‘ไอติม’ โดนแจ้งความฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้องใจ ไว้ใช้คุมโรคหรือคุมคนเห็นต่าง?

‘ไอติม’ โดนแจ้งความฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้องใจ ไว้ใช้คุมโรคหรือคุมคนเห็นต่าง?

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในแกนนำเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ โพสต์ข้อความว่าถูกแจ้งความคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุว่า

รับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน : กฎหมายที่มีไว้เพื่อควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว หรือเพื่อควบคุมคนเห็นต่างด้วย?

เมื่อวันก่อน ผมได้เดินทางไปสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” หลังจากได้รับหมายเรียกเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา โดยตำรวจชี้แจงสาเหตุว่าเป็นเพราะผมเข้าร่วมกิจกรรม “ราษฎร์ธรรมนูญ” ในฐานะวิทยากรเกี่ยวกับประเด็นรัฐธรรมนูญ เมื่อวันรัฐธรรมนูญ (10 ธันวาคม 2564) ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Advertisement

ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและไม่เชื่อว่าควรมีใครอยู่เหนือกฎหมาย ผมไม่ขัดข้องที่จะต่อสู้ตามกระบวนการ แม้จะเชื่อมั่นว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา เพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดต่อสาธารณะ ตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมและการทำหน้าที่วิทยากรประจำกลุ่มเพื่อตั้งวงพูดคุยประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ผมได้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข (เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง) และไม่ได้กระทำการใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค หรืออภิปรายในเนื้อหาใดๆ ที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

แต่ในฐานะประชาชนที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ผมจำเป็นต้องตั้งคำถาม ว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 2 ปี เป็นไปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพียงอย่างเดียวตามที่รัฐบาลประกาศ หรือมีเจตนาแอบแฝงในการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล

หาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเพียงอย่างเดียว ทุกกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน (ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่) ควรจะต้องถูกปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรฐานเดียวกัน

Advertisement

แต่ความเป็นจริงกลับดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่ปลายปี 2564 ในขณะที่ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และกำหนดให้กรุงเทพฯเป็น “พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว” ที่รับรองให้การ “จัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากสามารถทำได้ตามความเหมาะสม” แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อประชาชนที่มารวมตัวกันทำกิจกรรมโดยสงบ ที่มีเนื้อหาบางส่วนเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แม้กิจกรรมดังกล่าวในหลายกรณีไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มากไปกว่ากิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถจัดได้

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาแล้วอย่างน้อย 1,367 คน จากจำนวน 594 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่แสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

หากรัฐยังคงเลือกดำเนินการและบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยมาตรฐานอย่างที่เป็นมา ในสายตาประชาชน รัฐจะยิ่งถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางขึ้น ว่ากำลังใช้กฎหมาย มิใช่เพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือโรคระบาดเป็นหลัก แต่เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

ผมหวังว่ารัฐบาลจะไม่เลือกวิธีซ่อนหลังโควิด เพื่อปิดปากคนเห็นต่างและปกป้องอำนาจของตนเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image