นักวิชาการ พบข้อสังเกตน่าสงสัย ปัญหาเรื่องตัวเลข-วิธีเก็บข้อมูล โพลบุคคลแห่งปี

นักวิชาการ พบข้อสังเกตน่าสงสัย เรื่องตัวเลข-วิธีเก็บข้อมูล โพลบุคคลแห่งปี จากตัวเลข พบโพลทำขึ้นโดยมีความตั้งใจว่าคำตอบจะต้องเป็นคนใดคนหนึ่งที่ผู้ทำโพลเลือกมาไว้ตั้งแต่ต้น ชี้อาจผิดกระบวนการ นักวิจัยทางด้านสถิติไม่ทำกัน

จากกรณี ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลการสำรวจ “บุคคลของสังคมแห่งปี 2564 ในใจประชาชน”  เสนอผลสำรวจ เรื่อง บุคคลของสังคมแห่งปี 2564 ในใจประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ อ้างว่า ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพจำนวน 1,124 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21 – 25 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผลสำรวจที่พบอาทิเช่น

คนดีของสังคม แห่งปี 2564   3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ตูน บอดี้สแลม อาทิวราห์ คงมาลัย ร้อยละ 44.1 อันดับที่ 2 ได้แก่ ปวีณา หงสกุล ร้อยละ 29.4 อันดับที่ 3 ได้แก่ บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ร้อยละ 25.9

คุณหมอของสังคม แห่งปี ช่วยวิกฤตโควิด พบ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 หมอยง ภู่วรวรรณ โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้อยละ 39.9 อันดับที่ 2 ได้แก่ หมอเหรียญทอง แน่นหนา โรงพยาบาล มงกุฏวัฒนะ ร้อยละ 36.0 อันดับที่ 3 ได้แก่ หมอนิธิ มหานนท์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร้อยละ 22.2

Advertisement

บุคคลแห่งปี ที่ช่วยเหลือแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนและปัญหาสังคมได้แก่ อันดับที่ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ รองนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 40.0 อันดับที่ 2 ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 36.4

ทั้งนี้หลังผลวิจัยดังกล่าว ได้มีความเห็นทางวิชาการออกมาตั้งคำถาม กับตัวเลขที่ได้มา ซึ่งอาจสะท้อน

ศ.ดร.ณัฐวุฒิ เผ่าทวี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันเป็น ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Professor of Behavioural Science)  Warwick Business School สหราชอาณาจักร เผยแพร่ข้อเขียนแสดงความเห็น ตั้งข้อสังเกตุเรื่องนี้ โดย ระบุว่า

Advertisement

ผมเพิ่งจะเห็นผลโพลของบุคคลแห่งปี มีใครที่เห็นผลโพลนี้แล้วตั้งคำถามถึงตัวเลขที่ได้มาไหมครับ

คือผมไม่มีปัญหาใดๆกับบุคคลแห่งปีท่านใดเลยนะครับ แต่ผมมีปัญหากับตัวเลข ยกตัวอย่างเช่น “คนดีของสังคม” ที่พี่ตูนได้คะแนนโหวตร้อยละ 44.1% คุณปวีณาได้คะแนนร้อยละ 29.4% และคุณปุ๋ม ปนัดดาได้คะแนนร้อยละ 25.9%

ถ้าเรานำคะแนนของทั้งสามคนมาบวกกันเราก็จะพบว่าตัวเลขบวกกันได้เกือบหนึ่งร้อยเต็ม (44.1% + 29.4% + 25.9% = 99.4%) พูดง่ายๆก็คือถ้ามีคนในกลุ่มตัวอย่างหนึ่งร้อยคน ประมาณ 44 คนให้พี่ตูนเป็นคนดีที่สุดในสังคม 30 คนให้คุณปวีณา และ 26 คนให้คุณปุ๋ม ปนัดดา

และถ้าเราดูในหัวข้อต่อไป เราก็จะเห็นได้ว่าตัวเลขของบุคคลตัวอย่างสามคนบวกกันได้เกือบร้อยอีกเช่นเดียวกัน (40.0% + 36.4% + 19.3% = 95.7%)

แล้วตัวเลขพวกนี้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับการทำโพลตัวนี้บ้าง?

