ขรรค์ชัย บุนปาน ‘จะเหยียบคันเร่งให้มิด’ บนถนนหมายเลข 45

‘ฟ้าแล่บแปล๊บเดียว’

คือชื่อหนังสือรวมบทกวีระหว่างปี 2507-2512 ของบัณฑิตคณะโบราณคดีคนหนึ่งที่อยากเดินทางบนถนนสาย ‘หนังสือพิมพ์’

จากนักข่าวเงินเดือน 1,000 บาท สู่การก่อตั้งหนังสือพิมพ์คุณภาพเพื่อคุณภาพของประเทศ

ขรรค์ชัย บุนปาน คือเด็กหนุ่มในวันนั้น และประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในวันนี้

Advertisement

จากวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2521 ซึ่งหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับปฐมฤกษ์วางแผง จนถึงฉบับวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565

ฟ้าแล่บเพียงแปล๊บเดียว ก็ก้าวสู่ปีที่ 45 ราวกับกะพริบตาเพียงไม่กี่ครั้ง

หากเปรียบมติชนเป็นบทกวี ย่อมร้อยเรียงด้วยฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ลึกซึ้งในอุดมการณ์ ไม่หวั่นไหว บันทึกทุกเหตุการณ์สำคัญผ่านตัวอักษร ผนึกแน่นบนหน้ากระดาษ กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการสื่อ

Advertisement

นิราศจากโรงพิมพ์พิฆเณศ ย่านแพร่ง สรรพศาสตร์ สู่ตึกแถวหน้าวัดราชบพิธ และอาณาจักรประชาชื่น

จากยุคกระดาษเฟื่องฟู สู่หน้าจอสมาร์ทโฟน จากยุคสื่อเก่า สู่ยุคสื่อใหม่ที่มีโลกออนไลน์เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ

ก้าวผ่านวิกฤตนานัปการอย่างภาคภูมิ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ด้วยจุดยืนที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน คือ “เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่”

พ.ศ.2532 มติชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในปีเดียวกันนั้น ขรรค์ชัยมีอายุได้
45 ปี เป็นตัวเลขเดียวกับอายุก้าวย่างของมติชนในวันนี้

จากช่วงชีวิตที่มี “นามปากกา” มากกว่า 10 เมื่อครั้งมติชนวางแผงใหม่ๆ สู่การเติบใหญ่อย่างมั่นคง

“สมัยก่อน เขียนข่าว เขียนบทความวันละ 11 ชิ้น ทุกคนงานหนักหมด ช่วงออกมติชนใหม่ๆ เปิดหนังสือพิมพ์มา เอ๊ะ! นั่นก็เขียนเอง นี่ก็เขียนเอง (หัวเราะ)”

ตัดฉากมาในวินาทีนี้ หัวเรือใหญ่ค่ายประชาชื่น ยืนยัน ปีที่ 45 ไม่ใช่แค่ “ไปต่อ” แต่พร้อมเหยียบคันเร่งให้มิด

“ข่าวต้องรวดเร็ว ผิดพลาดให้น้อยที่สุด หรือไม่ผิดพลาดเลย ทำงานให้หนักเหมือนเดิม อะไรที่เหยียบคันเร่งไปในส่วนที่ดีของส่วนรวมได้ ก็จะเหยียบคันเร่งให้จมมิดไปเลย”

ขรรค์ชัย ในวัยย่างเข้าสู่ 78 ปีกล่าวด้วยท่วงท่ามุ่งมั่น กระฉับกระเฉง น้ำเสียงสดใส พร้อมร่ายกวีบทต่อไปของมติชนบนถนนหมายเลข 45

⦁ขรรค์ชัยตอนอายุ 45 ขณะนำ ‘มติชน’ เข้าตลาดหลักทรัพย์ กับ ชีวิตและจิตวิญญาณของมติชนที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 45 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ตอนนั้นกำลังมันส์ กำลังทำงานได้อย่างแคล่วคล่องว่องไวกว่าตอนอายุ 54 (หัวเราะ) สังขารมันยุติธรรม เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี 2532 เริ่มปักหลักก่อร่างสร้างตัว อายุ 45 พอดี เพราะเกิดปี 2487 สำหรับมติชนปีที่ 45 ก็คือผู้ใหญ่ที่คิดว่าโลกนี้มีเด็กและโลกนี้ก็มีคนที่สูงวัยกว่า ให้โอกาสคนที่เด็กกว่า เคารพผู้อาวุโสกว่า และยังพร้อมเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของคนและตลาดมากขึ้น อยู่กับความจริงมากขึ้น ไม่หลอกตัวเอง ทำอะไรที่มันสอดคล้องกับประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และประหยัดให้มากที่สุด ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เพราะของจะแพงขึ้น เงินฝืด คนไม่มีตังค์ โลกก็เปลี่ยนไป

