ส่องการเมืองปี’65 ‘รบ.บิ๊กตู่’ อยู่หรือไป

สถานการณ์ทางการเมืองก้าวเข้าสู่ปี 2565 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าสู่ปีที่ 3 ก่อนจะเริ่มนับถอยหลังครบวาระ 4 ปีในห้วงเดือนมีนาคม 2566

หลายฝ่ายรวมทั้งฝั่งการเมือง ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ต่างจับตาและติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ครบเทอมหรือไม่

เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 มีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานะ และตัวชี้ขาดความเป็นไปของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้าทายดุลอำนาจของพี่น้อง กลุ่ม 3 ป.

คือ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ที่แบ่งบทบาทกันคุมอำนาจทางการเมือง ว่ายังจะกอดคอกันเหนียวแน่นชนิดที่มีเพียง “ความตาย” เท่านั้นจะมาแยกสัมพันธ์ของพี่น้องกลุ่ม 3 ป.ตามที่ พล.อ.ประวิตรยืนยันอย่างหนักแน่นกับสื่อมวลชนได้อยู่หรือไม่

Advertisement

“บิ๊กป้อม” ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เรื่องในพรรค พปชร.จะเป็นหน้าที่ของตัวเองในการดูแล ส่วนเรื่องการบริหารประเทศให้เป็นหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ด้วยปัญหาภายในพรรค พปชร.ที่ส่งสัญญาณร้าว หลัง พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจนายกฯสั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหลือเพียงเก้าอี้ ส.ส.พะเยาและเลขาธิการพรรค พปชร. เซ่นเหตุการณ์เขย่าเก้าอี้นายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564

ทำให้เกิดระยะห่างและความไม่ไว้วางใจระหว่าง บิ๊กตู่ กับ ร.อ.ธรรมนัส ที่คุม ส.ส.ของพรรค พปชร. พรรคแกนนำค้ำยันสถานะความเป็นไปของรัฐบาลไปได้จนครบวาระหรือไม่

เริ่มมีสัญญาณของความขัดแย้งกันภายในของพรรคแกนนำรัฐบาล ผ่านองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มกันบ่อยครั้ง หากแกนนำรัฐบาลไม่แก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่มให้ได้ หากมีวาระกฎหมายที่สำคัญๆ ของรัฐบาล ทั้งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รวมทั้งร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด เกิดมาเสียเหลี่ยมไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ย่อมส่งผลให้รัฐบาลจบเห่ก่อนครบวาระได้เหมือนกัน

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของการเดินหน้าพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในเดือนมกราคม 2565 ตามไทม์ไลน์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าที่ประชุมรัฐสภาต้องพิจารณาทั้ง 2 ร่าง พ.ร.ป.ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะอยู่ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2565

หลังจากที่ พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ แรงเสียดทานทางการเมืองจะถาโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ อย่างหนักอีกครั้ง ในการเรียกร้องให้ยุบสภา เพื่อให้มีการ เลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเมื่อกติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาลจะดึงอำนาจไว้ ไม่ยอมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง มอบฉันทามติให้ใครเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำบริหารประเทศ

หาก พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค พปชร.มีเรตติ้งดีจริงตามผลโพลของบางสำนัก ก็ควรลงมาสู่สนามเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยร้อนในประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ว่าสุดท้ายจะเริ่มนับและครบ 8 ปีกันในปีไหน เนื่องจากยังมีความเห็นของหลายฝ่าย โดยฝ่ายค้านมองว่า ควรเริ่มนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งจะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม 2565

ขณะที่ฝั่งรัฐบาล โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ได้เตรียมทางออกในประเด็นนายกฯ ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีไว้แล้ว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจะชี้แจงต่อสังคมให้รับทราบ ถึงแม้ฝ่ายกฎหมายของสภาจะให้ความเห็นว่าควรเริ่มนับหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์นั่งนายกฯ คือเดือนมิถุนายน 2562 ที่ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ ซึ่งจะครบ 8 ปีในปี 2570

แต่สุดท้ายประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องไปจบที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวชี้ขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อ หรือพอแค่นี้

นอกจากนี้ยังมีศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นอภิปรายในช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อเขย่าเก้าอี้นายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกรอบ ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส ยังสมานแผลในใจกันไม่ได้เช่นนี้

โอกาสที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย เกิดแผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรีเหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2564 อาจจะสั่นคลอนเก้าอี้นายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง

ขณะเดียวกันสถานการณ์การชุมนุมของแนวร่วมคณะราษฎรหลากหลายกลุ่ม แม้ปัจจุบันแกนนำหลายคนจะอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่แกนนำและแนวร่วมอีกหลายคนแม้จะได้รับการประกันตัวไปแล้ว แต่เกือบทั้งหมดต่างมีชนักติดหลัง ตามคำสั่งและเงื่อนไขของศาลอาจทำให้การเคลื่อนไหวยากขึ้น

แต่หากมีเหตุและปัจจัยในทางการเมืองมากระตุ้น ปลุกให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งเรื่องคำตอบของศาลรัฐธรรมนูญต่อเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ว่าจะออกมาในแนวทางไหน รวมทั้งประเด็นการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่จะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาวัดใจสมาชิกรัฐสภากันอีกครั้ง

หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนโดนตีตกอีกรอบ กอปรกับมีปัจจัยทางการเมืองอื่นๆ มาเป็นเชื้อให้การชุมนุมกลับมาจุดติดอีกครั้ง ย่อมจะเป็นอีกแรงสั่นคลอนทางการเมืองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้

สถานการณ์ทางการเมืองปีเสือในปี 2565 จะดุแค่ไหน และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะเอาตัวรอดจากปัจจัยรุมเร้าต่างๆ อยู่ครบเทอมได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image