วิเคราะห์หน้า 3 : เลือกตั้งซ่อม สั่นสะเทือน บิ๊กตู่ เขย่าแผน อยู่ยาว

วิเคราะห์หน้า 3 : เลือกตั้งซ่อม สั่นสะเทือน บิ๊กตู่ เขย่าแผน อยู่ยาว

เลือกตั้งซ่อม

สั่นสะเทือน บิ๊กตู่

เขย่าแผน อยู่ยาว

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในขณะนี้มีด้วยกัน 3 เขต หนึ่ง เลือกตั้งซ่อม ส.ส.สงขลา เขต 6 สอง เลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และสาม เลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9

Advertisement

การเปิดรับสมัครเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสงขลา และชุมพร ดำเนินการไปจนเสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

มีกำหนดหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 16 มกราคม

สำหรับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 นั้นเพิ่งเปิดรับสมัคร เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

Advertisement

มีผู้สนใจลงชิงชัยกันอย่างคึกคัก วันแรกสมัครไปแล้ว 8 พรรค ทุกคนมีโอกาสได้จับสลากเลือกหมายเลข

ประกอบด้วย นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี หมายเลข 1 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า หมายเลข 2 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 นางกุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ หมายเลข 4

นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮัม พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 5 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 7 และ นายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน หมายเลข 8

กำหนดการหย่อนบัตร 30 มกราคม

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ช่วงเวลานี้ได้ส่งสัญญาณทางการเมืองให้ปรากฏมาตั้งแต่ปลายปี

ประการแรก การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่จังหวัดสงขลา และชุมพรนั้น เป็นการเลือกตั้งซ่อมแทน ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีทีท่าว่าจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งลงแข่งขัน

ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาทักท้วงเรื่องมารยาท และบ่งบอกเหตุผลที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรส่งคนแข่งขันชิงชัยกันเอง

แม้ในครั้งแรกพรรคพลังประชารัฐจะตัดสินใจส่งผู้สมัครแค่ เขต 6 สงขลา แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ คือ ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในเขต 1 ชุมพร ด้วย

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครลงชิงชัยในการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. ที่เป็นการเลือกตั้งแทน ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ

ทุกสายตาจับจ้องผลการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าจะมีนัยสำคัญทางการเมือง

ประการที่สอง การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐได้มอบหน้าที่ให้แกนนำของพรรคลงไปดูแลพื้นที่

มอบให้ นายสุชาติ ชมกลิ่น ดูแลการเลือกตั้งซ่อม ที่จังหวัดสงขลา

มอบให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ดูแลการเลือกตั้งซ่อม ที่จังหวัดชุมพร

พร้อมกันนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังประกาศชัดเจนว่า “ต้องชนะทุกเขต”

น่าสังเกตว่า คราครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐไม่ออกหน้าคุมศึก แต่เปิดทางให้นายสุชาติ และนายสันติ ไปแสดงฝีมือ

กระทั่งเกิดเป็นกระแสข่าวว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เป็นการทดสอบฝีมือของนายสุชาติ และนายสันติ ในการคุมเลือกตั้ง

หากสามารถคว้าชัยชนะมาได้ ย่อมเพิ่มเครดิตภายในพรรค

แต่ถ้าสู้ไม่ไหว ย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน

ประการที่สาม การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ยังมีกลิ่นอายการต่อสู้ของ 2 ขั้วการเมืองในสภา

ขั้วพรรครัฐบาล และขั้วพรรคฝ่ายค้าน

แม้การลงประชันกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ จะมีโอกาสตัดคะแนนกันเอง แต่หากในพื้นที่ดังกล่าวพรรครัฐบาลพ่ายแพ้ให้แก่พรรคก้าวไกล ย่อมหมายถึงความนิยมของรัฐบาลด้วย

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 แม้พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ลงแข่งขัน และพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคเพื่อไทย ส่งผู้สมัครลงชิงชัย

หากพื้นที่นี้พรรคฝ่ายค้านคว้าชัย ย่อมหมายถึงความนิยมของพรรครัฐบาลที่ถดถอย

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ต่างต้องการหยั่งคะแนนนิยมของพรรคในเมืองกรุง

ดังนั้น ผลการเลือกตั้งซ่อมจึงมีผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและฝ่ายค้าน

การชิงชัยในทุกพื้นที่ส่อเดือด

สัญญาณแข่งกันดุเดือดฉายภาพให้เห็นจากการปรากฏตัวของ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาเปิดโปงพร้อมทั้งตั้งข้อสงสัย

นายราเมศระบุว่า มีทหาร 100 นายเข้าพื้นที่จังหวัดชุมพร เกรงว่าจะใช้อำนาจเข้ามาเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งซ่อม

คำแถลงได้ร้องเรียนไปถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ให้ตรวจสอบ

ผลการตรวจสอบเบื้องต้น กองทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่าไม่มีกำลังพลไปทำเช่นนั้น

แต่ภายหลังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับ “เสธ. ต.” ซึ่งเป็นทหารนอกพื้นที่ และเชื่อว่าขณะนี้ทุกฝ่ายทราบความจริงกันแล้ว

ขณะเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประวิตร ในช่วงท้ายๆ ของการเลือกตั้งซ่อม

เมื่อ พล.อ.ประวิตร มีกำหนดตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชุมพรและสงขลา

ลงพื้นที่ชุมพรวันที่ 7 มกราคม และบินไปสงขลาวันที่ 10 มกราคม

แม้จะเป็นการเดินทางไปตรวจงาน แต่ระยะเวลาและพื้นที่ที่ไปตรวจเยี่ยม ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่

เกี่ยวข้องกับการหย่อนบัตร วันที่ 16 มกราคม หรือเปล่า

การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย เพราะมีแนวโน้มว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ อาจมองหน้ากันไม่ติดหลังมีผลการเลือกตั้งออกมา

ขณะเดียวกันก็ว่ากันว่าผลจากการเลือกตั้งซ่อมอาจมีผลต่อการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

หนึ่ง มีผลต่อการตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ สอง มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา

หากผลการเลือกตั้งออกมาว่ารัฐบาลได้รับความนิยมน้อยลงมาก คือ แพ้การเลือกตั้ง โอกาสที่รัฐบาลจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่จึงแทบจะไม่มี

เช่นเดียวกัน การจะอนุญาตให้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ก็จะยากขึ้น ซึ่งอาจจะใช้วิธีไฟเขียวให้เลือกตั้งนายกเมืองพัทยาไปก่อน เพื่อลดแรงกดดัน

ยิ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน โทนี่ วู้ดซัม ออกมาเปิดใจ ประกาศจะกลับไทยในปี 2565 ยิ่งทำให้กลุ่มต่อต้าน ทักษิณ ชินวัตร ต้องเกาะกลุ่มคุมอำนาจไว้ให้นานที่สุด

บางทีทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และการเลือกตั้งทั่วไป อาจจะต้องยืดไปจนถึงที่สุด

ถ้าเป็นเช่นนั้น ต้องหันกลับมาดูสถานการณ์โรคระบาด และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

หากทุกอย่างยังเป็นปกติสุข ทุกอย่างอาจเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการ

แต่ถ้าไม่ ทุกอย่างก็พร้อมเปลี่ยนแปลง

แผนอยู่ยาวที่วางไว้ อาจได้รับผลกระทบจากการสั่นสะเทือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image