป็นอีกสนามที่มีทั้งแชมป์เก่าหน้าใหม่ นักการเมืองพรรคใหญ่ อดีตรัฐมนตรี ส.ส. คนเด่น คนดัง ตบเท้าลงสนาม ท่ามกลางกระแสข่าวการซื้อเสียงอย่างต่อเนื่อง หลังการเลือกตั้ง แชมป์เก่าพลัดตกเก้าอี้ไปอย่างพลิกความคาดหมายหลายสนาม โดยเฉพาะสนามเทศบาลขนาดใหญ่ ทั้งเทศบาลนครและเทศบาลเมือง อาทิ จ.เพชรบุรี ‘กิตติพงษ์ เทพพานิช’ หัวหน้ากลุ่มก้าวใหม่ใจเพชร เอาชนะ ‘พลยุทธ อังกินันทน์’ หัวหน้ากลุ่มผาด หลานปู่ของ ‘ผาด อังกินันทน์’ ถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มผาดพ่ายการเลือกตั้ง หลังครองเก้าอี้นายกเทศมนตรีเมืองเพชรฯมานานกว่า 50 ปี

ที่ จ.สมุทรสาคร ‘ชุมพล จันทร์จรัสวัฒนา’ เอาชนะ ‘กุลวัชร หงษ์คู’ อดีตนายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร รวมทั้งเทศบาลนครอ้อมน้อย ‘บุญชู นิลถนอม’ โค่นแชมป์เก่า ‘สมศักดิ์ ขวัญเมือง’ อดีตนายกเทศมนตรีที่นั่งบริหารกว่า 20 ปีตั้งแต่ยังเป็นสุขาภิบาล จ.ปทุมธานี ชิงนายกเทศมนตรีนครรังสิต ‘ร.ต.อ.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง’ ลูกชายบิ๊กแจ๊ส หรือ ‘พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง’ นายก อบจ.ปทุมธานี เฉือนชนะ ‘เดชา กลิ่นกุสุม’ พ่อของ ‘ธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม’ อดีตนายกเทศมนตรีไปเพียง 5 คะแนน

Advertisement

พื้นที่ภาคใต้ สนามเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครสงขลา ‘ศรัญ บิลพัฒน์’ เฉือนชนะแชมป์เก่า ‘สมศักดิ์ ตันติเศรณี’ อดีตนายกเทศมนตรี ที่จ.สุราษฎร์ สนามเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีตผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวชนะไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรี 3 สมัย เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี นายประเสริฐ บุญประสพ อดีตรองนายกเทศมนตรี น้องชาย โสภา กาญจนะ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ โค่น ‘ธีระกิจ หวังมุทิตากุล’ นายกเทศมนตรี 9 ปี และเทศบาลเมืองดอนสัก อ.ดอนสัก นันทนี เชยกลิ่น อดีตนายกเทศมนตรีล้มแชมป์เก่า ประกอบ จันทร์แก้ว

เทศบาลเมืองกระบี่ ‘พ.ต.อ.สมเด็จ สุขการ’ อดีต ผกก.สภ.เมืองกระบี่ ชนะ กีรติศักดิ์ ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ 8 สมัย เป็นน้องชายนายชวน ภูเก้าล้วน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองกระบี่ กลุ่มพัฒนากระบี่ ที่บริหารเทศบาลเมืองกระบี่ยาวนานมากว่า 47 ปี ด้วยคะแนนอย่างถล่มทลาย

ภาคอีสาน เมืองดอกบัว เทศบาลนครอุบลราชธานี ‘พิศทยา ไชยสงคราม’ ลูกสะใภ้ ‘เกรียง กัลป์ตินันท์’ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะการเลือกตั้ง ทำให้ ‘กัลป์ตินันท์’ ครองเก้าอี้การเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น ทั้ง อบจ.จนถึง เทศบาล อย่างเบ็ดเสร็จ

ส่วนพื้นที่ เทศบาลนครนครราชสีมา ‘ประเสริฐ บุญชัยสุข’ อดีต รมว.อุตสาหกรรม คนสนิท ‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ได้รับเลือกตั้งตามคาด พร้อมลูกทีม ส.ท.เข้าสภายกทีมทั้ง 4 เขต 24 คน

จ.เชียงใหม่ ตระกูล ‘บูรณุปกรณ์’ ยังป้องกันแชมป์ได้ ‘อัศนี บูรณุปกรณ์’ ลงสนามแทน ‘ทัศนัย บูรณุปกรณ์’ อดีตนายกเทศมนตรี สามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้ หลังจากก่อนหน้านี้ ‘บุญเลิศ บูรณุปกรณ์’ เพิ่งเสียเก้าอี้สนาม อบจ.ให้ ‘สว.ก๊อง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร’ ไปหมาดๆ จ.ชลบุรี เทศบาลเมืองแสนสุข ‘ณรงค์ชัย คุณปลื้ม’ ทายาท กำนันเป๊าะ ‘สมชาย คุณปลื้ม’ ยังเหนียวแน่น คว้าชัยสมัยที่ 3 โดยเอาชนะ ‘สมชาติ คุณปลื้ม’ ที่มีศักดิ์เป็นอาได้สำเร็จ

