รำลึก 6 ตุลาคึกคัก แห่ฟัง ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ หอประชุมธรรมศาสตร์แทบเเตก

เมื่อเวลา 18.15 น. วันที่ 6 ตุลาคม ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ปาฐกถาหัวข้อ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเต็มที่นั่งหอประชุมเล็กธรรมศาสตร์ และนั่งฟังกันจนแน่นพื้นทางเดิน

รำลึก6ตุลา ธรรมศาสตร์

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า “สี่สิบปีที่ผ่านมาไม่เคยมีสักวันที่ไม่เคยคิดถึง 6 ตุลา มีคนเคยบอกว่าเพราะผมมัวแต่หมกมุ่นกับ 6 ตุลา จึงเอาดีไม่ได้ แต่ผมตอบไปว่าเพราะ 6 ตุลาผมจึงเอาดีได้ ผมกล่าวแทนเพื่อนๆที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกันได้ว่าเราทิ้งความโกรธเกลียดไปนานแล้ว ถ้าหมกมุ่นกับการแก้แค้นเราไม่มีทางยืนอยู่ทุกวันนี้หรอก แต่แรงบันดาลใจจาก 6 ตุลายังมีอยู่ ผมไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ได้โดยไม่รุ้สึกจุกในคอ

20ปีก่อน 2539 ผมพบหลายคนบอกว่าดีใจมากที่มีโอกาสพูดกันอย่างเปิดเผยแม้จะไม่เต็มปากเต็มคำว่าเกิดอะไรขึ้น

Advertisement

เขาบอกว่า “ถ้าเราเป็นคอมมิวนิสต์แล้วทำไมล่ะ ไม่มีเหตุผลให้ต้องฆ่าฟันกันขนาดนั้นเลย”

การรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาที่คนถากถางว่าเป็นวันเช็งเม้ง ผมเห็นว่าสังคมไทยควรทำให้มากขึ้น เป็นการมาให้คำมั่นสัญญา บอกกับตัวเองว่าเราต้องการรักษาแรงบันดาลใจนั้นให้อยู่กับเราต่อไป

ความทรงจำเกี่ยวกับ 6 ตุลาของผมและคนอื่นๆไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

Advertisement

ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธว่าเราเป็นซ้าย เราต้องการสังคมนิยม แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นสังคมนิยมของเด็กอายุ 20
วันนี้มี2ลักษณะที่สังคมไทยจดจำ 6 ตุลา คือความโหดร้ายและความเงียบ

นับแต่20ปีหลัง 6 ตุลาก็ไม่เงียบต่อไป มีการพูดถึงมากถึงความโหดเหี้ยม ความรับรู้เช่นนี้มีคุณต่อสังคมไทย แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่สามารถพูดถึง 6 ตุลาเลยไปกว่าความรับรู้เช่นนี้ 6 ตุลาเป็นได้เพียงเสียงแผ่วๆเตือนสังคมไทยว่ายังมีเรื่องอีกมากที่ต้องสะสาง

ภาวะลืมไม่ได้จำไม่ลง กึ่งเงียบกึ่งออกเสียงดัง เราพูดได้อย่างมีขีดจำกัด “โหดร้าย-อย่าให้เกิดขึ้นอีก” มากกว่านี้ห้ามพูด

ถามว่าสะท้อนถึงรัฐและวัฒนธรรมไทยอย่างไรบ้าง

ความโหดร้ายบอกถึงระดับความสามารถและวุฒิภาวะของสังคมไทยในการจัดการความขัดแย้งของสังคมการเมืองโดยเฉพาะระหว่างรัฐกับประชาชน การอุ้ม สูญหาย ใช้กฎหมายผิดๆกับประชาชนจึงยังเกิดขึ้นในวันนี้
ความสามารถจำกัดในการจัดการความขัดแย้งยังรวมถึงประชาชนด้วยกันเอง รายการต่อจากนี้เป็นการแสดงของวงคาราวานเป็นการแสดงว่าเรามีวุฒิภาวะจัดการกับผู้เห็นต่างได้ดีหรือเลวขนาดไหน เพื่อนฝูงของผมคิดต่างกับผมมากในสิบปีให้หลัง

เราควรมีวิธีจัดการความอึดอัดคับข้องใจอย่างมีอารยะ มีวุฒิภาวะ

ความเงียบบอกถึงวัฒนธรรมของสังคมไทยในการรับมือกับความผิดพลาด เราชินกับการยิ้มแย้มแจ่มใสแบบไทยสไมล์โดยหมกและเก็บความผิดพลาดไว้ 6 ตุลาเป็นช้างตัวเบ้อเริ่มที่ซุกไว้ใต้พรมและทำเป็นมองไม่เห็น

ความโหดร้ายอาจไม่ใช่ทางกายภาพแต่เสียดแทงที่สุดคือเสียงหัวเราะถากถางจากสถานีวิทยุยานเกราะและเสียงหัวเราะของผู้คนที่ยืนดูการแขวนคอ

