โค้งสุดท้าย ศึกชิงซ่อมเขต 9

โค้งสุดท้าย ศึกชิงซ่อมเขต 9

ศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 9 หลักสี่-จตุจักร (แขวงเสนานิคม แขวงจันทรเกษม และแขวงลาดยาว) แทน “สิระ เจนจาคะ” อดีต ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในวันที่ 30 มกราคมนี้ เป็นอีกหนึ่งการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ เพราะผลแพ้-ชนะ จะมีนัยยะหลายอย่างในทางการเมือง เพราะเป็นการแข่งขันกันของขั้วทางการเมืองที่ชัดเจน คือ ฝ่ายรัฐบาล ในนามของพรรค พปชร.เจ้าของพื้นที่เดิม กับ ฝ่ายค้าน นำโดย พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคไทยศรีวิไลย์

โดยมีผู้สมัคร 8 คน จาก 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี หมายเลข 1 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า หมายเลข 2 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 น.ส.
กุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ หมายเลข 4 นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 5 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรค พปชร. ได้หมายเลข 7 และนายเจริญ ชัยสิทธิ์ หมายเลข 8 ผู้สมัครจากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ร่วมชิงชัยเก้าอี้ ส.ส.เขต 9 ของ กทม.

โดยการหาเสียงของทุกพรรค ต่างงัดทุกกลยุทธ์หวังขอคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน จัดเวทีปราศรัย อีกทั้งเปิดเกมรุกผ่านทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย หวังสื่อสารขอเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่

ขณะที่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการกาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 30 มกราคมนี้ แกนนำและผู้สมัครในแต่ละพรรคหลักๆ ต่างมีความมั่นใจในการคว้าชัย

Advertisement

เริ่มจาก “จักรพันธ์ พรนิมิตร” ส .ส.กทม.ในฐานะหัวหน้าภาค กทม. พรรค พปชร. ประเมินว่า จากการลงพื้นที่กับนางสรัลรัศมิ์ กระแสตอบรับทั้งเขตจตุจักรและหลักสี่ดูแล้วดี มั่นใจว่าจะรักษาเก้าอี้ไว้ได้

ส่วนที่พรรค พปชร.ไม่ได้จัดเวทีปราศรัยใหญ่ เหมือนกับผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ จะเป็นจุดอ่อนหรือไม่นั้น “จักรพันธ์” มองว่า ไม่คิดว่าเป็นจุดอ่อน ปกติการเลือกตั้ง กทม.แต่ไหนแต่ไรมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อมการจัดเวทีปราศรัยไม่จำเป็น บางพรรคอาจจะเลือกใช้ได้ก็เป็นสิทธิของแต่ละพรรค ไม่ใช่เรื่องที่บังคับว่าทุกคนต้องจัด ยกเว้นถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นภาพรวมของทั้งประเทศอันนั้นควรจะต้องจัด เพราะเป็นเรื่องของภาพรวม

แต่นี่เป็นเพียงเก้าอี้ ส.ส.กทม.เก้าอี้เดียว และจากประสบการณ์ของผม หลายครั้งก็ไม่ได้มีใครจัดปราศรัยกันเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะในพื้นที่นั้นๆ อีกทั้งมีวิธีสื่อสารหลายวิธี ยิ่งสมัยนี้ที่การสื่อสารมีหลากหลายทำให้ยิ่งสื่อสารได้หลายวิธีมากกว่าเดิม ประเมินว่าไม่จำเป็นต้องจัดปราศรัย

Advertisement

ขณะที่พรรคคู่แข่ง อย่างพรรค พท. “สรวงศ์ เทียนทอง” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. พรรค พท. บอกว่า “ถ้าถามถึงความมั่นใจ ก็ค่อนข้างมั่นใจ แต่ว่าไม่ประมาทในทุกกรณี เช่น กรณีเรื่องของกลโกงต่างๆ เพราะมีรายงานมาว่า มีการเดินแจกตามที่จดชื่อไว้แล้ว ทั้งนี้ ต้องพูดกันด้วยความจริงว่า การที่จะให้ประชาชนไปแจ้งกันเอง เขาคงไม่ทำ เพราะการเลือกตั้งเมื่อผ่านไปพวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนนั้น ดังนั้นการที่จะไปแจ้งข้อกล่าวหากันเองเป็นไปได้ยากมาก แล้วหลักเกณฑ์ของ กกต.ที่ออกมา ต้องมีโน่นนี่ ค่อนข้างจะลำบากพอสมควร ทั้งนี้ เท่าที่เดินสัมผัสมาในระยะเวลา 1 เดือน บ้านมีรั้วไม่มีใครสามารถเข้าถึงได้มาก แล้วการซื้อสิทธิขายเสียงเท่าที่สัมผัสชาวบ้านก็พูดกับพวกผมว่า ให้เอาเงินออกมาเถอะ ยังไงก็ไม่ให้ ดังนั้นอะไรก็แล้วแต่ เราอยากดัดนิสัยคนที่คิดว่าจะสามารถซื้อประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสุดท้ายนี้เรามีแคมเปญ จะเริ่มเห็นป้ายของสุรชาติว่า เลือกให้เราชนะขาด เพราะสิ่งที่กลัวตอนนี้คือกลัวว่าพี่น้องประชาชนชั่งใจระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเองว่าจะเลือกใครดี ก็อยากเอาแคมเปญนี้ออกมาว่า ขอเถอะ การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่การเลือกตั้งใหญ่ มันเป็นการชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนมากเอาอย่างไร ตัวพรรค และตัวบุคคลสำคัญมากที่จะประกาศให้รัฐบาลได้ทราบว่า ประชาชนไม่ไหวแล้ว จึงอยากเน้นย้ำว่า อยากให้ท่านเลือกคน และพรรคที่มีโอกาสชนะ วันนี้มั่นใจชัยชนะของสุรชาติระดับ 100% เพียงแต่เราต้องปิดทุกประตูที่จะป้องกันการโกงให้ได้”

