ครม.เคาะงบปี’66 แล้ว วงเงิน 3.1 ล้านล้าน งบขาดดุล 6.95 แสนล้าน ลดลงจากปีงบ’65

ครม.ไฟเขียวงบปี’66 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน พร้อมมอบให้สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้าน ศก.-เร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.เห็นชอบกรอบวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ประกอบด้วย ประมาณการรายจ่ายดังต่อไปนี้ รายจ่ายประจำ จำนวน 2,390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 16,990.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.72 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.04 ของวงเงินงบประมาณ, รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 83,066.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.57 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.82 ของวงเงินงบประมาณ, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.14 ของวงเงินงบประมาณ

2.รายได้สุทธิจำนวน 2,490,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75

3.งบประมาณขาดดุล จำนวน 695,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.71 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.89 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

Advertisement

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,185,000 ล้านบาทดังกล่าว เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุน และงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

นอกจากนี้ ครม.ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้

1.ให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและจัดทำข้อเสนอแนะ มาตรการที่ต้องดำเนินการการบริหารความเสี่ยง ทั้งระยะสั้นและระยะปานกลางสำหรับในแต่ละกรณีเป็นการล่วงหน้า

Advertisement

2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของรัฐบาลในประเด็นต่อไปนี้ เช่น การเร่งสร้างรายได้ใหม่ตามมาตรการของรัฐบาล เช่น มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง เข้าสู่ประเทศไทย (LTR) มาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการด้านเทคโนโลยีและธุรกิจเกิดใหม่ (Startup) การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG Mode การติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ โดยหน่วยรับงบประมาณต้องมีการใช้จ่ายให้เป็นไปตาม แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงานและ ต้นทุนโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินมาตรการเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ด้านแรงงาน รวมทั้งการควบคุมอัตรา แลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image