วัฒนธรรมไทยเห็นผู้อื่นเป็นคนมากน้อยตามสถานะเป็นชั้นๆ ชั้นต่ำที่สุดคือศัตรู ไม่เหลือความเป็นคนอยู่เลย เรามองไม่เห็นว่าพวกนั้นเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเราเพราะไม่เหลือความเป็นมนุษย์อยู่เลย เป็นปีศาจ อสูรกาย เป็นญวน

“ความเงียบสะท้อนอภิสิทธิ์ปลอดความผิดซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย”

นิติรัฐและนิติธรรมไทยแบบไทยๆไม่เคยอยู่บนแนวคิดที่เชื่อว่าคนเสมอภาคกันเลย แม้จะมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทางวัฒนธรรมไม่เคยเห็นคนเสมอภาคกัน

นิติรัฐแบบไทยยังเป็นนิติรัฐแบบอุปถัมภ์

ถ้าคุณมีสถานะสูงมีอำนาจพอคุณจะสามารถอภิสิทธิ์ปลอดความผิดได้

ถ้าไม่มีอภิสิทธิ์ปลอดความผิดรัฐชาติไทยก็จะไม่เป็นอย่างในปัจจุบัน

ความโหดร้ายหลายครั้งที่ทำต่อ 6 ตุลาสะท้อนอำมหิตอย่างเหลือเชื่อว่ามนุษย์ในภาวะปกติจะกระทำต่อกันได้ขนาดนั้น

“ศัตรูไม่ใช่คน แต่เป็นอมนุษย์” การสังหารด้วยอาวุธปืนจึงไม่พอ มีภาพการตอกอกที่เขาอาจเห็นภาพจากหนังฝรั่งในการฆ่าซาตาน จึงต้องตอกอก แขวนคอ ลากร่างไร้ชีวิตประจานไปทั่ว เผามันซะ ฉี่รดมันซะ

การกระทำอุจาดต่อร่างผู้เสียชีวิตที่เราเห็นแสดงว่าพวกเราเป็นอมนุษย์ สมควรโดนความโหดเหี้ยมชั้นสองนอกเหนือจากอาวุธปืน ซ้ำเติมด้วยความโหดเหี้ยมชั้นสามด้วยเสียงหัวเราะ

ความโหดเหี้ยมนี้เกิดขึ้นกับคนเผาบ้านเผาเมืองไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต่อให้เขาเผาบ้านเมืองจริงไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อสร้างความเกลียดชังเขาก็ไม่ควรถูกฆ่า

การกระทำเหล่านั้นนอกจากเป็นจากทำลายความเป็นมนุษย์ของเหยื่อแล้วยังเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของตัวเองไปพร้อมๆกัน

เกือบ 40 ปีเราเพิ่งพบว่าคนถูกแขวนคอไม่ได้มีแค่สองคน พบว่ามีสี่คนหรืออาจจะห้าคน ที่สำคัญคือมีสองคนที่เราไม่รู้ว่าชื่ออะไร ศพของเขาอยู่ที่ไหน

ทำไมเราจึงควรรู้จักผู้ถูกทำร้ายทุกคน ไม่ใช่ว่ารายละเอียดของเขาจะทำให้การวิเคราะห์การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่พวกเขาถูกย่ำยีขนาดนั้น ถูกพรากความเป็นมนุษย์ การแสดงความเคารพต่อคนเหล่านั้นอย่างดีที่สุด ให้เกียรติเขามากที่สุด สมเกียรติที่สุด มีคุณค่าที่สุด คือ การคืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขา

การคืนความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่งคือการคืนความยุติธรรมให้เขา ต่อสู้ให้อภิสิทธิ์ปลอดความผิดหมดไปเสียที แต่เป็นเรื่องยากกินเวลานาน เราต้องทำให้สังคมรู้จักความเคารพไม่ให้เกิดขึ้นอีก วิธีที่ดีที่สุดจึงควรคืนความเป็นมนุษย์ให้พวกเขาทีละคน ธรรมดาที่สุดเมื่อเราต้องการให้คนเคารพตัวเรา เรามีชื่อ มีสกุล พ่อแม่พี่น้อง มีหน้ามีตา

เราได้เริ่มต้นทำแหล่งสืบค้นข้อมูล 6 ตุลา จะทำตามกำลังทรัพย์ ปีแรกทำได้เพียงภารกิจแรกคือ 1.รวมข้อมูลผู้เสียชีวิต จากนั้นจึงมีเป้าหมายต่อไป 2.รวมบทความเอกสารที่เกี่ยวข้อง 3.นำข้อมูลขึ้นเว็บไซต์ 4.ให้ทุนแก่นักศึกษาที่ศึกษาเรื่อง 6 ตุลา”

หลังการปาฐกถา ผู้ชมลุกขึ้นยืนและปรบมือให้ อ.ธงชัย วินิจจะกูล อย่างยาวนาน

รำลึก6ตุลา ธรรมศาสตร์

รำลึก6ตุลา ธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image