‘ชินวรณ์’ วิเคราะห์การเมืองปี’65 ชี้ ‘บิ๊กตู่’ ไม่โง่ยุบสภาก่อนทำกฎหมายลูกเสร็จ

“ชินวรณ์” วิเคราะห์การเมืองปี’65 ชี้ “บิ๊กตู่” ไม่โง่ยุบสภาก่อนทำกฎหมายลูกเสร็จ เชื่อยังไม่มีเหตุยุบสภา ส่วนปมเถียงนายกฯ 8 ปี แค่ประเด็นการเมือง-คนรู้สึกเบื่อ

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2565 ว่า จากการวิเคราะห์ของนักวิชาการ 10 ประการต่อการเมืองในปี 2565 นั้น ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ ใช้ความรู้สึกส่วนตัวและมีอคติ รวมถึงเป็นการด้อยค่าระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วย ดังนั้นตนจึงขอวิเคราะห์ในฐานะนักการเมืองที่มีประสบการณ์จริงและอยู่ในวงในการเมืองว่า รัฐบาลอยู่ในช่วงแก้วิกฤตของประเทศ ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง ความนิยมจึงขึ้นลงตามสถานการณ์ แต่วันนี้มีผลงานที่คนจับต้องได้ และมีการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนเฉพาะหน้าทุกกลุ่ม ขณะที่นายกรัฐมนตรียังไม่มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ส.ส.มีส่วนทำให้สภาล่ม แต่ประธานรัฐสภาสามารถคุมเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีวาระพิเศษประชุมมากที่สุด ทั้งที่อยู่ในช่วงโรคระบาด

นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า ส่วนการยุบสภาเกิดขึ้นได้ตลอด แต่เป็นอำนาจนายกฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความขัดแย้งในสภา ที่เกี่ยวกับกฎหมายสำคัญ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่นายกฯ ต้องตัดสินใจว่าควรจะคืนอำนาจให้ประชาชนร่วมตัดสินใจโดยผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ และส่วนใหญ่หากมีการยุบสภา นายกฯก็จะไม่มีโอกาสกลับมาอีก ดังนั้นกรณีที่มีการวิเคราะห์ว่าจะยุบสภาตั้งแต่เดือน พ.ค.2565 จึงยังไม่มีข้อมูลสนับสนุน

“ที่สำคัญถ้ายุบสภาก่อนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เสร็จประมาณเดือน ส.ค.2565 จึงเป็นการผูกคอตายทางการเมืองของนายกฯ ซึ่งไม่ใช่ภาววิสัยของผู้ที่เป็นนายกฯ ยกเว้นโง่เท่านั้น สำหรับเรื่องอยู่ครบ 8 ปี เป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่เป็นประเด็นทางวิชาการและหลักกฎหมาย รวมถึงเป็นเรื่องความรู้สึกของประชาชนว่าเบื่อหรือไม่ ความธำรงอยู่ของนายกฯจึงไม่สามารถสร้างกระแสจากเรื่องนี้ได้” นายชินวรณ์กล่าว

นายชินวรณ์กล่าวว่า ส่วนที่มีการวิเคราะห์เรื่องรัฐประหารหรือเรื่องรัฐประหารซ้อนนั้น เป็นความไม่รับผิดชอบของผู้วิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อสายตาชาวโลกและนักลงทุน การรัฐประหารในทางการเมืองไม่ต้องวิเคราะห์ เพราะนักการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่สุจริตไม่มีใครเห็นด้วย เพราะถ้าทำการรัฐประหารไม่สำเร็จ ก็จะเป็นกบฏ หากสำเร็จแต่ประชาชนไม่พึงพอใจ ก็จะกลายเป็นทรราช

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image