เปิดชีวิต ‘วิโรจน์’ จากหนุ่มวิศวะ ผู้ตกกระไดพลอยโจน สู่สภาถึงศึกท้าชิงผู้ว่าฯกทม.

เปิดชีวิต ‘วิโรจน์’ จากหนุ่มวิศวะ ผู้ตกกระไดพลอยโจน สู่สภาถึงศึกท้าชิงผู้ว่าฯกทม.

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ในฐานะว่าที่ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.

อ่านข่าว : ตามคาด! ก้าวไกล เปิดตัว วิโรจน์ ตัวแทนพรรค ชิงผู้ว่ากทม.

วิโรจน์ คือดาวเด่นในสภา ผู้สามารถจับความสนใจจากผู้ที่ได้พบเห็นการอภิปราย ด้วยประเด็นข้อมูลที่เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ ศัพท์แสงถ้อยโวหาร และมุขตลกที่ขนมาเป็นกระบุงๆ

เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2520 เรียนจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมยานยนต์) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากสถาบันเดียวกัน ก่อนคว้าคำนำหน้าว่า “ดอกเตอร์” ด้วยปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

Advertisement

มีอีกดีกรีเป็น นักโต้วาที ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

‘มติชนออนไลน์’ ชวนย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ในหน้าประชาชื่น มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 โดยสุนันทา บวบมี ที่เจ้าตัวบอกเล่าชีวิตของตนตั้งแต่วัยเยาว์ จนเข้าสู่เวทีการเมือง

ชีวิตวัยเด็กเป็นอย่างไร เติบโตมาจากครอบครัวแบบไหน?

ผมมาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่าง คุณพ่อเป็นผู้จัดการร้านขายผ้าที่สำเพ็ง คุณแม่เป็นแม่บ้าน ผมค่อนข้างจะซึมซาบชีวิตที่อยู่ในความจำกัด และต้องดิ้นรนมากๆ ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่มีทรัพยากร ที่จะได้เรียนพิเศษดีๆ แต่โชคดีที่คุณพ่อเป็นคนที่เห็นความสำคัญทางการศึกษา จึงบอกกับคุณแม่ว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ต้องให้ลูกได้เรียนหนังสือก่อน ของขวัญที่ผมมักจะได้รับจึงเป็นหนังสือ สมัยก่อนมักจะไปหาซื้อหนังสือที่สวนจตุจักร ที่มีให้เลือกหลากหลาย ชีวิตต้องไต่เต้าดิ้นรน จนรู้สึกว่าเด็กที่จะผ่านตรงนี้มาได้มันจะมีสักกี่คนกัน ในสมัยก่อนเราเคยมีความคิดเหมือนกันว่า หากคุณอยากเติบใหญ่ ทุกคนก็ต้องดิ้นรนสิ

Advertisement

นอกจากมีบทบาทสูงมากในการสนับสนุนการศึกษา

คิดว่าได้เรียนรู้อะไรจากคุณพ่ออีกบ้าง?

เนื่องจากคุณพ่อเป็นคนค้าขาย ก็มักจะตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้มันขายได้ ถ้าขายไม่ได้ ก็จะทำอย่างไรให้มันขายได้ เราไปดูร้านนั้นร้านนี้สิ เราจึงติดนิสัยว่า เราไปดูประเทศนั้นประเทศนี้สิว่าเขาทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราถูกสอนมาตั้งแต่เล็ก มันเลยทำให้เราเป็นคนช่างค้นหาช่างเปรียบเทียบ กล้าคิดกล้าลอง รัฐที่ดีจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อให้เกิดเด็กแบบนี้ ในเด็กที่มีฐานะยากจน หรือปานกลางจะต้องสามารถหลุดพ้นจากสถานะที่เป็นอยู่ได้ ไม่ใช่คิดว่า ถ้าคุณอยากดีขึ้นมาก็ต้องดีดตัวเอง มันเหมือนกับว่า เราปล่อยเด็กที่ว่ายน้ำไม่เป็นให้ลงไปในน้ำ หากอยากมีชีวิตรอดก็ตะเกียกตะกายขึ้นมาเอง คือ สุดท้ายมันก็มีเด็กที่ทำแบบนั้นได้ แต่มันมีเพียงไม่กี่คน มันจึงเปลี่ยนประเทศนี้ไม่ได้ แต่ถ้าลองโยนห่วงน้ำ หรือสอนเค้าว่ายน้ำก็จะมีคนรอดมากขึ้น การเปลี่ยนประเทศคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราก็เลือกที่จะทำแบบนี้

