โวยร่างพ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ ทำประเทศเป็นเผด็จการรวมศูนย์ ภาคประชาชนโดนกีดกัน

โวยร่างพ.ร.บ.คุมเอ็นจีโอ ทำประเทศเป็นเผด็จการรวมศูนย์ ภาคประชาชนโดนกีดกัน ยันไม่จำเป็น ไม่คุ้มค่า นิยามกำกวม

กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นำไปรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย นั้น

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นักวิชาการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้เพราะไม่จำเป็นและไม่คุ้มค่า เนื่องจากตามกฎหมายมาตรา 77 กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น ซึ่งกฎหมายเดิมนั้นสามารถใช้รองรับการทำงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรได้อยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบน้อยลงและเพิ่มความมั่นคงของรัฐเพื่อกีดกันคนเห็นต่างเท่านั้น ทั้งอาจต้องเสียงบประมาณเพิ่มในการสร้างหน่วยงานหรือองค์กรเพื่อมาตรวจสอบ ทำให้เสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น

การออกกฎหมายควบคุมเช่นนี้เป็นการออกกฎหมายโดยรัฐบาลเผด็จการ อีกทั้งร่างกฎหมายฉบับนี้ มีนิยามกฎหมายที่มีความกำกวมและมีความหมายกว้าง เช่น คำจำกัดความของคำว่า “คณะบุคคลที่รวมกลุ่มกัน” ไม่สามารถระบุได้ว่าต้องมีกี่คนถึงสามารถเรียกคณะบุคคลได้ หรือคำจำกัดความของคำว่า “เฉพาะคราว” ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นระยะเวลาเท่าไร เป็นต้น

Advertisement

“คำว่าองค์กรไม่แสวงหากำไร หรือ เอ็นจีโอ คือองค์กรที่ประชาชนรวมกลุ่มกันทำงานให้กับสังคมโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนหรือการรวมตัวของจิตอาสาทั้งหลายที่จะต้องทำประโยชน์ให้สังคมดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลากหลายกลุ่มที่มีพัฒนาการ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถทำงานในการดูแลได้ครอบคลุมทุกเรื่อง และมีข้อจำกัดมากมาย ทำให้ประชาชนที่เห็นปัญหารวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งกฎหมายรูปแบบนี้ควรใช้กับการควบคุมองค์กรที่แสวงหาผลกำไร แต่กลับถูกใช้กับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

และนัยทางร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการไม่สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อทำงานให้กับสังคม แม้จะสนับสนุนก็ต้องถูกควบคุม ซึ่งเป็นปัญหาเพราะผู้คนมีหลากหลายความคิด หน้าที่ของรัฐบาลคือต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมและไม่ขัดแย้งกับกฎหมาย

นางสาวลัดดาวัลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบต่อภาคประชาชนอาจถูกกีดกันในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือการบริหารของรัฐ เพราะหากประชาชนต้องการเรียกร้องผลกระทบเหล่านั้นอาจถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง เช่น การเรียกร้องของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เป็นต้น

Advertisement

“เดิมทีเอ็นจีโอสามารถดำรงอยู่ได้จากการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การบริจาค หรือจิตอาสาของคณะบุคคลที่รวมกลุ่มกัน องค์กรที่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิหรือสมาคมในปัจจุบันส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนและผ่านการตรวจสอบความโปร่งใสตามหลักธรรมาธิบาล และมีระบบการบริหารกิจการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

และองค์กรที่จดทะเบียนจะมีการส่งรายงานให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ตรวจสอบอยู่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่ไม่จำเป็น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีสาระสำคัญสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญก่อนตั้งแต่ฉบับ 2540 เช่น การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน หน้าที่พลเมือง การตรวจสอบรัฐบาล ซึ่ง NGO เป็นภาคประชาชนมีหน้าที่ในการตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล แต่การออกกฎหมายฉบับนี้เป็นการควบคุมไม่ให้ประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบและ ถ่วงดุล ทำให้ประเทศยิ่งกลายเป็นเผด็จการรวมศูนย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image