จ่อจัดใหญ่ รำลึก ’30 ปีพฤษภาประชาธรรม’-’90 ปี ปชต.’ จี้ชำระ ปวศ. แน่นวงเสวนา-ดึงสากลร่วม

มูลนิธิ-ญาติวีรชน 35 จ่อจัดใหญ่ ’30 ปีพฤษภาประชาธรรม’ ลากยาว ’90 ปี ปชต.’ จี้ชำระ ปวศ.-อัดแน่นเสวนา-ดึงสากลร่วม

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 มกราคม ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 (ประธาน ครป.), ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 (คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว ประสานมิตร และกรรมการสมานฉันท์ รัฐสภา) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35

พร้อมด้วย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม (อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และอดีตเลขาธิการ สนนท.ปี 2535), นายปรีดา เตียสุวรรณ์ และนายวีระเดช สมบูรณ์เวชชการ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม, ร่วมแถลงข่าวเตรียมจัดงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ครบรอบ 30 ปี (17 พฤษภาคม 2535 – 17 พฤษภาคม 2565) ในรูปแบบงานรำลึกสืบสานวีรชน “30 ปีพฤษภาประชาธรรม”

โดยเวลา 10.31 น. ดร.ปริญญากล่าวว่า เนื่องในเหตุการณ์ครบรอบ 30 ปี มูลนิธิเพื่อประชาธรรม เครือข่ายต่างๆ และเครือญาติวีรชนประชาธรรม จะได้จัดงานที่สำคัญยิ่งกว่าทุกปี งานพฤษภาประชาธรรมในปีนี้จะไม่จบแค่ 17 พฤษภาคม แต่เราตั้งใจจะไปจบที่เดือนมิถุนายน ไปจนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ครั้งแรกของประเทศไทย วันที่ 27 มิถุนายน 2475

Advertisement

“ปีนี้เราจะจัดงานครบรอบ 30 ปี ประชาธรรม ไปจนถึงครบรอบประชาธิปไตย 90 ปี หวังว่าการจัดงานพฤษภา 35 ครบรอบ 30 ปี จะช่วยเป็นบทเรียนให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ ท่ามกลางความเห็นต่าง สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องมีการนองเลือดอีก และต้องมีการเรียกร้องให้เปิดเผยรายงานเมื่อ 30 ปีที่แล้วในส่วนที่ปิดบังไว้ เพื่อให้เป็นบทเรียนแก่ทุกฝ่าย” ดร.ปริญญากล่าว

จากนั้น เวลา 10.45 น. นายเมธา เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวในตอนหนึ่งว่า ในปีนี้จะจัดงานรำลึกสืบสานวีรชน “30 ปีประชาธรรม” อย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน โดยภาคเช้าจะมีพิธีกรรมทางศาสนา และจะมีการเชิญทุกภาคส่วน ทุกพรรรคการเมือง รวมถึงเชิญประธานรัฐสภามาเป็นประธานในพิธี เพื่อจะจัดให้เป็นวาระของสังคมไทย จะมีการชำระประวัติศาสตร์ มีการเสวนาอภิปรายในช่วงบ่าย โดยในปีนี้จะมีการเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง รวมถึงคนหายในเหตุการณ์ และสร้างอุทาหรณ์ บทเรียนทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนวันที่ 17 พฤษภาคม จะจัดเป็นซีรีส์ทางวิชาการเพื่อทบทวนประวัติศาสตร์

Advertisement

ขณะที่ ดร.ภูมิ ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงกิจกรรมเสวนาวิชาการที่ทางคณะสังคมศาสตร์ มศว จะเป็นผู้จัด โดยธีมการเสวนาเกี่ยวกับการเรียนรู้ เข้าใจ ให้อภัย และจดจำ

“จะเป็นการรวบรวม ‘ข้อเท็จจริง’ ทั้งหลายให้ได้มากที่สุด จะได้ทราบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดสิ่งใด
ประเด็นที่สองคือ ‘การเข้าใจ’ การที่เรารู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไรนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ถึงแม้จะต่างกันในเรื่องความคิด ความเชื่อ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้

ประเด็น ‘การให้อภัย’ สิ่งนี้ความชอบธรรมอยู่ที่ตัวญาติวีรชน สังคมโดยทั่วไปต้องหัดเรียนรู้ว่าผู้ที่ถูกกระทำ ในการที่จะให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้นั้น เขาพร้อมจะเสียสละ พร้อมจะให้อภัย โดยมีเงื่อนไขบางประการที่รอติดตามกันต่อไป

ประเด็นสุดท้ายจะต้อง ‘จดจำ’ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ควรจะเลือนหายไปตามหน้าประวัติศาสตร์ ควรจะต้องเกิดการจดจำในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือจดจำบุคคลที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้จะเป็นกิจกรรมที่ส่งต่อจากเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนมิถุนายน เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปีประชาธิปไตย” ดร.ภูมิกล่าว

ต่อมา นายบุญแทน ที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงกิจกรรมในวันที่ 18-19 พฤษภาคมนี้ว่า จะมีการจัดเวทีสัมมนาสากล หรือระหว่างประเทศ โดยประสานกับเครือข่ายองค์กรประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ เพื่อมาระดมความคิดเห็น โดยเนื้อหาคร่าวๆ จะมี 5 เรื่อง คือ

1.เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคของสังคม
2.เรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมและยึดมั่นในหลักนิติธรรม
3.เรื่องหลักการสิทธิมนุษยชน การให้การเยียวยาผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนหาย การถูกซ้อมทรมานหรือเสียชีวิต
4.เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้กับธรรมาภิบาลประชาธิปไตย
5.เรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image