เสวนา ‘ตุลาฯ ทอล์ก’ คึกคัก คนแน่นห้อง หลากความเห็นเดือนตุลาของคนรุ่นใหม่

เมื่อเวลา 16.30 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “6 ตุลาฯ ชาวจุฬาฯ มองอนาคต” เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นายวิกรานต์ จรรยาภรณ์ ประธานกิจกรรม ได้กล่าวเปิดงานว่า สำหรับการจัดงานของนิสิตคณะรัฐศาสตร์ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเองเห็นความสำคัญของเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เป็นแผลที่ใหญ่ในประวัติศาสตร์ เป็นประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยทำเหมือนมันไม่เคยมีอยู่

“เราสร้างกิจกรรมนี้มาเพื่อทำให้คนตระหนักว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และเราจะมองไปในอนาคตได้อย่างไร ซึ่งการจัดกิจกรรมนั้นก็เพื่อกระตุ้นเตือนให้นักศึกษารุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์และการเมืองมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันขนาดไหน สุดท้ายแล้วเราก็เป็นคนเหมือนกัน และต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรงแก่กันและกัน” นายวิกรานต์กล่าว

จากนั้นนายวิกรานต์ได้ยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ราว 1 นาที พร้อมกับมีการกล่าวคำไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว

จากนั้นเป็นงานเสวนา “ตุลาฯ ทอล์ก ตุลาในความหมายของคนรุ่นใหม่” โดยวิทยากรได้แก่ นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม, นายโตมร ศุขปรีชา, นางสาววริษา สุขกำเนิด เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ และนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือจอห์น วิญญู

Advertisement

6 ตุลาฯ ชาวจุฬาฯ มองอนาคต

นางสาววริษากล่าวว่า การศึกษามีผลทำให้การเรียนรู้เรื่อง 6 ตุลาคมน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะในห้องเรียนเราต่างถูกทำให้ต้องเรียนรู้แต่สิ่งที่ดีในอดีต และจดจำมันเพื่อนำไปสอบ แต่ไม่เคยเรียนในสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดในอดีต ทั้งที่การเรียนรู้ว่าเราเคยทำผิดพลาดอะไรไปบ้างเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าสิ่งที่ดีเสียอีก

“สังคมเชื่อว่าเด็กไม่มีเหตุผลและวิจารณญาณมากพอในการพิจารณาในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง และคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จึงอยากให้ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้หันมาให้ความสำคัญกับเยาวชนในประเด็นนี้ดูบ้าง”

Advertisement

นางสาววริษากล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ จะมีการศึกษาเน้นการเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ได้เรียนและท่องจำว่าระบบการเมืองเป็นอย่างไร แต่เป็นการยกประเด็นที่คนให้ความสนใจ เช่น เรื่องผู้อพยพจากซีเรียที่เข้าไปในยุโรป เป็นต้น
“ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่า ในวิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนจะเน้นการท่องจำ แต่ไม่มีการเรียนเพื่อจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ เป็นการเรียนเพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ แต่เป็นการเรียนเพื่อยัดเนื้อหาให้กับเด็กเท่านั้น” นางสาววริษากล่าว

ด้านนายโตมรกล่าวว่า ถ้าเราย้อนกลับไปมอง 6 ตุลา มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่มีข้างความดีความชั่ว ขาวและดำ แต่มันเป็นเรื่องที่ผูกโยงมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จนมาแสดงให้เป็นเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่เกิดจากความเกลียดชังในที่สุด

“ความเกลียดไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยการเผชิญหน้า แต่ความเกลียดชังเกิดจากความไม่พยายามที่จะทำความเข้าใจในเหตุการณ์ที่อยู่ตรงกันข้าม ฉะนั้น มันจะง่ายมากที่เกิดความรุนแรง ด้วยกระบวนการสร้างความเป็นอื่น สร้างให้อัตลักษณ์ของตนเองว่าเป็นความดี ด้วยการนิยามฝ่ายอื่นคือความชั่ว” นายโตมรกล่าว

