สกู๊ปหน้า 1 : ย้อนเหตุ‘หมูแพง’ ‘พณ.-เกษตร’ เร่งแก้

สกู๊ปหน้า 1 : ย้อนเหตุ ‘หมูแพง’ ‘พณ.-เกษตร’ เร่งแก้

ระเบิดเวลาเนื้อหมูแพง ไม่เกินคาดการณ์ของผู้เลี้ยงสุกรที่ส่งสัญญาณเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยสะท้อนให้เห็นถึงปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นฉับพลันกับการระบาดของโรคในสุกร ไม่ว่าจะโรคเพิร์ส (PRRS) แสดงอาการทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ ถือเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว อีกทั้งเจอการโจมตีของโรคอหิวาต์แอฟริกา ในหมู (ASF) เเละโรคปากและเท้าเปื่อยที่ไล่ระบาดมาตั้งแต่ในจีน เข้าเวียดนาม ไปลาว กัมพูชา เมียนมา ซึ่งถูกต้้งข้อสังเกตว่าแล้วในประเทศไทยจะรอดหรือ

จากการที่โรคระบาดต่างๆ สะสมมาตลอดตั้งแต่ปี 2561 และทางการยังไม่สามารถดูแลให้การระบาดหมดลง 100% ประกอบกับปัญหาขาดวัคซีนป้องกันโรคระบาด ผสมกับเมื่อฟาร์มหรือพื้นที่เลี้ยงสุกรที่ใดเจอโรคระบาดก็จะใช้วิธีให้ทำลายทิ้งยกฟาร์มสอดรับกับช่วงเวลาต่อมาปลายปี 2562 เริ่มเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบาดในคน เมื่อรุนแรงขึ้นรัฐบาลก็ใช้วิธีล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมต่างๆ การใช้ชีวิตประจำวัน การท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทยหรือต่างชาติมาเที่ยวไทย หยุดชะงักทันทีในปี 2563-2564 แม้ผลผลิตเนื้อหมูออกสู่ตลาดจะลดลงๆ ขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคหดหายไป

ดังนั้น ในช่วงดังกล่าว แม้ปริมาณสุกรและเนื้อหมูชำแหละออกสู่ตลาดลดลง แต่ขณะนั้นกำลังซื้อก็ซบเซา ทำให้ปริมาณเนื้อหมูกับความต้องการบริโภคใกล้เคียงกัน ทำให้ราคาไม่ได้ขยับ ซึ่งเป็นตามกลไกตลาด

ตรงกันข้ามกับผู้เลี้ยงที่เจอทั้งโรคระบาดต้องทำลายทิ้ง ต้นทุนอาหารและค่าจัดการแพงขึ้น สวนทางรายได้ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะสุกรมีชีวิตเป็นสินค้ากึ่งควบคุมราคา นานวันเข้าเลยกลายเป็นภาระหนักผู้เลี้ยงรายใหญ่และรายกลางที่มีสายป่านยาวก็พอประคองตัวอยู่ได้ แต่เกษตรกรรายย่อยสายป่านไม่ยาวพอ จึงชอร์ตและหนี้สินท่วม ต้องลดการเลี้ยง
สุดท้ายกว่า 50% ต้องยกธงขาว เลิกเลี้ยงหมู

Advertisement

จากที่เคยมีผู้เลี้ยง 1.9-2 แสนรายเหลือแค่ 7-8 หมื่นราย ขณะที่ผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่จะเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสุกรทั้งหมด แต่ผลผลิตออกสู่ตลาดได้ 50-60% ต่อมาเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลคลายล็อกและเปิดประเทศ ทำให้ความต้องการหมูมีมากขึ้นแต่ปริมาณการผลิตลดน้อยลง จึงเกิดจุดเดือดทันที

ตามข้อมูลกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ผลผลิตสุกรจาก 22.53 ล้านตัวในปี 2562 เหลือ 19.27 ล้านตัวในปี 2564 และคาดเหลือ 12.98 ล้านตัว ในปี 2565 ในจำนวนนี้แยกเป็นใช้ในประเทศ จาก 21.55 ล้านตัวปี 2562 เหลือ 17.99 ล้านตัว ในปี 2564 คาดเหลือ 11.98 ล้านตัวในปี 2565 ส่งออก 0.98 ล้านตัวในปี 2562 ขยับเป็น 1.28 ล้านตัวในปี 2564 และคาดว่าจะเป็น 1 ล้านตัวในปี 2565

ส่วนต้นทุนการผลิตจาก 66-67 บาท/กก.ในปี 2562 เพิ่มเป็น 78-79 บาท/กก.ในปี 2564 และปี 2565 เกษตรกรระบุพุ่งเกิน 80-82 บาท/กก.แล้ว จึงมีผลต่อราคาสุกรมีชีวิตขยับจาก 68.77 บาท/กก. เป็น 96-100 บาท/กก. และคาดว่าจะพุ่งไปถึง 102-108 บาท/กก.ในปี 2565 ขณะที่ราคาขายปลีกเนื้อแดง จากปี 2562 อยู่ที่ 145-146 บาท/กก. เป็น 160-180 บาท/กก. ต้นปี 2565 อยู่ที่ 180-200 บาท/กก. หากเป็นเขียงเล็กอยู่ที่ 190-220 บาท/กก.

Advertisement

ดังนั้น ตามกลไกตลาดเมื่อผลผลิตมีน้อยแต่ความต้องการเพิ่มขึ้นราคาก็จะแพงขึ้น ราคาเนื้อหมูจากที่ทรงมานานอยู่ที่ 130-140 บาท/กก. จึงพุ่งพรวดทันทีไปแตะที่ 180-220 บาท และมีโอกาสขยับอีก 2-3 วันพระ ก่อนเข้าเทศกาลตรุษจีนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ประเมินกันว่า จะได้เห็นเนื้อหมูไหว้เจ้าราคา 300-330 บาท/กก.