⦁ตลอด 44 ปีเต็มของมติชนถูก ‘ดิสรัปต์’ ครั้งใหญ่หลายรอบทั้งจากหนังสือพิมพ์กระดาษที่ต้องเดินหน้าสู่ออนไลน์ จนถึงวิกฤตโควิดหลายระลอก การเดินทางต่อไปในปีที่ 45 มีแนวนโยบายอย่างไร

มติชนถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งตลอดมา เพิ่งขาดทุนระยะหลังที่มีความเปลี่ยนแปลง แล้วก็พลิกกลับมากำไรอีกในช่วง 2 ปีครึ่งมานี้ เพราะมีการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ เมื่อหนังสือพิมพ์กระดาษเรียวลง ต้องยอมรับ แล้วปรับเปลี่ยนตัวเอง ขนาดเรารู้ตัวก่อน ทำออนไลน์ก่อน ยังเหนื่อยเลย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอด แต่สิ่งที่สำคัญคือ เนื้อหาและความซื่อสัตย์กับวิชาชีพ ข่าวต้องรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็ต้องผิดพลาดให้น้อยที่สุด หรือไม่ผิดพลาดเลย คนจะได้เชื่อถือ ทำงานให้หนักเหมือนเดิม อะไรที่เหยียบคันเร่งไปในส่วนที่ดีของส่วนรวมได้ ก็จะเหยียบคันเร่งให้จมมิดไปเลย ไม่คอย เพราะเวลาที่ดีมักจะไม่คอยโลก

การรวดเร็วในความรู้สมัยใหม่ การเผยแพร่ความรู้ที่เป็นส่วนดีต่อสังคม เราพร้อมจะเหยียบคันเร่งดำเนินการทันที สื่อต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่หลักใหญ่ๆ คือต้องอยู่เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

⦁แนวคิดที่กล่าวมา สะท้อนผ่าน ‘อีเวนต์’ คุณภาพตลอดปี 2564 ที่หลากหลายมาก ตั้งแต่วัคซีน พืชกระท่อม อีสปอร์ต และอีกมากมาย

ใช่ๆ เจตนาคือห่วงคนที่ยังไม่รู้เท่ารู้ทันในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รัฐต้องใส่หมดตัว องค์กรที่เกี่ยวข้องควรใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือ พิมพ์ ออนไลน์ ในการให้ความรู้แก่คนทั่วไปให้ทัดเทียมกัน ไม่อย่างนั้นความเหลื่อมล้ำจะเกิด จะไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก นี่คือสิ่งที่น่ากลัว

ความสมัยใหม่มาเร็ว ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติที่วิปริตก็มาเร็ว แผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟไหม้ป่าก็มาเร็ว ความขาดแคลนยากไร้ก็มาเร็ว โรคภัยก็แตกหน่อแตกกอไปเรื่อยๆ วัคซีนและการรักษาโรคก็พัฒนา ต่างคนต่างพัฒนา โรคก็อาจทุเลาลง แต่ต่อไปอาจจะมีโรคใหม่ จึงอยากให้อยู่กับความจริง ให้รู้ทิศเหนือทิศใต้ รู้เดือนรู้ตะวัน จะได้มีชีวิตอยู่ได้

⦁ในการเคลื่อนไหวการเมืองของคนรุ่นใหม่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เกิด ‘สื่ออิสระ’ มากมาย โดยเฉพาะในปี 2564 ที่มีบทบาทสูงมาก มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เป็นความเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนไม่ได้ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้เก่ง มีสิทธิ มีเสียงที่จะทำ มีที่ยืน เราก็ต้องกลับมาศึกษาตัวเองให้มากในความเป็นมาและจิตวิญญาณ

⦁มองอย่างไร เมื่อการสลายชุมนุมใน #ม็อบ64 สื่อโดนกระสุนยางจนกลายเป็นเรื่องปกติทั้งที่ไม่ควรปกติ

สื่อก็ถูกบีบเยอะ รัฐธรรมนูญอย่างนี้ก็บีบแล้ว ทุกเรื่องมีเหตุ มีกรณี ต้องเอา
ตรงนั้นเป็นตัวตั้ง ต้องพิจารณาว่าเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ไข รัฐมี
หน้าที่อย่างนั้น ต้องพูดจากัน อย่าใช้กำลัง ต้องยับยั้งชั่งใจ