มันบอกกับเราว่าคำถามที่โพลใช้ถามกลุ่มตัวอย่าง (ซึ่งผมหาตัวอย่างคำถามของโพลในเว็บไซต์ของโพลไม่เจอ) ไม่ใช่ “บุคคลใดในความคิดของคุณเป็นคนดีของสังคมแห่งปี 2564” ที่ให้คำตอบเป็น open-ended หรืออะไรก็ได้อย่างแน่นอน เพราะถ้าคำถามมีคำตอบเป็น Open-ended

ที่โพลพวกนี้ควรที่จะเป็นล่ะก็ เราจะไม่ได้ตัวเลขที่คิดร้อยละสูงขนาดนั้น เพราะโอกาสที่ 44.1% ของกลุ่มตัวอย่างจะตอบว่า “พี่ตูน” จากการมีคำถามที่เป็น open-ended นั้นมันน้อยมากๆ เพราะคนเรามีความคิดที่หลากหลาย (แต่ผมไม่ได้หมายความว่าพี่ตูนไม่สมควรที่จะได้เป็นคนดีที่สุดของสังคมนะครับ พี่ตูนอาจจะได้เป็นคนดีที่สุดของสังคมในสายตาของคนทั่วไปในคำถามที่เป็น Open-ended ก็ได้อย่างแน่นอน แต่คะแนนที่คิดเป็นร้อยละของพี่ตูนอาจจะไม่ถึง 5% ของคำตอบที่คนตอบทั้งหมดด้วยก็ได้ถ้าเรามีคำตอบที่หลากหลาย)

ซึ่งก็แสดงว่าโพลนี้มีตัวเลือกให้คนเลือกมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว คำถามที่สำคัญคือโพลให้ตัวเลือกกับคนในกลุ่มตัวอย่างกี่ตัว สิบตัวเลือก? ห้าตัวเลือก? หรือเพียงแค่สามตัวเลือก? แล้วโพลให้ตัวเลือก “ไม่เห็นด้วยกับตัวเลือกที่ให้มา” กับคนที่สุ่มมาเป็นกลุ่มตัวอย่างด้วยหรือเปล่า

ถ้าเราดูคะแนนบวกในแต่ละหัวข้อที่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ล่ะก็ เราก็จะสามารถสรุปได้ว่า โพลไม่ได้ให้ตัวเลือกกับกลุ่มตัวอย่างเยอะมาก — อาจจะให้ตัวเลือกเพียงแค่ห้าคนเท่านั้นก็เป็นได้ — เพราะถ้าเรามีตัวเลือกเยอะกว่าห้าตัวล่ะก็ คะแนนบวกของ top 3 ไม่น่าจะใกล้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มขนาดนี้ หรือไม่ก็ โพลไม่ได้ให้ตัวเลือก “ไม่เห็นด้วยกับตัวเลือกที่ให้มา” กับคนในกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งก็เป็นการบังคับให้คนต้องเลือกใครก็ได้สักคนหนึ่ง

และทั้งหมดนี้ผมจึงสามารถทำการสรุปจากตัวเลขที่เห็นว่า โพลนี้ทำขึ้นมาโดยมีความตั้งใจว่าคำตอบจะต้องเป็นคนใดคนหนึ่งที่คนทำโพลได้เลือกมาไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยทางด้าน สถิติไม่ทำกันนะครับ เพราะมันผิดกระบวนการ

อย่างที่ผมว่าเอาไว้ตั้งแต่ต้นนะครับ ผมไม่สนใจในตัวบุคคลที่ถูกเลือกมาให้เป็นบุคคลแห่งปี แต่ผมแคร์ในเรื่องของวิธีการเก็บสถิติ แคร์ในเรื่องของการวิเคราะห์ตัวเลขที่เราเห็นๆกันอยู่ในสื่อมากๆ และผมอยากให้คนไทยเรามีความต้องการที่จะวิเคราะห์และอธิบายตัวเลขสถิติที่เราเห็นในสังคมและที่สื่อเอามาออกกันให้มากขึ้นก่อนที่จะปักใจเชื่อกันนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image