ที่หมูราคาแพงไม่กระทบแค่ผู้เลี้ยงและผู้บริโภค แต่ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบอาหารปรุงสำเร็จ ทำให้เมนูอาหารต่างๆ ที่มีเนื้อหมูเป็นหลักต้องแพงขึ้นตามไปด้วย ประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขด่วน

ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเรียกประชุมหารือกันแบบวันต่อวัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลด้านปริมาณการเลี้ยงและการออกสู่ตลาด โดย “ประภัตร โพธสุธน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้อนต้นเหตุหมูแพงว่า เกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมการระบาด ประกอบกับก่อนหน้านี้สถานการณ์โควิดทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรลดลง

แต่เมื่อรัฐบาลยับยั้งการระบาดของโรคในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศปรับราคาสูงขึ้น
แต่เมื่อราคาหมูในประเทศแพงขึ้นเนื่องจากรายย่อยเลิกเลี้ยงจำนวนมาก ดังนั้น จะส่งเสริมเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเดิมที่เลิกเลี้ยงไปก่อนหน้านี้กลับมาเลี้ยงอีกครั้ง โดยขอให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ผลิตลูกหมูเพิ่ม ป้อนให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อยเลี้ยง

อีกทั้งขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร อีกทั้งเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ และส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ประเทศไทยมีความต้องการ ถึง 8 ล้านตันต่อปี แต่มีกำลังการผลิตเพียง 4 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และมีความเสี่ยงจากโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ในการผลักดันปศุสัตว์ Sandbox หรือเขตพื้นที่ควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต และส่งออกสินค้าปศุสัตว์เป็นวาระเร่งด่วน “ประภัตร” กล่าวอย่างมั่นใจว่า ภายใน 4 เดือนจำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศใช้มาตรการห้ามส่งออกสุกรมีชีวิต 3 เดือน ตั้งแต่ 6 มกราคมถึง 5 เมษายน จะทำให้หมูมีชีวิตกลับเข้าสู่ระบบการขายในประเทศเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว

พร้อมกันนี้ออกมาตรการคู่ขนานเพื่อป้องกันการกักตุน โดยให้ผู้เลี้ยงที่เลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีเกิน 500 ตัว และห้องเย็นเก็บสต๊อกเกิน 5,000 กิโลกรัมขึ้นไปต้องแจ้งสต๊อกและราคาต่อกรมการค้า ภายในทุก 7 วัน เริ่มวันพระแรก 10 มกราคม เพื่อเช็กปริมาณหมูทั้งหมดที่อยู่ในระบบทั้งหมูแช่แข็งแช่เย็น

“อีกทั้งเข้มงวดให้แผงหมูเขียงปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายและห้ามขายเกินราคาป้าย หากพบกระทำผิดจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมขอความร่วมมือตรึงราคาหมูเป็นที่หน้าฟาร์มที่ 80 บาท/กก. จะทำราคาหมูเนื้อแดงบนเขียงหมูไม่ควรเกิน กก.ละ 160-170 บาท” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ แจงมาตรการที่จะช่วยดึงราคาหมูลงมา
เมื่อสำรวจความเห็นจากผู้เลี้ยงสุกรถึงมาตรการของภาครัฐ พบว่าเสียงสะท้อนเหมือนกันคือ เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น การห้ามส่งออกหมู ปกติไม่เกิน 5% ของจำนวนทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นหมูปรุงสุกอีกทั้งมีเพียงรายใหญ่ไม่เกิน 10 ราย
ที่ส่งออก ขณะที่ประเทศต่างๆ ก็มีฟาร์มเลี้ยงและโรงงานแปรรูป ทั้งจีน เวียดนาม หรือสหรัฐ ไทยไม่ส่งออกหมู เขาก็
ไม่เดือดร้อนเพราะมีหมูในประเทศนั้นๆ ป้อน แถมต้นทุนถูกกว่าไทย

แต่ผู้เลี้ยงหมูเห็นด้วยว่าควรลดภาระหนี้และหาเงินเสริมสภาพคล่องให้ผู้เลี้ยง รายย่อยใหม่อีกครั้ง อีกทั้งควรทำข้อมูลควบคุมปริมาณเลี้ยงให้สอดคล้องกับการบริโภคและส่งออกอย่างยั่งยืน

“อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมรายย่อยเลี้ยงหมูนั้น กว่าแม่หมูจะคลอดใช้เวลา 3 เดือน และเลี้ยงจนโตอีก 6 เดือนกว่าจะชำแหละได้ ดังนั้น ที่ว่าอีก 3-4 เดือนคลี่คลายก็คงไม่ง่ายนัก” ผู้เลี้ยงหมูรายหนึ่งให้ความเห็น

ต้องรอดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ในเร็วๆ นี้จะมีมาตรการอะไร
เพิ่มเติม แต่แว่วๆ ว่าจะมีการพิจารณา ข้อเสนอให้ “นำเข้าหมู” แต่นั่นจะเป็นการหยิกเล็บเจ็บเนื้อ แม้จะช่วยให้ราคาหมูในประเทศลดลงทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่จะซ้ำเติมผู้เลี้ยงให้เดือดร้อนหนักขึ้น และจะกระทบต่อเนื่องในระยะยาว

ดังนั้น การแก้หมูแพงต้องรักษาสมดุลให้ดี ระหว่างผู้บริโภคที่ไม่ให้เดือดร้อนเกินไปกับผู้เลี้ยงที่ยังอยู่ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ที่จะแก้หมูแพง เพราะกลายเป็นสินค้าการเมืองไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image