อีกหนึ่งพรรคฝ่ายค้าน “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค ก.ก. วิเคราะห์ กระแสความนิยมของ เพชร-กรุณพล ว่า จากการที่ทีมงานของพรรคประเมินความนิยมช่วงโค้งสุดท้าย นายกรุณพลได้รับการตอบรับมากขึ้นและดีขึ้น จนถึงตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจและคิดว่าพรรค พปชร.ไม่น่าจะชนะการเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ได้ จึงจะเหลือการแข่งกันของพรรค ก.ก. และพรรค พท.เท่านั้น มาจากปัจจัยที่ถูกซ้ำด้วยความขัดแย้งภายในพรรค พปชร. รวมถึงปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลที่สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน

ขณะที่ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้า และผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.หลักสี่ ประเมินว่า ตอนที่ลงพื้นที่รู้สึกว่าคะแนนจะตัดกันแค่ 2 พรรค คือ ไม่ผมก็นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรค พท. เนื่องจากทั้งคู่ต่างทำงานพื้นที่กันมานาน 17 ปีเพราะนายสุรชาติอาจคุ้นเคยในเขตหลักสี่ ส่วนผมคุ้นเคยในเขตจตุจักร อย่างไรก็ตาม ต้องรอตัดสินในวันที่ 30 มกราคมนี้ เพื่อดูว่าประชาชนเขาวัดกันอย่างไร เนื่องจากมีพรรคการเมืองแนวใหม่เกิดขึ้น 2-3 พรรค เพียงแค่เขายังไม่มีตัวแทนส่งเข้าสมัคร แต่พรรคกล้าส่งตนลงพื้นที่ครั้งแรก

ส่วนกรณีที่มีผู้ใหญ่ช่วยลงพื้นที่ด้วยคาดว่าจะเป็นการเพิ่มคะแนนหรือไม่นั้น ก็มีหลายคนช่วยลงพื้นที่ด้วย โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เดินเหมือนปี 2550 ได้มีคนเก่าคนแก่หลายคนที่อยู่ต่างพรรคก็มาช่วยด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูผลจากประชาชนเป็นตัวชี้วัด คิดว่านาทีนี้ต้องผนึกกำลังสู้ ทั้งนี้ ขณะที่ลงพื้นที่ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีทั้งจากพื้นที่หลักสี่และจตุจักร

สำหรับประเด็นที่มีการมองว่าจะได้รับคะแนนเสียงจากฐานเสียงของคนที่สนับสนุนพรรค ปชป. มาเลือกด้วยนั้นเนื่องจากเคยเป็นอดีต ส.ส.ของพรรค ปชป. “อรรถวิชช์” มองว่า จริงๆ ก็ได้จากหลายพรรค และคาดว่าจะได้ฐานเสียงของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะดูจากผลคะแนนที่ จ.ชุมพร เห็นได้ชัดเลยว่าคะแนนของพรรค ก.ก.ลดลงเยอะ และคิดว่าคนกรุงเทพมหานคร คงอยากเห็นการเมืองใหม่ ทั้งนี้ หากมองดูฐานเสียงคิดว่าเราคงไปได้ เชื่อมั่นคนกรุงเทพฯ เพราะคนกรุงเทพฯ ได้ชี้วัดเทรนด์การเมืองใหม่มาหลายรอบแล้ว และไม่มีความกังวลที่พื้นที่เดิมเป็นของพรรค พปชร. เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้ลงเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา แต่ประชาชนก็ยังจำผลงานได้ ทั้งนี้ มั่นใจและไม่เคยแพ้ในชีวิตการเมืองในเขตนี้มาก่อน

น่าสนใจว่าผล “แพ้-ชนะ” และคะแนนของแต่ละพรรคในศึกเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม. ครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนถึงเรตติ้งของรัฐบาล

โดยเฉพาะพรรค พปชร.ที่ชู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจะส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งต่อไปของทุกพรรคอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image