⦁ถามทั้งในฐานะอดีตนักข่าวและประธานค่ายสื่อหลักผู้ผ่านการทำข่าวการเมืองมาหลากรัฐบาล คิดว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดของประเทศตอนนี้คืออะไร

ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง คนจะเป็นผู้ปกครองต้องรู้ทุกข์รู้สุขของสังคม ต้องรู้ว่าคนส่วนใหญ่มีทุกข์มากกว่าสุข มีความลำบากยากเข็ญมากกว่าความมั่งมีศรีสุข การที่คนมีความเห็นไม่ตรงกัน ถ้ามีจิตใจเป็นประชาธิปไตย ก็ควรขอบใจผู้มีความเห็นต่าง แล้วเอามาพิจารณาให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่เห็นต้องไปทะเลาะ หรือโกรธกัน ถ้าเป็นแบบนั้นเดี๋ยวก็รบราฆ่าฟัน เลือดตก ยางออก ที่ฉิบหายคือแผ่นดิน ขอให้ฟังคนส่วนใหญ่เป็นเสียงชี้ขาด

⦁แล้วในนาม ‘คนกรุงเทพฯ’ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ขับเคี่ยวกันหนักมากตั้งแต่ยังไม่กำหนดวันเข้าคูหา ปัญหาหลักคืออะไร

บทแรกและบรรทัดแรกที่ถูกลืมคือต้องขอความร่วมมือจากประชาชนก่อน ว่าโอเคไหม มีความเห็นอย่างไร อย่างขยะ ถ้าไม่เห็นด้วย โยนทิ้งบ้านละชิ้นก็ตายแล้ว ผู้ว่าฯที่อยากได้คือคนปกติ ที่รู้จักผิดชอบชั่วดี อย่าตะบิดตะบอย ตะแบง และโกง

⦁โคลงหน้า 3 ในมติชนฉบับวันอาทิตย์ทุกสัปดาห์ ฟาดประเด็นการเมืองแบบแรงไม่ตกตั้งแต่ปี 63

เก็บกด (หัวเราะ) เขียนเดี๋ยวเดียว สนุกดี เทคนิคไม่มี ถือว่าเป็นหน้าที่ปกติ เวลามันเร่งเราเอง ส่วนประเด็นก็แล้วแต่ ว่าไปสะดุดเรื่องไหน แต่เมืองไทยมีเรื่องให้สะดุดไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ สำหรับการเลือกใช้คำในการเขียนโคลง ถูกบังคับด้วยวรรณยุกต์เอกโท เป็นรูปแบบที่ครูบาอาจารย์วางไว้ ไม่ควรละเมิด คำต้องปรับให้เข้ากับฉันทลักษณ์ จะเข้าอย่างไรก็เป็นรายละเอียด แต่มันก็หาทางออกจนได้ก็แล้วกัน

⦁กลอนในหน้าเดียวกันของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ส่วนใหญ่เนื้อหาสอดคล้องเหมือนรับลูกกัน ถามจริงๆ มีแอบเตี๊ยมไหม

(หัวเราะร่วน) ไม่มี ไม่เคยเลย ไม่เคยลอกข้อสอบกัน มีแต่ทำข้อสอบให้กัน

⦁ยังนัดกันเดือนละครั้งในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ซึ่งปีที่ผ่านมาเจอล็อกดาวน์จนต้องรีรันบ้าง บันทึกเทปในสถานที่บ้าง แต่ประเด็นไม่แผ่ว ยอดผู้ชมไม่ตกเลย

ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่าน ขอบคุณเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจเหตุการณ์ ตามสมัยนิยมว่าต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เมื่อมีลมหายใจก็ยังทำ ในอนาคตคนรุ่นหลังอาจทำได้ดีกว่า เพราะมีการค้นคว้าอะไรใหม่ๆ ดีใจที่คนสนใจมากขึ้น ต่างจังหวัดสนใจ ชาวบ้านชอบใจ ก็ให้แตกเนื้อแตกหน่อต่อไป ดีกว่าไปจมอยู่กับของเก่าที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตอนหลังโบราณวัตถุกลายเป็นเรื่องการค้าไปหมด เอาประโยชน์ กลายเป็นตัววัดความเป็นเศรษฐี แต่เรามองในแง่ความรู้ การเรียนรู้

