โค้งท้ายเลือกซ่อม ปะ-ฉะ-เดือด ศึกแห่งศักดิ์ศรี

โค้งท้ายเลือกซ่อม ปะ-ฉะ-เดือด ศึกแห่งศักดิ์ศรี

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ นายชุมพล จุลใส หรือลูกหมี แห่งประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องพ้นสภาพ ส.ส.ชุมพร เขต 1 เสียงปี่กลองของการเลือกตั้งซ่อมก็ดังกระหึ่มขึ้น

โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมจาก 5 พรรค การเมือง คือ หมายเลข 1 นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ผู้สมัครจากพรรค ปชป. หมายเลข 2 ร.ต.ท.สมชาย แพ่งยงยุทธ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ (ทศล.) หมายเลข 3 นายวรพล อนันตศักดิ์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อาชีพไรเดอร์รับส่งอาหารของบริษัทแห่งหนึ่ง หมายเลข 4 นายชวลิต อาจหาญ หรือทนายแดง ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรค พปชร. ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาซึ่งได้รับคะแนนมาเป็นอันดับ 2 รองจาก ส.ส.ลูกหมี หมายเลข 5 พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือผู้กำกับหนุ่ย ผู้สมัครจากพรรคกล้า (ก.) อดีตนายตำรวจติดตาม นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ก. ในช่วงที่นายกรณ์เป็น รมว.กระทรวงการคลัง

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง บรรยากาศการหาเสียงเต็มไปด้วยสีสันและความคึกคัก เพราะพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคต่างระดมกำลังออกมาต่อสู้กันอย่างดุเดือด

หมายเลข 1 นายอิสรพงษ์ หรือตาร์ท ออกสตาร์ตเป็นต่อ เนื่องจากค่ายแชมป์เก่าเจ้าของที่นั่ง ส.ส.ในเขตนี้มีฐานเสียงเดิมที่ลูกหมีปูไว้แน่นหนารวมถึงฐานเสียงสนับสนุนจากนายก อบจ.ชุมพร อีกทั้งหัวหน้าพรรค ปชป.คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลงพื้นที่ด้วยการเดินเคาะประตูบ้านในเขตเลือกตั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มกราคม ช่วยเพิ่มแต้มให้อีกไม่น้อย

Advertisement

หมายเลข 3 นายวรพล หรือโอ๊ต ถือเป็นผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุดคือแค่ 25 ปี แถมยังเรียนไม่จบ แต่ได้รับความไว้วางใจจากพรรค ก.ก.ส่งลงสนาม คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่นายวรพลจะได้รับคงมาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ถือได้ว่าเป็นตัวสอดแทรกแม้ไม่น่าจะถึงขั้นหยิบเก้าอี้ ส.ส.มาครองได้ก็ตาม

และวันที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงให้ในลักษณะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ก็คงได้คะแนนจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ที่มีอยู่ไม่น้อยด้วย

หมายเลข 4 นายชวลิต หรือทนายแดง ได้แรงสนับสนุนจาก บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย หรือพรมาลัย นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง อดีต ส.ส.ชุมพร 6 สมัย ที่เพิ่งประกาศลาออกจากพรรค ปชป.เพื่อสวมเสื้อพรรค พปชร. ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพบัญชาการการหาเสียงให้ทนายแดงอย่างเต็มตัว คะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่ทนายแดงจะได้รับก็คงมาจากผู้ที่ชื่นชอบนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่มีพรรค พปชร.เป็นแกนนำ ซึ่งล่าสุดในโค้งสุดท้ายพลิกจากตามขึ้นมาหายใจรดต้นคอได้ลุ้นแซงแล้ว

Advertisement

ส่วนหมายเลข 5 พ.ต.อ.ทศพล ถือเป็นผู้สมัครอีกคนหนึ่งที่คอการเมืองจับตา เพราะมีการเปิดตัวว่าพร้อมลงสมัครรับเลือกตั้งมานานกว่า 1 ปี แต่ก็อาจได้ชื่อว่าเป็น 1 ในผู้สมัครเท่านั้น

การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 ในวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม 2565 คงเป็นบทพิสูจน์ว่า พรรค ปชป.ที่เคยยึดครองพื้นที่ชุมพรเขต 1 มาอย่างยาวนาน จะยังคงรักษาแชมป์เอาไว้ได้หรือไม่

ขณะที่การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 จ.สงขลา ก็คึกคักไม่แพ้กัน เพราะผู้สมัครต่างพกความมั่นใจในกระแสตอบรับ

ยิ่งโค้งสุดท้ายทำให้การหาเสียงคึกคักเข้มข้นมากขึ้น ผู้สมัครทั้ง 5 พรรคการเมืองต่างก็เร่งลงพื้นที่ เจาะกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือก เป็นกลุ่มที่ถูกแย่งชิงกันมากสุด

สำหรับสนามเลือกตั้งนี้ยังคงเป็นการแข่งขันกันระหว่าง ผู้สมัครจาก ปชป. ได้แก่ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล เบอร์ 1 และผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ อย่าง นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ เบอร์ 3 ชนิดที่แพ้ไม่ได้

ผู้สมัครทั้ง 2 ราย ยังคงใช้วิธีการหาเสียงในรูปแบบเดิม ทั้งเคาะประตูบ้าน ปราศรัยย่อย ปราศรัยใหญ่ ซึ่งได้มีการขนแกนนำพรรคลงพื้นที่ ช่วยหาเสียงสร้างสีสันในทางการเมืองได้อย่างมาก

ส่วนพรรคก้าวไกล ที่ส่ง นายธิวัชร์ ดำแก้ว ลงชิงชัย เบอร์ 2 มีคะแนนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาตุนเอาไว้ที่ 12,000 คะแนน ซึ่งนายธิวัชร์มองว่า คะแนนในส่วนนี้จะยังคงอยู่กับพรรค และยังมีกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนอีกส่วนหนึ่งที่จะให้การสนับสนุน จากการลงพื้นที่หาเสียงก็ยังมีกลุ่มที่ตอบรับ ระดับหนึ่ง

ในขณะที่ผู้สมัครจากพรรคกล้า นายพงษธร สุวรรณรักษา เบอร์ 4 มีคะแนนจาก พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล รองหัวหน้าพรรคและประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ เป็นทุนอยู่บ้าง แม้จะไม่มากนักก็ตาม

ส่วนพรรคพลังสังคม ที่ส่ง นางภัทรวดี ศรีศักดา เบอร์ 5 ลงสมัครนั้น พบเป็นการหาเสียงค่อนข้างน้อย ชูสโลแกนในการหาเสียงว่า ใจแลกใจสู้ไม่ถอยเพื่อพี่น้องเขต 6

การแข่งขันสำหรับเก้าอี้ ส.ส.ในเขตนี้ เป็นการต่อสู้แย่งชิงของ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ผู้ท้าชิง พปชร.มีภาษีเหนือกว่าเปอร์เซ็นต์เข้าป้ายสูงมาก ที่ต้องลุ้นคือคะแนนจะทิ้งห่างมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

ขณะที่ นายปรีชา สุขเกษม นักวิชาการอิสระ ประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าพี่น้องประชาชนเลือก ส.ส.ที่คุณลักษณะเช่นไร ซึ่งเชื่อว่ายังคงเลือกคนที่คุณสมบัติ นโยบาย มากกว่าปัจจัยอื่นๆ โดยการแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นการชี้วัดมาตรฐานของประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และพรรคกล้า แม้จะมีกระแสการใช้เงินในการเลือกตั้ง

แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ประชาชนจะเป็นคนสั่งสอนนักการเมือง ว่าจะเลือกประชาธิปไตยหรือการประมูลอำนาจเสรีประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image