09.00 INDEX สัญญาณวิกฤตจาก “เศรษฐกิจ” ส่งผลสะเทือน รุนแรง สู่การเมือง

09.00 INDEX สัญญาณวิกฤตจาก “เศรษฐกิจ” ส่งผลสะเทือน รุนแรง สู่การเมือง

ไม่ว่าก่อนสถานการณ์เดือนมิถุนายน 2475 ไม่ว่าก่อนสถานการณ์ เดือนพฤศจิกายน 2490 ไม่ว่าก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 มีปัจจัยในทาง “เศรษฐกิจ” กดทับอย่างรุนแรง ล้ำลึก

ก่อน 2475 มีเศรษฐกิจตกต่ำ ก่อน 2490 เกิดสภาพข้าวยากหมากแพง ก่อน 2516 เกิดปัญหาราคาข้าวสารแพง

เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ จึงนำไปสู่ “การดุน” ข้าราชการออกจากตำแหน่งอย่างหนักในปี 2473-2474 ผลสะเทือนจากสงครามโลก ทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมย่านในปี 2490

การบริหารราชการแผ่นดินที่มีลักษณะผูกขาด และแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดข้าวขาดแคลน ภาพของประชาชนเข้าคิวซื้อข้าวสารที่กระทรวงพาณิชย์ จึงบาดตาอย่างยิ่ง

Advertisement

ในที่สุดก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในที่สุดก็เกิดรัฐประหาร ในที่สุดก็เกิดสถานการณ์ “ไล่ทรราช” ในเดือนตุลาคม 2516

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในยุคใกล้เห็นได้ชัดอย่างยิ่ง จากฐานะของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กระทั่งนำไปสู่การประกาศลาออกกลางรัฐสภาในเดือนกุมภาพันธ์ 2523

ปัจจัยอันทำให้สถานะของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สั่นคลอนมาจาก 2 ปัจจัย ทั้งในระดับโลก และในระดับประเทศ 1 ปัจจัย ในทางเศรษฐกิจ 1 ปัจจัยในทางการเมือง

Advertisement

ทั้งๆ ที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีพื้นฐานมาจากรัฐประหารปี 2520 และเลือกตั้งเมื่อปี 2522

แต่ภายหลังการเลือกตั้งต้องประสบเข้ากับความผันผวนราคา น้ำมันในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันแพง จึงส่งผลกระทบไปถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ

กลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจคือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในรัฐวิสาหกิจ และแรงงานในภาคเอกชน

ปัญหาเศรษฐกิจก่อให้เกิดความแตกแยกใน “รัฐบาล”

ไม่เพียงแต่พรรคฝ่ายค้าน ที่นำโดยพรรคกิจสังคม ตระเตรียมจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หากแม้กระทั่งในกลุ่มวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งมากับมือก็เกิดการแปรพักตร์

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงตัดสินใจ “ลาออก” กลางสภา

ด้านหนึ่งเปิดทางให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้านหนึ่งเปิดล็อกให้พรรคฝ่ายค้านเข้ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ปัญหา “เศรษฐกิจ” จึงส่งแรงสะเทือนเป็นปัญหา “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image