คนรุ่นใหม่เกิดมาควรจะต้องเก่งกว่าคนรุ่นเดิม แต่ในประเทศเราไม่ใช่ อย่าไปหวังแบบในละคร ที่คุณจะไปพบกับผู้ชายครอบครัวร่ำรวยและแต่งงานกัน แบบนั้นไม่มี เพราะในความเป็นจริงเมื่อคุณเป็นคนจนคุณก็จะได้กับคนจน ลูกคุณก็เกิดเป็นลูกคนจน ต่อมาก็ต้องไปได้กับลูกคนจน ออกมาเป็นหลานคนจน โอกาสที่จะโผล่พ้นน้ำก็มีแต่มันน้อยมาก ยากที่จะฉุดประเทศเราให้พ้นจากประเทศกำลังพัฒนาได้

ประสบการณ์จากการทำงานหลังเรียนจบ ทำให้รู้ถึงอุปสรรคด้านการพัฒนาประเทศอย่างไรบ้าง ?

หลังเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ออกมาทำงานเป็นวิศวกรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ตอนทำงานก็ค้นพบว่า การเป็นวิศวกรในระบบอุตสาหกรรมจะไม่ได้ใช้ศักยภาพการเป็นวิศวกรในตัวเองเลย เพราะเราเป็นประเทศที่รับเอาเทคโนโลยีจากประเทศอื่นมาผลิตชิ้นส่วนต่างๆ อย่างมากก็แค่แก้แบบเพื่อหาซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตในประเทศเพื่อลดการส่งออก จนถึงจุดหนึ่งก็ตั้งคำถามว่าไม่ได้ใช้วิชาชีพสิ่งที่เรียนมา จึงตัดสินใจไปเรียนปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะในยุคนั้นกำลังฮิตทำ ISO หรือ KPI และผันตัวเองไปเป็น Consaltant อยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนเปลี่ยนมาทำงานที่ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ทำในส่วนของร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ อยู่ในฝ่ายบริหารมีหน้าที่เกี่ยวกับทำร้านหนังสือให้น่าสนใจและดึงดูดลูกค้า และดูแลเกี่ยวกับด้านการค้าปลีก ทำงานที่นี่ประมาณ 10 กว่าปีในห้วงเวลาหนึ่ง จึงได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ไปดูแลเกี่ยวกับงานด้านการศึกษาด้วย เพราะต้องขายหนังสือ หรือสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียน จึงทำให้เราได้เห็นอุปสรรคของโรงเรียนว่าเหตุใดโรงเรียนของประเทศไทย จึงมีอุปสรรคในด้านการพัฒนา

ทำไมปัญหาพวกนี้ซึ่งว่ากันว่าเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว ถึงไม่สามารถแก้ไขได้สักที?

ในขณะที่ประเทศเราหนังสือเรียนไม่ดี ครูต้องไปทำงานอื่น เด็กไม่ได้กินอาหารเช้า พอพูดถึงปัญหาเหล่านี้ทุกคนก็รู้และสามารถพูดได้ แต่ไม่มีใครพยายามที่จะแก้ ทุกวันนี้เราพยายามจะมองปัญหาให้เป็นเรื่องปกติ ขนาดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังกลายเป็นเรื่องปกติ เวลาผ่านไปปัญหาที่มันอยู่กับเรานานๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ มีคนพยายามจะคิดแก้ จะต้องมีคนออกมาพูดว่าคุณจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือ เขาอยู่กันมาดีๆ ทุกวันนี้เราบอกว่าระบบข้าราชการเทอะทะ ก็อยากจะถามว่าแล้วทำไมถึงไม่แก้ แต่พอเราจะเข้ามาแก้ไขก็บอกว่าเราจะมาเปลี่ยนแปลงประเทศ แค่อยากจะบอกว่าสิ่งที่คิดจะแก้ไขไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ถึงปัญหากันหมด โดยเฉพาะการกระจายอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์

เบนเข็มมาทำงานการเมืองได้อย่างไร?

ผมไม่ได้รู้จักคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นการส่วนตัว แต่ติดตามผลงานบางส่วนของอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อยู่มาวันหนึ่งน้องที่รู้จักในทวิตเตอร์ก็มาถามผมว่าพี่รู้จักคุณธนาธรไหม และเขาก็ชวนผมมาเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้จดจัดตั้งพรรคการเมือง หลังจากนั้นก็พยายามศึกษาอุดมการณ์และแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมันก็ตรงกับตัวตนของเรา ที่คิดว่ามันถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้แล้ว จึงตัดสินใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่

ตกกระไดพลอยโจน เป็น ส.ส.แบบไม่ทันตั้งตัว?