มาถึงช่วงปลายปี มีการเลือกตั้งสนามสุดท้าย การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) และ นายก อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ แม้บรรยากาศการแข่งขันไม่รุนแรง ไม่คึกคักเท่าสนามใหญ่ แต่ยังพบบางพื้นที่มีการแข่งขันสูง มีกระแสการซื้อเสียง ทุจริตเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้ง โดยเฉพาะสนาม อบต.คลองคะเชนทร์ อ.เมืองพิจิตร ฐานเสียงหลักของตระกูล ‘แก้วทอง’ มีแชมป์เก่าคือ อุมาพร แก้วทอง ภรรยา นราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นลูกสะใภ้ ไพฑูรย์ แก้วทอง แข่งกับ ‘ศุภกิจ กัยกิจ’ อดีตที่ปรึกษา นายกฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ นายก อบจ.พิจิตร และเลขาฯส่วนตัวของ ‘ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์’ อดีต รมช.คลัง แข่งดุเดือดมาตลอดการแข่งขัน ท่ามกลางข่าวการปั่นราคาไปถึงหัวละ 1,000-6,000 บาท ที่สุดลูกทีม ‘ภัทรประสิทธิ์’ คว้าชัยไปครอง ทำให้ตระกูล แก้วทอง เสียเก้าอี้ในฐานที่มั่นไป นอกจากนี้ ลูกทีมภัทรประสิทธิ์ยังคว้าเก้าอี้ในสนาม อบต.หนองโสน พื้นที่ฐานเสียงของ ‘สุนีย์ เหลืองวิจิตร’ อดีต ส.ส.พิจิตร พรรคเพื่อไทย อีกด้วย

ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แชมป์เก่าร่วงหลายราย เช่น อบต.ขนงพระ อบต.จันทึก อบต.โป่งตาลอง อบต.พญาเย็น อบต.หนองน้ำแดง ส่วน อบต.ปากช่อง นายเสกสันต์ ทองสวัสดิ์วงศ์ และ อบต.วังกระทะ นางสุนทรา ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้

ส่วน จ.ประจวบครีขันธ์ พื้นที่ อ.บางสะพาน และ อ.บางสะพานน้อย อดีตนายก อบต.สอบตกทุกตำบล ที่ จ.เชียงใหม่ นายนพดล ณ เชียงใหม่ อดีตนายก อบต.ดอนแก้ว 4 สมัย และนายกสมาคม อบต.จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 5

โดยภาพรวมอดีตนายก อบต.ส่วนใหญ่ ยังคงรักษาแชมป์ไว้ได้ ขณะที่มีนายกหน้าใหม่สอดแทรกเข้ามาได้ในหลายพื้นที่ ทั้งนี้โดยภาพรวม ยังเป็นทั้งเครือข่ายของพรรคการเมืองใหญ่ ที่ถือเป็นฐานสำคัญต่อการเลือกตั้งระดับชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ประเมินภาพรวมการรับรองผลการเลือกตั้ง อบต. อบจ.และเทศบาล ว่า การเลือกตั้งบ่งชี้ว่ากระบวนการการพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น ได้รับการปลดล็อกในระดับที่น่าพอใจ หลังจากถูกแช่แข็งมานานกว่า 9 -10 ปี ขณะเดียวในทางการเมืองระดับชาติถือว่ามีความสำคัญมาก หลังการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว นักการเมืองระดับชาติที่เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะทราบว่าบุคคลใดที่ต้องเข้าไปสร้างคอนเน็กชั่น แต่พรรคการเมืองต่างๆ คงทราบมานานพอสมควรว่า ใครจะได้เปรียบ หรือจะชนะเลือกตั้งในแต่ละท้องถิ่น

ถ้าดูในภาพรวมเรื่องแนวทางการกระจายอำนาจถือว่าน่าเป็นห่วง อาจไม่ตอบโจทย์ให้ประชาชนที่มีความคาดหวัง ทั้งโครงสร้างของระเบียบกฎหมาย การตรวจสอบการใช้งบประมาณ การกำกับดูแลจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ยังมีปัญหาในการทำโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสาธารณะ ในอนาคตเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง และการทำงานของท้องถิ่นอาจจะยากกว่าเดิม เพราะว่าช่วงที่ คสช.แช่แข็งการปกครองท้องถิ่น มีผลทำให้ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเติบโตมาก มีการออกกฎหมายทำให้ท้องถิ่นไม่มีอิสระที่แท้จริง

ในทางปฏิบัติทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งคล้ายระบบราชการปกติ ผู้บริหารมีอำนาจที่แท้จริงไม่มาก ดังนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่ผ่านการเลือกตั้ง ต้องใช้ศิลปะชั้นเชิงในการบริหารงานมากพอสมควร หากมีหัวใจยึดมั่นทำงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างท้องถิ่นทันที ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมาท้องถิ่นเสียโอกาสอย่างมากกับแนวทางการปฏิรูปท้องถิ่น ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงาน มีบุคลากรมากมายหลายด้าน สูญเสียทั้งเวลา สูญเสียงบประมาณ แต่วันนี้ยังไม่เห็นแนวทางที่มีการปฏิรูปท้องถิ่นที่ชัดเจน ไม่มีการปฏิรูปแนวทางการกระจายอำนาจตามหลักสากลอย่างชัดเจนตามข้อเสนอแนะ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ ไม่ได้เห็นแนวทางการกระจายอำนาจที่ทำให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง

ปัจจุบันการทำงานของท้องถิ่นยังวางระบบให้น้ำหนักกับการทำงานของระบบราชการเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลทราบว่าระบบราชการเป็นเพียงเศษเสี้ยวของท้องถิ่น ในขณะที่แต่ละท้องถิ่นยังมีองค์กรภาคประชาสังคม สภาองค์กรชุมชน ที่ยังไม่ได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารท้องถิ่นให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image