พปชร.โหวตไล่ ‘ธรรมนัส-20ส.ส.’ จุดไฟลาม‘บิ๊กตู่’

พปชร.โหวตไล่ ‘ธรรมนัส-20ส.ส.’ จุดไฟลาม‘บิ๊กตู่’

การเมืองเปิดศักราชปีเสือมาเพียงแค่เดือนแรกของปี หลังเสร็จศึกเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่เขต 1 จ.ชุมพร และเขต 6 จ.สงขลา เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คว้าชัยชนะ รักษาเก้าอี้เดิมของตัวเองไว้ได้

แต่ความร้อนแรงทางการเมืองดันย้อนกลับมาที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หนึ่งในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ผู้ที่เคยคว้าชัยศึกเลือกตั้งซ่อมมาทุกสนาม ต้องมาสะดุด พบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งแรก นำมาซึ่งการเช็กบิลกันเองของแกนนำพรรค พปชร. ว่าใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบกับความพ่ายแพ้ของพรรค พปชร. ระหว่าง “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่เสนอให้ทำโพลสอบถามประชาชนถึงความความพ่ายแพ้ของพรรค พปชร.ว่าเกี่ยวข้องกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยาและเลขาธิการพรรค พปชร. หรือไม่

แต่ให้หลังเพียงไม่กี่วัน โดยช่วงเย็นวันที่ 19 มกราคม ร.อ.ธรรมนัสพลิกเกมชิงความได้เปรียบทางการเมือง นำ 20 ส.ส.ของพรรครวมตัวเองด้วยเป็น 21 คน ได้แก่ 1. ร.อ.ธรรมนัส 2.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 8.นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 10.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 11.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14.นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 16.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร

17.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี เข้าพบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร. ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อขอให้เรียกประชุม กก.บห.เป็นการด่วน และขอให้มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พร้อม 20 ส.ส.ออกจากพรรค ในข้อหาภายในพรรคมีความขัดแย้งมาโดยตลอด จนไม่สามารถบริหารงานได้ การประชุม กก.บห.ร่วมกับ ส.ส.เป็นไปอย่างตึงเครียดตลอด 3 ชั่วโมง เนื่องจาก กก.บห.และ ส.ส.บางคนเกรงว่าการประชุม กก.บห.เพื่อดำเนินการขับ ร.อ.ธรรมนัสกับพวก อาจจะไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและข้อบังคับของพรรคการเมือง อาจสุ่มเสี่ยงให้ถูกร้องยุบพรรค พปชร.ได้ จน “บิ๊กป้อม” ต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่พรรคต่อสายถึงเจ้าหน้าที่ กกต.ว่าสามารถประชุม กก.บห.และ ส.ส.เพื่อขับ ส.ส.พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคได้หรือไม่

Advertisement

จนสุดท้ายที่ประชุม กก.บห.และ ส.ส.มีมติ 78 เสียง ซึ่งไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุม กก.บห.และ ส.ส. มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัสและพวก รวมทั้งหมด 21 คน ในข้อหาสร้างความขัดแย้งภายในพรรค โดย ร.อ.ธรรมนัส และ 20 ส.ส.พรรค พปชร.จะต้องหาพรรคใหม่ภายใน 30 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(9)

ไม่เช่นนั้น ทั้ง ร.อ.ธรรมนัสและพวกจะสิ้นสภาพ ส.ส. ส่วนพรรคใหม่ที่ ร.อ.ธรรมนัสและ 20 ส.ส.พรรค พปชร.จะไปสังกัดใหม่นั้น ตามกระแสข่าวคือ พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ที่ไปยื่นจัดตั้งต่อ กกต.ไว้แล้ว มี นางรัชนี ศิวเวชช รองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค และนายเมธาวี เนตรไสว เป็นเลขาธิการพรรค ที่ตั้งพรรคอยู่ที่อาคารเอสจี ทาวเวอร์ ถนนราชดำริ กทม. การเมืองนับจากนี้ ร.อ.ธรรมนัสและพวก ส.ส.ทั้ง 21 คน จะไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทยเพื่อไม่ให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.

