“ครม.” ไฟเขียวยก “ร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” มอบ พม. จัดการรับฟัง-วิเคราะห์ผลกระทบ

แฟ้มภาพ

“ครม.” ไฟเขียวยก “ร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร” มอบ พม. จัดการรับฟัง-วิเคราะห์ผลกระทบ

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายธนกร วังบุญคชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการยกร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของ คณะกรรมการ กฤษฎีกา และมอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับร่าง พ.ร.บ. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย ตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมิน ผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 62 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป

“ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินกิจการที่ให้เป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งมีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ไม่ให้เป็นภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อบและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ฯ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญด้วย” นายธนกรกล่าว

นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะ โปร่งใส และเป็นประโยชน์ ซึ่ง ยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งหลายประเทศก็มีกลไก และกฎกติกา เช่นนี้ ขณะที่รอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้กฏหมายที่มีอยู่ พร้อมขอสนับสนุนจากวิปในการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฯ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

นายธนกร กล่าวว่า สาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….” อาทิ กำหนดบทนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” หมายความว่า คณะบุคคลภาคเอกชน ซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงาน เพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคม โดยไม่มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดำเนินกิจกรรม เป็นการเฉพาะคราว หรือดำเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้ ทั้งนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ต้องอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ. นี้ด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็น ประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและพัฒนาองค์กร ไม่แสวงหากำไร เช่น เสนอแนะต่อ ครม. เรื่องสิทธิประโยชน์ ทางภาษีให้แก่องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุน กำหนดสิทธิประโยชน์ขององค์กรไม่แสวงหากำไรโดยให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนและให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้สนับสนุนองค์กรไม่แสวงหากำไร อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ขณะเดียวกัน กำหนดให้องค์กรฯ ไม่แสวงหากำไร ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น ชื่อ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีการดำเนินการ แหล่งที่มาของเงินทุน และรายชื่อผู้รับผิดชอบ และห้ามไม่ให้ดำเนินงานที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ การดำเนินงานที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม หากได้รับเงินจาก ต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคาร ที่จะรับเงิน จำนวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนำเงิน ไปใช้จ่าย ต่อนายทะเบียน ต้อง รับเงินผ่านบัญชีของ ธนาคาร ที่แจ้งไว้ ต่อนายทะเบียน ต้องใช้เงินเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อ นายทะเบียน และต้องไม่ใช้เงินเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะ การแสวงหาอำนาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทิน และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าว โดยต้องเก็บรักษา บัญชีรายรับรายจ่ายนั้นไว้ให้สามารถตรวจสอบได้เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้งยังกำหนดมาตรการบังคับและโทษ โดย กำหนดให้ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากำไรไม่ดำเนินการ หากฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว อาจถูกสั่งให้หยุด การดำเนินกิจกรรมหรือยุติการดำเนินงานได้ และกำหนดโทษปรับทางอาญาสำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้รับผิดชอบ หากไม่หยุดการดำเนินกิจกรรมหรือยุติ การดำเนินงานหลังจากได้รับคำสั่งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image