อ.วารสาร มธ. ฟันธง พ.ร.บ.คุมสื่อ ผิดตั้งแต่ต้น หาข้อดีไม่เจอ สงสัย ใครจะเป็นกก.วิชาชีพ แนะรัฐอย่าฉวยโอกาส

จากกรณีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยกรมประชาสัมพันธ์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ผศ. ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนมองไม่เห็นข้อดีของ พ.ร.บ.ดังกล่าว และไม่เห็นว่าจะปฏิรูปไปสู่ตรงไหน สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือวิธีกำกับสื่อของรัฐอีกวิธีหนึ่งโดยการบอกว่าจะนำพ.ร.บ.นี้เพื่อที่จะมาตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน แต่สภาวิชาชีพนี้ไม่ได้เป็นอิสระโดยกลไกของคนทำสื่อ ไม่อิสระตั้งแต่แรก เรื่องการที่รัฐจะมาสนับสนุนเงินให้สภาเป็นรายปี ปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท คือการอยู่ภายใต้รัฐแล้วตั้งแต่ต้น อันดับที่สองคือเรื่องกรรมการวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งน่าสงสัยมากว่าจะเป็นใคร

ร่างที่ผ่านครม.เมื่อ 11 มกราคมระบุว่าจะประกอบไปด้วยกรรมการผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 5 คน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ดูเหมือนการสร้างความสมดุล แต่มันเป็นเรื่องของคนทำสื่อ แต่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นใคร และมาจากไหน ถึงแม้จะระบุว่าแสวงหาจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านวิชาการสื่อสารมวลชน กฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือการคุ้มครองผู้บริโภคและกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งทุกวันนี้ผู้จัดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เป็นคนจัดการเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาสื่อ แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจ ไม่มีอิสระและเสรีภาพ องค์กรนี้เกิดมาในเจตนาที่ดี แต่ด้วยกลไกของมัน มันถูกควบคุมโดยรัฐ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ทำให้การจัดสรรทุนถูกตั้งคำถามตลอดมา โดยเฉพาะช่วงหลังในเรื่องนโยบาย เรื่องการจัดสรรทุน และแน่นอนย่อมส่งผลกระทบในภาคประชาชน ถ้าสื่อมีเสรีภาพมาก ประชาชนจะมีเสรีภาพในการสื่อสารและการรับรู้มาก แต่ถ้าสื่อถูกกำกับถูกควบคุมเสรีภาพของสื่อน้อยย่อมส่งผลต่อภาคประชาชนแน่นอนในเรื่องการรับรู้ข่าวสาร เสรีภาพในการรับสื่อของประชาชนก็จะน้อยลง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้นทั้งโครงสร้างที่ที่มา เพราะคนเสนอร่างพ.ร.บ.นี้คือกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐหรือก็คือสื่อของรัฐ ข่าวสารที่ออกมาก็จะเป็นข่าวสารด้าเดียวหือมุมเดียว ไม่ครบถ้วน  ที่ไม่มีผลกระทบเชิงลบกับรัฐแน่นอน และเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับรัฐบาล และด้วยเงินทุนที่มาจากรัฐซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงินเหล่านั้นและถูกจำกัดเสรีภาพแน่นอน

Advertisement

ที่ผ่านมาสื่อพยายามบอกว่าเรากำกับกันเอง โดยองค์กรวิชาชีพ โดยเอาเงินจากสมาชิกและคนทำสิ่อ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าจริยธรรมและวิชาชีพสื่อถูกตั้งคำถามเยอะมาก และพบกับคำว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน คือองค์กรวิชาชีพสื่อก็เป็นแค่หัวกระดาษ แต่ไม่ใช่ว่ารัฐจะฉวยโอกาสในการเข้ามาควบคุมด้วยภาพลักษณ์ชื่อองค์กรที่สวยหรู ที่บอกว่าจะเข้ามาวางมาตรฐานวิชาชีพสื่อ อาจารย์วิไลวรรณตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วถ้าสภาวิชาชีพสื่อนี้เกิดขึ้นจริง และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 คน จะปราศจากอำนาจของรัฐ นั้นคือสิ่งที่น่ากลัวว่ามีคนของรัฐเข้ามาถึง 5 คน และมีคนจากอาชีพสื่ออีก 5 คน  เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าคนที่มาจากรัฐทั้ง 5 คน ที่เป็นถึง 50 % ของสภาวิชาชีพสื่อป็นผู้แทนวิชาชีพสื่อมวลชนขนาดไหน

ส่วนเรื่องบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจเยอะมากและยังไม่ทราบว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไร และส่วนสำคัญคืออำนาจในพิจารณาการจดแจ้งและเพิกถอน ซึ่งมีอำนาจที่สามารถเพิกถอนสื่อต่างๆได้ ทำให้อาจจะมีการกลั่นแกล้งกันได้มากมายและเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งแสดงว่าเสรีภาพของสื่อจะน้อยลง

ในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎหมายแบบนี้ เราใช้วิธีการกำกับกันเองโดยสภาสื่อสารมวลชน แต่ตอนนี้ในกลไก คณะกรรมการและที่มาของสภาวิชาชีพสื่อเป็นการกำกับโดยรัฐผ่านกฎหมาย ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะมีสัญญษณที่รัฐพยายามที่จะเข้ามากำกับสื่อโดยใช้ข้อกฎหมายและอ้างเรื่องสื่อมีปัญหาเรื่องจริยธรรม และยังสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนั้น ถ้าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยจะใช้วิธีที่สื่อควบคุมกำกับกันเอง แต่ประเทศที่มีประชาธิปไตยต่ำรัฐจะเข้ามากำกับสื่อเช่น ประเทศเกาหลีเหนือ” ผศ. ดร.วิไลวรรณกล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image