เมื่อทำงานกับพรรคไปเรื่อยๆ ก็ได้รับการชวนให้ไปลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เวลาผมพูดว่าไม่คาดหวังว่าจะได้เป็นผู้แทน ทุกคนก็จะว่าๆ ไม่หวังแล้วจะลงทำไม แต่ในวันนั้นไม่มีใครคิดหวังที่จะได้หรอกครับ เพราะผมอยู่ในลำดับที่ 30 กว่า ทุกคนในพรรคคาดหวังไว้อย่างเก่งก็ 5 คน ถ้า 20 คน คือ ต้องฉลอง และเป็นอะไรที่สำเร็จมากแล้ว เคยคิดถึงขั้นแย่ที่สุดได้ ส.ส.แค่คุณธนาธร และอาจารย์ปิยบุตรก็พอ แต่สุดท้ายจากการที่เราซื่อสัตย์กับจุดยืนของตัวเอง ประชาชนก็เห็นคุณค่าในส่วนนี้ ส่วน ส.ส.เขต ก็ยอมรับว่าเราก็ได้อานิสงส์จากพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบไป บางเขตที่ไม่มีพรรคไทยรักษาชาติ เราก็สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ประชาชนไว้วางใจพรรคอนาคตใหม่ด้วย หลังจากที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ผมได้เป็น ส.ส.ก็ค่อนข้างตกใจ เพราะความฝันหลายๆ อย่างก็ต้องวางแผนใหม่ทั้งหมด ทุกวันนี้ยังคิดหนักว่า ถ้าเลิกเป็น ส.ส.เราจะกลับไปจุดนั้นอย่างไร เพราะการทำโรงเรียนเป็นสิ่งที่ผมต้องการ ทุกวันนี้ผมเริ่มทำใจในการทำอาชีพนักการเมืองได้ พร้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่น และเปิดใจที่จะยอมรับความหลากหลาย

มองอย่างไรต่อประเด็นการ ‘สร้างความเปลี่ยนแปลง’ กับ ‘ความขัดแย้ง’ ที่เกิดขึ้น?

เราทุกคนแก่ขึ้นทุกวันไม่มีใครหยุดเวลาได้ ขณะที่เราทะเลาะกันโลกก็เดินไป เมื่อคุณแก่ตัวลงเด็กก็โตขึ้น คุณต้องอย่าลืมจุดนี้ ว่าสุดท้ายแล้วโลกต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องตัดสินใจเราจะให้สิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนเรา หรือเราจะยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว และปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกับโลกใบนี้ และสามารถแข่งขัน และร่วมมือกับโลกใบนี้ได้ ผมมักจะยืนยันเวลาที่บอกว่าต้องแข่งขันกับประเทศอื่น เราอย่าคิดแบบนั้นว่าต้องแข่งขันทุกครั้ง บางครั้งเราสามารถร่วมมือกับเขาก็ได้ ที่คุณจะร่วมมือกับเขาได้คุณต้องเก่งระดับหนึ่ง ดังนั้นในมุมมองเรื่องความขัดแย้งผมจึงบอกว่าอย่าไปคิดมาก เพราะต่อให้คนไม่อยากเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี ในยุคของเพจเจอร์ ตอนนั้นเราคิดไหมครับว่า โทรศัพท์มือถือที่ราคาเป็นแสน เครื่องใหญ่เทอะทะ จะมาแทนที่เพจเจอร์ และกลายเป็นสิ่งที่สำคัญและมีบทบาทต่อชีวิตเรามาก ในอดีตคงไม่มีใครเชื่อว่าโทรศัพท์มือถือก็มีราคาถูกลง และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดี

ดังนั้นคุณจะเสียเวลาและเงิน เพื่อโปรโมตให้เชื่อว่าเพจเจอร์ดีกว่าโทรศัพท์มือถือไปทำไม ผมชวนคุณมาทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือไม่ดีกว่าหรือ เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราพยายามจะสื่อสารกับคนทุกเจเนอเรชั่น ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Pareto Optimality คือ คุณก็ไม่ได้เสียหายเราเองก็ไม่ได้เสียหาย คนทุกคนก็ไม่ได้เสียหาย โอบรับข้อจำกัดของทุกคน แล้วเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน เราสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่ ถ้าจะมีความเสียหายก็เสียหายให้น้อยที่สุด รับการชดเชยที่เป็นธรรมและอยู่ร่วมกันได้

ดีกว่ามาทะเลาะหรือขัดแย้งกัน หากคุณเลือกที่จะทะเลาะเพื่อไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แบบนั้นจะทำได้หรือ เพราะสุดท้ายคุณก็ต้องแก่และเด็กพวกนี้ก็ต้องเติบโตอยู่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image