นายโตมรกล่าวอีกว่า กระบวนการสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อ สื่อในยุคก่อนต้องผ่านกระบวนการทำให้เป็นสถาบันก่อนจึงจะมีคนเชื่อ ในขณะที่สื่อสมัยใหม่ไม่จำเป็นถูกทำให้เป็นสถาบันก็ได้ สื่อสมัยใหม่จึงสร้างความเกลียดได้ง่ายขึ้นมากกว่า 6 ตุลา ที่ต้องใช้เวลาเป็นปีในการสร้างความเกลียดชัง แต่ทุกวันนี้มันเปราะบางกว่านั้น ง่ายกว่า และเร็วกว่า

ขณะที่นายวรรณสิงห์กล่าวว่า ในเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์มีความเป็นคนซ่อนอยู่เสมอ โดยส่วนตัวมีความสนใจมากๆ ว่าอะไรเป็นแรงผลักดันให้เขาต้องออกมาทำตรงนี้ ซึ่งการเข้าไปดูเบื้องหลังความเป็นคนในประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจ และป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกได้

“เราต้องทำความเข้าใจว่า อะไรที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาฆ่าคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยที่ไม่คิดว่านั่นเป็นความผิดได้ ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก” นายวรรณสิงห์กล่าว

นายวรรณสิงห์กล่าวอีกว่า ดังนั้น ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มันจึงมีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจความเป็นคนของแต่ละฝั่งฝ่าย ทั้งฝ่ายนักศึกษา ฝ่ายที่ต้องการอำนาจ หรือเด็กที่ยิ้มในภาพ เพื่อที่เราจะเข้าใจได้ว่าทำไมเหตุการณ์นี้มันถึงเกิดขึ้น

นายสราวุธกล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคือ ขณะที่ยังเป็นนักเรียนอยู่ได้มีโอกาสอ่านสารคดีฉบับพิเศษเกี่ยวกับเหตุการณ์ ความรู้สึกแรกคือ รู้สึกตกใจว่าทำไมถึงมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยที่เราเองไม่เคยรู้มาก่อน

“สิ่งสำคัญคือ บ้านเมืองเราต้องการคำถาม เพราะหากมีเสียงที่ดังอยู่เพียงข้างเดียวโดยที่ไม่มีคำถามใดเลย ถ้าเกิดผิดเราจะผิดกันไปทั้งหมด ดังนั้น เราต้องมีคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่เสมอ” นายสราวุธกล่าว

ด้านนายวิญญูกล่าวว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่เราไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถที่จะพูดได้ แต่คนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถที่จะทำได้ ดังนั้น เราจึงเห็นเหตุการณ์ที่หลายคนต้องอยู่นิ่งๆ และไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ

“บางคนกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะกลัวคนในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ตัวเกลียดชัง อันเฟรนด์ สื่อเองก็ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ และการรับฟังความคิดเห็นนั้นอย่างมีเหตุและผลก็ควรเป็นเรื่องปกติเช่นกัน” นายวิญญูกล่าว

นายวิญญูกล่าวว่า เราต้องสร้างมาตรฐานของสังคมในการแสดงและรับฟังความคิดเห็น ไม่อยากให้เราต้องอยู่ในสังคมที่ต้องมายกย่องว่ามีคนที่กล้าพูดในเรื่องนี้ แต่เราต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิที่จะพูด และแสดงความคิดเห็นได้

ด้านนายเจษฎากล่าวว่า ส่วนตัวเป็นคนที่รักวิทยาศาสตร์ และรักเรื่องราวทางการเมืองไม่แพ้กัน แต่การเรียนหนังสือในแบบเรียนในช่วงเวลาที่ตนได้เรียนนั้น จบแค่ที่เรื่องการเมืองการปกครองเท่านั้น และไม่มีเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลาเลยด้วยซ้ำ

“ส่วนตัวมองว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่สามารถเป็นมรดกใดๆ แก่สังคมได้เลย เพราะตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เรายังไม่สามารถทำให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนแก่สังคมไทยได้ว่าอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเราอาจจะต้องรอไปอีก 40 ปีก็เป็นได้” นายเจษฎากล่าว

นายเจษฎากล่าวอีกว่า อีก 40 ปีข้างหน้าเชื่อว่ามันสามารถเป็นบทเรียนแก่สังคมได้หากถูกถ่ายทอดอย่างถูกต้อง และถ้ามันถูกถ่ายทอดอย่างถูกต้อง เชื่อว่าสังคมไทยจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image