เรื่องประวัติศาสตร์ต้องปั้นอนุสาวรีย์ให้สุจิตต์ (หัวเราะ) ต้องยกให้เขา เราเป็นผู้ช่วยเท่านั้น ต้องยกย่องคุณงามความดี ว่าสุจิตต์รักในความรู้เรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีและความเป็นไทยอย่างแท้จริง รักโดยไม่ต้องใส่จริตว่ารัก โดยพยายามให้เหตุผล สำแดงที่มาที่ไป ให้ความรู้แก่คนโดยไม่แยกชั้นวรรณะ เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง เราเองมีบุญที่ได้ออกรายการ ยังถือเขาเป็นครูเลย ต่อไปจะรวบรวมให้เป็นหลักเป็นฐาน ขอให้ติดตาม อย่าให้ขาด (หัวเราะ)

⦁จะอายุ 78 ปีในเดือนเมษายนนี้ สุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง ยัง ‘ทอดน่อง’ ได้คล่องแคล่วในปี 65 ไหม

ดี ดีตามสภาพ หาหมอเป็นปกติ มีเมื่อยขบบ้าง (หัวเราะ)

⦁อีกจุดเด่นของมติชนคือการนำเสนอข่าวประวัติศาสตร์-โบราณคดี ‘ขึ้นหน้า 1’ ตลอดมา บ้างครั้งโดนข้อกล่าวหา สร้างความสับสนให้สังคม

(ตอบทันที) ไม่แคร์ ไม่แคร์แบบเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่แคร์รัฐบาล ไม่แคร์สำนักไหนทั้งนั้นแหละ สิ่งที่แคร์คือข้อเท็จจริง เมื่อมีผู้เสนอข้อมูล การตีความใหม่ๆ ก็ต้องนำเสนอให้สังคมรับรู้ เป็นหน้าที่ปกติของสื่อมวลชน ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์ แต่รวมถึงเรื่องอื่นด้วย
ในใจตัวเองและในใจของพวกเราเครือมติชน ต้องการให้คนรักการอ่าน เพราะ
การอ่านจะทำให้มนุษย์สง่างาม จะอ่านหนังสืออะไรก็ได้

⦁ปลายปีที่ผ่านมา ผลงานวัยหนุ่มเมื่อครั้งสัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์ ใน นสพ.ประชาชาติ ฉบับ 13 ตุลาคม 2517 ถูกนำมาเผยแพร่โดยได้รับความสนใจมาก บรรยากาศตอนนั้นเป็นอย่างไร

สนุก ไม่เกร็ง เป็นประสบการณ์ และคิดว่าเดี๋ยวเราก็ได้ความรู้ คนที่คุยคือปราชญ์ เคยทำหนังสือ ‘โขนถอดหัว’ รวมบทสัมภาษณ์บุคคลสำคัญ ประพันธ์สาส์นพิมพ์เมื่อปี 2512 มีคนนึกว่าดัดจริต ทำเป็นโศลก (คําประพันธ์ในวรรณคดีสันสกฤต) แต่ความจริงคือ ครูบาอาจารย์อย่าง ท่านอาจารย์แสง มนวิทูร ท่านพูดกันอย่างนั้นจริงๆ ใกล้เคียงอย่างนั้น เราเอามาถอดใหม่ ยุคนั้นเทปหายากกว่าจะถอดเป็นคืนๆ ไม่ใช่แป๊บเดียว กว่าจะเสร็จก็ถึงเช้า สมัยก่อนเครื่องไม้เครื่องมือไม่ค่อยมี มีเทปก็ถือว่ามหัศจรรย์แล้ว ยุคนั้น การถอดเทปคือฟัง แล้วถอด ตรวจทาน เขียนด้วยลายมือก่อนแล้วค่อยส่งไปพิมพ์ดีด

⦁นอกจากงานข่าว เคยแว่บไปสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘สาย สีมา นักสู้สามัญชน’ (ปีศาจ) ที่มีคนดูรอบละไม่ถึง 10 คนเมื่อ พ.ศ.2524 วันนี้ขึ้นแท่นเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ปี 64 ถ้ามีญาณวิเศษรู้ว่าจะเจ๊ง จะยังทำไหม