แต่สถานะทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัสและ 20 ส.ส.จะยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนว่าจะอยู่กับขั้วไหน ระหว่าง “รัฐบาล” หรือ “ฝ่ายค้าน” เพราะต้องยอมรับว่าความสัมพันธ์ของ ร.อ.ธรรมนัส กับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องถือว่าจบกันไม่สวย หลังเปิดเกมล้มเก้าอี้นายกฯของแกนนำพรรค พปชร. เมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อเดือนกันยายน 2564 นำมาซึ่งการแก้เกมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ปลด ร.อ.ธรรมนัสออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหลือเพียงเก้าอี้ ส.ส.พะเยาและเลขาธิการพรรค พปชร.

Advertisement

ที่น่าจับตาคือ สถานะและเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่มีพรรค พปชร.เป็นแกนนำหลักสนับสนุน จะยังเดินหน้าเอาตัวรอดจากสารพัดปัญหารุมเร้าภายในพรรค พปชร. อยู่ได้จนครบวาระ 4 ปี ในเดือนมีนาคม 2566 หรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลยังต้องพึ่งพาเสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรขับเคลื่อนกฎหมายที่สำคัญๆ ของรัฐบาล ทั้งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและรัฐมนตรีได้ในช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้น

ทั้งนี้ เสียงของ ส.ส.ในสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนี้อยู่ที่ 475 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 267 คน และฝ่ายค้าน 208 คน หากหัก ส.ส.ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส จำนวน 21 คน จะทำให้เสียงของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเหลืออยู่ 246 เสียง มากกว่าเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้านอยู่ 38 เสียง ขณะที่กึ่งหนึ่งขององค์ประชุมคือ 238 คน จาก ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน ซึ่งเสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 246 เสียง มีมากกว่ากึ่งหนึ่งขององค์ประชุมเพียง 8 เสียง ทำให้สถานการณ์การประชุมสภาในแต่ละสัปดาห์สุ่มเสี่ยงที่จะล่มได้ตลอดเวลา หาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมกันเกิน 8 คน และฝ่ายค้านไม่ร่วมลงชื่อเป็นองค์ประชุมให้ จากนี้เสียง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกเสียงจึงมีค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการโหวตกฎหมายที่สำคัญๆ ที่จะเป็นตัวชี้ขาดการอยู่ หรือไป ของรัฐบาล หากผู้มีอำนาจในรัฐบาล และวิปรัฐบาลคุมเสียง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลได้ไม่ดี

โอกาสที่รัฐบาลจะล้มโดยเสียง ส.ส.ในสภาย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งพรรคเล็ก หรือพรรค 1 เสียง ที่เวลานี้ยังอยู่ร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาล มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ ร.อ.ธรรมนัส สมัยนั่งเป็นเลขาธิการพรรค พปชร. หาก ร.อ.ธรรมนัสดึงพรรคเล็กทั้ง 9 เสียงไปร่วมได้จะยิ่งสั่นคลอนสถานะของรัฐบาลได้มากขึ้นไปอีก เสถียรภาพทางการเมืองและความมั่นคงโดยเฉพาะเก้าอี้นายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์นับจากนี้ไป จึงไม่ต่างอะไรกับสภาพการนับถอยหลังว่าจะอยู่หรือไปกันเมื่อใด จึงต้องจับตาดูว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะแก้เกมทางการเมืองที่อยู่ในสภาพเป็นรองในขณะนี้ด้วยวิธีใด

หากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสยังเปิดเกมรุก เดินเกมต่อรองทางการเมืองขึ้นเรื่อยๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังเดินหน้าสู้ “ยอมหัก ไม่ยอมงอ” สุดท้ายไพ่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่พ้นการ “ยุบสภา” ล้างกระดาน ให้มีการเลือกตั้งใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image