เพื่อไทย แฉดีลใหญ่ถอนฟ้องคดีเหมืองทองอัครา 31 ม.ค.นี้ ประเคน 4 แสนไร่ให้ขุดทอง

เพื่อไทย แฉดีลใหญ่ถอนฟ้องคดีเหมืองทองอัครา 31 ม.ค.นี้ ประเคน 4 แสนไร่ให้ขุดทอง ขณะที่ ‘วิษณุ’ ชี้ไร้ปัญหา “คิงส์เกต” ทำสัมปทานพื้นที่เดิมหากทำถูกต้อง

เมื่อวันที่ 26 มกราคม น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึง ความคืบหน้าคดีพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับราชอาณาจักรไทย ที่ล่าสุดบริษัทคิงส์เกตฯแจ้งว่า รัฐบาลไทยอนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่ 4 แปลงให้กับบริษัทและเปิดทางให้กลับมาทำเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ว่า การที่รัฐบาลยอมให้บริษัทอัคราฯกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการเท่ากับเป็นการก้มหน้ายอมรับว่าการใช้มาตรา 44 ปิดเหมืองแร่ทองคำเป็นการกระทำผิดต่อบริษัทคิงส์เกตฯ และถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดีจึงยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อเปิดทางเจรจาให้มีการถอนฟ้อง โดยที่ผ่านมาคดีเหมืองทองอัคราถูกเลื่อนการออกคำชี้ขาดถึง 3 ครั้ง ซึ่งล่าสุดถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.65 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกฎของ UNCITRAL ซึ่งเป็นกฎที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการตัดสินคดี คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกมาได้ 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 คือ ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องขอ หรือเรียกว่าทั้งสองฝ่ายประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งอาจเกิดผลใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก บริษัทคิงส์เกตฯ ถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และ รูปแบบที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่จะนำข้อตกลงประนีประนอมยอมความของคู่กรณีมาบันทึกไว้โดยไม่มีความเห็นของอนุญาโตตุลาการประกอบ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามจะสามารถนำบันทึกข้อตกลงนั้นไปบังคับคดีต่อไปได้ แนวทางที่ 2 คือ ออกคำชี้ขาดแค่บางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ออกคำชี้ขาดในภายหลัง และ แนวทางที่ 3 คือ ออกคำชี้ขาดของข้อพิพาททั้งหมด

“รัฐบาลไทยกำลังมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตเพื่อแลกกับการถอนฟ้องใช่หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ และยังเร่งอนุมัติสัญญาเช่าอีก 4 แปลงเพื่อเปิดทางให้เหมืองทองอัคราสามารถกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการนำทรัพย์สมบัติชาติไปมัดจำก่อนตามที่ได้เจรจาไว้ และยังมีพื้นที่อีกเกือบ 600,000 ไร่ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติมหลังจากนี้ ขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยกันจับตาผลการตัดสินคดีเหมืองทองอัคราในวันที่ 31 ม.ค.นี้” น.ส.จิราพรกล่าว

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด บริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียว่ารัฐบาลไทยได้อนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงให้กับบริษัทเพื่อให้กลับมาเปิดเหมืองแร่ในไทยรวมทั้งเหมืองแร่ชาตรีที่ยุติการดำเนินงานไปตั้งแต่ปี 2560 โดยบริษัทเตรียมที่จะกลับมาดำเนินการในพื้นที่เดิม ว่า ในเรื่องนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด แต่คงเป็นการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงสามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนและอำนาจที่ที่มีอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการรายงานให้ตนเองและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบความคืบหน้าทุกๆ 3 เดือน

Advertisement

เมื่อถามว่า การที่บริษัทคิงส์เกตฯสามารถกลับมาทำเหมืองแร่ในที่เดิม คดีข้อพิพาทที่อยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯจะยุติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบแน่ชัด เพียงแต่ชี้แจงได้ว่าตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่มีข้อกำหนดว่ากรณีที่ผู้ประกอบการทำไม่ถูกก็ให้มาทำใหม่ให้ถูกต้องแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมี 4 ข้อที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ ข้อกฎหมายในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านที่ดิน และด้านมวลชน ชุมชน ถ้าทำถูกต้องตามเงื่อนไขเหล่านี้การกลับเข้ามาทำในพื้นที่เดิมสามารถทำได้ไม่มีปัญหา

“เหตุการณ์ที่ผ่านมารัฐบาล คสช.ไม่ได้ไปยกเลิก ไม่ได้ไปยึด เพียงแต่ให้หยุดไว้ก่อน และไม่ต่ออายุให้คือให้สิ้นสุด ณ ปีนั้น เพราะตอนนั้นกฎหมายแร่ฉบับใหม่ยังไม่ออก เมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ให้มาขออนุญาตได้เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้ แต่เขาได้ทำอย่างถูกต้องหรือยังผมไม่รู้ เพราะเป็นขั้นตอนที่อยู่ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ผู้เกี่ยวข้องต้องไปดูแล้วรายงานขึ้นมาตามวงรอบ ” นายวิษณุกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image