แหม! ญาณวิเศษมีที่ไหนเล่า ทำเร็วไป 40 ปี (หัวเราะ) ติดหนี้เป็น 10 ล้าน แต่ไม่เครียด เป็นคนยอมรับว่าผมเป็นหนี้อยู่นะ ผัดเขาบ้างอะไรบ้าง ก็ใช้เขาจนหมด ปักธูปเลย ไม่ใช่ทางเรา เรื่องหนังสือ เราทระนงในใจว่าหลับตามองเห็น แต่พอเป็นหนัง เรามองไม่เห็นว่าจะออกมาอย่างไร เผาค่ายญี่ปุ่น 8 แสนกระจุย 7 วัน กลับมาเหลือร้อยเดียว (หัวเราะ)

⦁วรรณกรรมมากมาย ทำไมเลือก ‘ปีศาจ’

เพราะเนื้อหาก้าวหน้าที่สุด แล้วตอนนั้นพี่เส (เสนีย์ เสาวพงศ์ ผู้ประพันธ์) อายุ 60 เกษียณปี 2522 มีหนังสือพิมพ์ใหญ่ฉบับหนึ่งให้เราไปเจรจาขอให้ไปอยู่ด้วย คุยไปคุยมา อยู่กับเรา พี่เสบอก อยู่กับช้างอย่างน้อยก็ได้หัวเราะ (หัวเราะ) ไม่อดตาย บางเรื่องไม่ต้องไปแบก แบกแล้วไม่ไหว

⦁ปลายปีที่แล้ว เพิ่งไปพิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทราซึ่งเป็นฉากถ่ายทำ

ใช่ๆ เป็นฉากบ้านท่านเจ้าคุณ พ่อรัชนี นางเอก ชั้น 2 ถ่ายฉากงานเลี้ยงที่จะเอาสาย สีมาไปเชือด เลยโดนสายขวิดซะ (หัวเราะ) ตอนถ่ายเมื่อ 40 ปีก่อนก็ไปอยู่ที่กองฯด้วย

⦁ล่าสุด มีการนำกลับมาฉายใหม่ทั้งที่หอภาพยนตร์แห่งชาติและในยูทูบได้ดูหรือยัง

ยังไม่ได้ดู กลัวร้องไห้ (หัวเราะ)

⦁นอกจากโบนัสที่มอบมาให้อย่างถ้วนหน้าแล้ว มีอะไรฝากถึงชาวมติชน

อยากให้ทุกคนอยู่ได้อย่างแข็งแรง มั่นคงตามสิ่งที่เรามี เราช่วยกันทำงานตามหน้าที่ที่กำหนด ถ้ามีความรับผิดชอบมาห่อหุ้ม ทุกอย่างจะราบรื่น อาชีพสื่อ อุปมาเหมือนหมาเฝ้าบ้าน ดูแลชีวิตทรัพย์สินให้คนส่วนใหญ่ ตอนนี้ก็ยังเป็นหมาเฝ้าบ้านเหมือนเดิม แต่เป็นหมาใหญ่ขึ้น (หัวเราะ) เราไม่ได้ถือความสำเร็จเอาไว้ เพราะถ้าใหญ่จริงต้องเล็กที่สุดและอยู่อย่างปกติ

ต้องขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกคน ที่ต่างร่วมกันทำงาน เราคนเดียวทำไม่ได้ คนกลุ่มเดียวก็ทำไม่ได้ สมัยก่อน พิมพ์ดีด มีเครื่องเดียว คน 10-20 คน แค่จะเอื้อมมือไปกดก็ยังไม่ถึง พอรวมกันติดก็ค่อยๆ พัฒนา สิ่งที่ช่วยได้มากคือการมีอารมณ์ขัน และเมตตา เห็นอะไรก็หัวเราะได้ มีปัญหาก็แก้ไข และทำทันที เหมือนต้นฉบับที่ต้องทำทันที เพราะถ้ามีกำหนดเวลา ทุกคนเป็นอย่างนั้น งานถึงได้เจริญ มติชนเป็นหนี้เพื่อนร่วมงานทุกคน ต้องใช้หนี้เพื่อนร่วมงาน (หัวเราะ)

⦁คำถามสุดท้าย ของขวัญวันเกิด ‘มติชน’ ในอายุ 45 ที่อยากได้

ไม่อยากได้อะไรเลย แต่ใครให้ด้วยความรู้ ความรัก ก็รับ (หัวเราะ)

อยากได้เสรีภาพที่ไม่ถูกปิดกั้น ไม่ใช่เหมือนถูกมัดมือมัดเท้า

ไม่ใช่เฉพาะเสรีภาพสื่อ แต่อยากให้สังคมไทยมีเสรีภาพอย่างแท้จริง อย่าดัดจริตให้อย่างเชยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image