บก.เดอะอีสาน เรคคอร์ด ลั่น ‘ไม่ยอมแน่’ จวกพ.ร.บ.คุมสื่อใต้อาณัติรัฐเผด็จการจำแลง จี้ ส.นักข่าวแจงปมไม่ชอบมาพากล

ต่อกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (11 ม.ค.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ 12 มกราคม นางสาวหทัยรัตน์ พหลทัพ บรรณาธิการภาคภาษาไทยของ เดอะ อีสาน เรคคอร์ด ให้สัมภาษณ์กับ ‘มติชน’ ถึงกรณีนี้ว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าตัวร่างที่ได้ออกมาล่าสุด เรายังไม่ได้เห็นทั้งหมด โดยข้อกังวลก่อนหน้าที่นี้ที่เคยออกมาเคลื่อนไหวสมัยเมื่อยังเป็นอนุกรรมการสมาคมนักข่าวไทย และได้เคยไปยื่นหนังสือต่อนายกฯ เมื่อปี 60 โดยหนังสือดังกล่าวมีจุดประสงค์ว่าไม่ควรจะต้องให้นักข่าวไปลงทะเบียนต่อกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อที่จะได้เป็นนักข่าว แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกฏหมายที่ผ่านเมื่อวานนี้ไม่มีเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงยังกังวลว่าจะยังมีเรื่องนี้ซ่อนอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าหากว่าบทบัญญัตินี้ยังคงอยู่ นักข่าวทุกคนจะถูกเพิกถอน หรือได้ลงทะเบียนต่อใบอนุญาตหรือไม่ขึ้นอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ เป็นคนควบคุมทั้งหมด

“คือมันจะมี 2 เด้ง นอกจากตัวกฏหมาย และกฏของกสทช. ทำให้นักข่าวถูกควบคุมมากขึ้น เพราะว่าตัวกฏหมายกสทช.จะบอกว่า ถ้าละเมิดข้อกำหนดของกสทช.จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ซึ่งอันนี้เป็นของสื่อดิจิทัล และสื่อโทรทัศน์ แต่ถ้าร่างกฏหมายเก่ายังอยู่ อันนี้จะคลอบคลุมทุกสื่อเลย และอีกข้อที่ยังกังวลคือกำหนดให้สมาคมวิชาชีพสื่อมาดูแลกันเอง และให้นักข่าวต้องมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนหมอ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากสมาคมวิชาชีพ ซึ่งตอนนี้สมาคมเหล่านี้ ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสื่อมวลชน เลยอยากถามหน่อยว่า แบบนี้จะสามารถควบคุมกันเองได้ไหม” นางสาวหทัยรัตน์ กล่าว

นางสาวหทัยรัตน์ กล่าวว่า หากกลายเป็นกฏหมายจริงขึ้นมา จะไม่ใช่การส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือที่รัฐธรรมนูญต้องการ แต่ตรงกันข้าม เป็นความต้องการที่จะควบคุมสื่อมวลชนให้อยู่ภายใต้รัฐบาลมากกว่า

Advertisement

“เพราะเขาเขียนบอกว่า การที่จะนำเสนอข่าวควรจะไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และพูดถึงเรื่องความมั่นคงต่างๆ ดังนั้นแปลว่าสื่อมวลชนต้องอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลเผด็จการจำแลง ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน และกฏหมายที่รัฐบาลบังคับใช้มันหนักอยู่แล้ว ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และม.112 มันทำให้การเสนอข่าวของสื่อมวลชนเปลี่ยนไป และมีความกดดันอยู่แล้ว และตั้งแต่การเกิดรัฐประหารเป็นต้นมาสื่อมวลชนไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพเหมือนเดิม เลยรู้สึกว่าการที่กฏหมายฉบับนี้ออกมา มันทำให้เราตกใจ เมื่อเช้าก็ได้มีการพูดคุยกับเพื่อน ว่ามันมีบางอย่างไม่ชอบมาพากลของสมาคมนักข่าวไทย

ดังนั้นเลยอยากรียกร้องให้สมาคมนักข่าวไทยออกมาชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าได้มีการไปล็อบบี้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงกฏหมายเพื่อให้มันออกมาอย่างนี้หรือเปล่า กฏหมายดังกล่าวมันไม่ควรออกมาบังคับใช้ หากยังไม่ได้สอบถามความคิดเห็นอย่างทั่วถึง เหมือนพวกเราไปอยู่ไหนมา ทำไมเราไม่รู้ เพราะมันจะต้องออกมาบังคับใช้กับเรา เราก็ควรที่จะต้องรู้  ควรมีการทำโพลในกลุ่มนักข่าวไหม ไม่ใช่ออกมาบังคับเลย ขณะนี้มันอยู่ในช่วงที่จะนำเข้าสภา และสื่อมวลชนเองก็ควรจะถามตัวเองว่าจะอยู่ภายใต้การไร้เสรีภาพแบบนี้จริงๆ เหรอ เพราะเรื่องนี้มันกระทบต่อสื่อมวลชนทุกแขนง” นางสาวหทัยรัตน์ กล่าว

นางสาวหทัยรัตน์กล่าวด้วยว่า ประเด็นนี้ ไม่ยอมแน่ ขณะนี้กำลังร่างแถลงการณ์คาดว่าจะเผยแพร่ในช่วงเย็นวันนี้ รัฐบาลชุดนี้เห็นมาตั้งแต่รัฐประหารแล้วว่ามีการปิดสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง และมีการประกาศคสช.ฉบับที่ 103 ที่มีบทลงโทษมากมาย เห็นได้ชัดว่ามีความต้องการจะควบคุมสื่อมวลชนอยู่แล้ว และภายหลังได้มีการยกเลิกประกาศนี้ไป เพราะสื่อมวลชนก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน

Advertisement

“คิดว่ามันเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมือง ที่ช่วงนี้รัฐบาลอ่อนแอด้วย และมีการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม กระทบเรื่องต่างๆ เขาเลยต้องการให้สื่อมวลชนอ่อนแรงลงและง่ายต่อการควบคุม” นางสาวหทัยรัตน์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image