เดินหน้าชน : ไม่ใช่อย่างหวัง

ดับฝันบรรดาแลนด์ลอร์ดมีที่ดินอยู่ในครอบครองนับพันนับหมื่นไร่ แต่ไม่ได้นำมาทำประโยชน์สมตามฐานะศักยภาพ เมื่อ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยืนยันจะไม่มีการขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ภายใต้เหตุผลบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เหมือนที่ผ่านมา 2 ปีอย่างแน่นอน

รมว.คลังให้เหตุผลว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น จากที่มีการลดภาษีที่ดินฯไป 2 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้หายปีละมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ตามหลักรัฐบาลก็ต้องหาเงินไปอุดหนุนชดเชยให้ท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้าไปอุดหนุนรายได้ให้แค่ปีเดียว คือปี 2563 เท่านั้น ส่วนปีภาษี 2564 ไม่ได้ช่วยอุดหนุน เพราะรัฐบาลงบประมาณมีจำกัด

ดังนั้น ในปีนี้การจัดเก็บภาษีที่ดินฯจะเต็มอัตราร้อยเปอร์เซ็นต์

สองปีที่ผ่านมา คนที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มเศรษฐีที่ดิน เศรษฐีมีบ้านราคานับสิบๆ ล้าน แถมมีมากกว่า 1 หลังขึ้นไป ส่วนผู้มีรายได้น้อยคนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีบ้าน 1 หลังก็ยังยาก และไม่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ซ้ำบางส่วนยังต้องเช่าบ้านอาศัยอยู่เท่านั้น ไม่ได้ประโยชน์จากการลดภาษีที่ดิน

Advertisement

การกลับมาเก็บภาษีเต็มอัตราก็น่าจะเป็นเรื่องถูกต้องเหมาะสม เป็นธรรมมากกว่า

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้วิธีประเมินภาษีโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษีภายในวันที่ 30 เมษายนของปีนั้น

Advertisement

กระทรวงมหาดไทยประเมินว่า หากกระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีที่ดินฯเต็มอัตราร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปีนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีรายได้จากภาษีที่ดินฯ 42,686.71 ล้านบาท แยกเป็น

-องค์การบริหารส่วนตำบล 9,610.62 ล้านบาท
-เทศบาลตำบล 7,241.09 ล้านบาท
-เทศบาลเมือง 5,082.53 ล้านบาท
-เทศบาลนคร 4,091.57 ล้านบาท
-กรุงเทพมหานคร 15,988.4 ล้านบาท
-เมืองพัทยา 672.5 ล้านบาท

แต่สถานการณ์จริงคือ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาเศรษฐีมีที่ดินอยู่ในเมืองที่มีความเจริญ เป็นพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนา ได้นำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาแปลงสภาพเป็นสวนผลไม้ เช่น ประเด็นฮือฮาก่อน
หน้านี้ที่มีการนำที่ดิน 24 ไร่ ติดถนนรัชดาภิเษก ย่านธุรกิจเมืองกรุง มูลค่ากว่าพันล้านบาทมาทำเป็นสวนมะนาว

หรือล่าสุดเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ดินโดยรอบสนามกอล์ฟราชพฤกษ์และนอร์ธปาร์ครวมหลายสิบไร่ เคยปล่อยไว้เป็นที่ดินรกร้างมานานนับสิบปี ก็พบมีการนำรถแบ๊กโฮเข้ามาทำการปรับปรุงที่ดินรกร้างแปลงร่างเป็นสวนมะม่วง

เป็นสวนมะม่วงที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท

การปรับปรุงที่ดินรกร้างเป็นสวนผลไม้ เพื่อหวังผลลดภาระภาษี

เพราะที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ต้องเสียภาษีที่ดินฯในอัตรา 0.30-0.70% ของการประเมินราคา

ขณะที่ที่ดินใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ ในปี 2565 ไม่ว่ามีมูลค่าเท่าใด จะได้รับการยกเว้นภาษี

และในปี 2566 เป็นต้นไป จะเสียภาษีเพียง 0.01-0.10% เท่านั้น

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คาดหวัง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะนำเม็ดเงินเข้าสู่ท้องถิ่นเป็นกอบเป็นกำ
อีกครั้ง ก็อาจไม่เป็นดั่งใจก็ได้

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image