‘ส.ว.วันชัย’ ตาสว่าง ชี้ ‘ปฏิวัติ’ แก้ทุจริตไม่ได้ 8 ปีที่ผ่านมา วงจรเลวร้ายกว่าเดิม

‘ส.ว.วันชัย’ ซัด ‘ปฏิวัติ’ แก้ทุจริตไม่ได้ บางคนพูดจนตายคาสภายังแก้ไม่ได้ วงจรอุบาทว์ทุจริตกว่าเดิม อัด ขรก.การเมืองหวังช่องทางหากำไร ส่วน ขรก.เกษียณรับใช้นายทุน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุมได้พิจารณารายงานเรื่อง บทวิเคราะห์กฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มี นายกล้าณรงค์ จันทิก ส.ว.เป็นประธาน กมธ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวชี้ชัดถึงกรณีที่ประเทศไทยได้รับการประเมินดัชนีรับรู้การทุจริต หรือซีพีไอ ขององค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพราะพบว่ามีการขัดกันแห่งผลประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ รวมถึงรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระ ที่มีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบด้วยการเรียกรับสินบน สินน้ำใจ และใช้ทรัพย์สินของราชการและงบประมาณเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง รวมถึงเลือกปฏิบัติในการใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน

ในรายงานระบุด้วยว่า กมธ.เรียกร้องให้เร่งจัดทำกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม เพราะเป็นกฎหมายสำคัญตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวเสนอต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ในช่วงสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่ง กมธ.เห็นว่าควรนำร่างกฎหมายว่าด้วยความผิดกรณีการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. … ที่เสนอต่อ สนช.มาปรับปรุงให้ทันสถานการณ์ และนำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและมาตรการอื่นที่ใช้เป็นสากลมาปรับปรุงเป็นกฎหมายให้ชัดเจนและครอบคลุมทุกระดับ ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนท้องถิ่น ฝ่ายการเมือง โดยเน้นการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล มีกลไกป้องกันยับยั้งการทุจริตเชิงรุก รวมถึงพัฒนาเครือข่ายต่อต้านทุจริต

Advertisement

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ ส.ว.ได้สนับสนุนเนื้อหาในรายงาน อาทิ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ขอตั้งข้อสังเกตต่อการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ต้องรอผู้ร้องถึงจะทำงานได้ โดยที่ผ่านมาพบการกระทำที่ขัดประโยชน์ส่วนรวมหลายประการ เช่น การใช้ข้อมูลภายในราชการเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การนำโครงการสาธารณะลงเขตเลือกตั้งเพื่อหวังผลทางการเมือง รวมถึงกรณีที่เครือญาติของข้าราชการการเมืองเข้าไปมีผลประโยชน์และรับงานในโครงการต่างๆ จากทางราชการ เป็นต้น

“ที่ผ่านมาการปฏิวัติ หรือเมื่อพูดถึงการปฏิรูป สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ การทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งที่การเลือกตั้งต้องทำให้สุจริตเที่ยงธรรม แต่ 7-8 ปีจนถึงปัจจุบัน พบว่าวงจรอุบาทว์ของการทุจริตเลวร้ายกว่าเดิม จะมีคนที่ออกมาพูด จนบางคนพูดตายคาสภาก็ยังแก้ไม่ได้ สิ่งที่ผมอยากฝากคือ ข้าราชการการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทับซ้อนกัน แน่นอนว่าคนทำธุรกิจต้องการเงินและหวังกำไร หาช่องว่างทางกฎหมายทุกเม็ดเพื่อให้ได้ผลประโยชน์และกำไรมากที่สุด ส่วนข้าราชการเกษียณที่รู้ช่องมักไปทำงานในบริษัทเอกชน นี่คือเส้นทางพ่อค้า นักธุรกิจ แต่เส้นทางเดินของข้าราชการของประเทศไทยทำงานเพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่ใช่เงินและผลกำไร” นายวันชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายวันชัยอภิปรายอยู่นั้น นายพรเพชรได้ทักท้วงขอให้สรุปการอภิปราย ทำให้นายวันชัยกล่าวว่า “ขออนุญาตจบเท่านี้ครับท่านประธาน”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image