หน้า 3 วิเคราะห์ : พปชร. ลงมติไล่ เกม ‘ธรรมนัส’ สะเทือน เก้าอี้บิ๊กตู่

หน้า 3 วิเคราะห์ : พปชร. ลงมติไล่ เกม ‘ธรรมนัส’ สะเทือน เก้าอี้บิ๊กตู่

พปชร. ลงมติไล่

เกม ‘ธรรมนัส’

สะเทือน เก้าอี้บิ๊กตู่

คืนวันที่ 20 มกราคม เกิดความเคลื่อนไหวที่บ้านป่ารอยต่อฯ ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อย่างคึกคัก

Advertisement

เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีผลต่อสถานะของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และ ส.ส.อีก 20 คน ของพรรคพลังประชารัฐ

เป็นการประชุมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.แล้วมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัสและพวกพ้นจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ขับออกด้วยข้อหาสร้างความขัดแย้งภายในพรรค ทำให้ ร.อ.ธรรมนัส และ 20 ส.ส.ที่ถูกขับพ้นพรรค ต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วัน

Advertisement

มีข่าวว่าพรรคที่ ร.อ.ธรรมนัสจะไปสังกัดคือพรรคเศรษฐกิจไทย

สำหรับ ส.ส.ที่ต้องพ้นพรรคไปด้วยมติดังกล่าว ประกอบด้วย 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 2.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 8.นายสมศักดิ์ พันธุ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 10.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 11.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14.เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 16.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 17.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 20.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา และ 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

ทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างฉับไวในคืนวันที่ 19 มกราคม

รุ่งขึ้น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงสรุปว่า ร.อ.ธรรมนัส เสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ ถ้าไม่ปรับจะเคลื่อนไหวให้พรรคเกิดความเสียหาย

หัวหน้าพรรคเห็นว่า ข้อเรียกร้องจะสร้างปัญหาและเกรงจะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ จึงนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และ ส.ส.ของพรรค หารือถึงข้อเรียกร้องของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งที่ประชุมร่วม กก.บห.และ ส.ส.จำนวน 78 คน ประกอบด้วย กก.บห. 17 คน และ ส.ส. 61 คน เห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เนื่องจากจะเป็นความเสียหายทั้งระบบ

เพื่อรักษาหลักการในเรื่องความมีเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพ พรรคเห็นว่าข้อเสนอนี้เป็นเหตุที่ร้ายแรง เข้ากับข้อบังคับของพรรค ข้อที่ 54 (5) ประกอบวรรคท้าย มีเหตุร้ายแรง

จึงมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส.กลุ่มดังกล่าว ด้วยเสียง 63 เสียง ซึ่งถือว่าเกิน 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วม

ถือเป็นการยืนยันมติขับ ร.อ.ธรรมนัสและพวก

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐมีความขัดแย้งภายในมาระยะหนึ่งแล้ว

เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหนึ่ง นำโดย ร.อ.ธรรมนัส และอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการ ร.อ.ธรรมนัส

หวังโละ ร.อ.ธรรมนัส ให้พ้นจากเลขาธิการพรรค

ความขัดแย้งดังกล่าวสั่งสมมาเรื่อยๆ และได้ปะทุขึ้นหลังจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดชุมพร หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 เขต

ความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐนำไปสู่การมองหาจุดบกพร่อง มีการกล่าวถึงคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกขยายผล จนถูกโจมตี

หลังจากนั้นปรากฏข่าวการยื่นข้อเสนอที่มิอาจยอมรับได้จากกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส

นั่นคือ ยื่นข้อเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับ ครม. และหาเก้าอี้รัฐมนตรีมาคืน ร.อ.ธรรมนัส โดยมีข่าวว่าต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนานั่งอยู่

พร้อมยื่นคำขาดถ้าไม่ทำตามจะไม่ร่วมประชุมสภา

ข้อเสนอดังกล่าวยากที่ใครจะยอมทำตามได้

นี่เท่ากับว่า คำขาดที่ยื่นไป เพื่อเปิดทางให้พรรคลงมติไล่

เกิดเป็นข้อสงสัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเกมของใครกันแน่

เป็นเกมของ ร.อ.ธรรมนัส หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และ 20 ส.ส. แทนที่ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมพวกจะตกเป็นรอง กลับกลายเป็นต่อ

ประการแรก เป็นต่อ เพราะหลังจากเกิดมติขับไล่ ได้เกิดข้อข้องใจว่าการดำเนินการดังกล่าวผิดข้อบังคับพรรคหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้นายไพบูลย์ออกมาแถลงยืนยันว่าถูกต้อง แต่ก็ยังเป็นข้อสงสัย เพราะการที่พรรคการเมืองมีมติขับสมาชิกพรรคนั้น ต้องพบความผิดชัดแจ้ง

ประการที่สอง เป็นต่อ เพราะการดำเนินการดังกล่าวทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาลหายไปทันที 21 เสียง

ขณะนี้มี ส.ส.ในสภา 475 คน เป็นฝ่ายรัฐบาล 267 คน เป็นฝ่ายค้าน 208 คน

จำนวนกึ่งหนึ่ง คือ 238 คน

หากหักกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสออกไปจากฝ่ายรัฐบาล จะเหลือเสียงอยู่ 246 เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 8 เสียง

ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า พรรคเล็ก 9 เสียง เริ่มลังเลอาจจะไปอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส

ถ้าเป็นเช่นนั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ตอกย้ำว่า “ไม่ปรับ ครม. และไม่ยุบสภา” พร้อมยืนยันว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตามระบอบประชาธิปไตย

ความจริงแล้วสถานภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2565 มีจุดเสี่ยงอยู่ที่เดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามหรือไม่

มีผู้คาดหมายว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกมาได้ 3 แนวทาง

1.เริ่มนับหลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2570

หรือ 2.เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เกินเดือนสิงหาคมปีนี้ไม่ได้

และ 3.เริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ตามที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อกันได้ไม่เกินปี 2568 หรือถ้าได้เป็นนายกฯ ครั้งต่อไปก็อยู่ได้เพียงครึ่งวาระ

นั่นคือ จุดเสี่ยงที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประสบเมื่อถึงเดือนสิงหาคม

แต่เมื่อมีเหตุขับ ร.อ.ธรรมนัส และ 20 ส.ส. ความเสี่ยงที่คิดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม อาจจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ในสภา

หนทางแก้ปัญหา อาจจะใช้วิธี 1.ดึงกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส กลับมา หรือ 2.ดึงพรรคการเมืองอื่นๆ เข้ามาเสริม

ไม่ว่าจะเป็นวิธีแรกหรือวิธีที่สอง ถือเป็นโจทย์ยากของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องตัดสินใจ

นับแต่นี้ไป รัฐบาลอยู่ในความเสี่ยง มีโอกาสสะดุดขาล้มลงได้ตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image