ย้อน 3 ทศวรรษ ปมร้าว‘ไทย-ซาอุฯ’

ย้อน 3 ทศวรรษ ปมร้าว‘ไทย-ซาอุฯ’

เป็นเวลากว่า 32 ปี ที่ซาอุดีอาระเบียตัดขาดความสัมพันธ์กับประเทศไทย จากเหตุการณ์ลอบสังหารนักการทูต อุ้มหาย นักธุรกิจชาวซาอุฯ และคดีเพชรซาอุฯ

แม้เรื่องราวทั้งหมดจะยังไม่คลี่คลาย แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

การไปเยือนซาอุดีอาระเบียของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ เป็นที่จับตามองทั้งในไทยและเวทีโลก เพราะเป็นการกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ 2 ประเทศอีกครั้ง

ย้อนไปถึงเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯร้าวฉาน เริ่มจากวันที่ 4 มกราคม 2532 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย เสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ตำรวจสืบสวนสอบสวนมุ่งไปขบวนการผลประโยชน์ส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ เพราะเป็นยุคคนไทยไปขุดทองซาอุฯ แต่คดีไม่คืบ

Advertisement

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง เสียชีวิตรวม 3 ราย ลักษณะลอบยิงเหมือนกรณีแรก เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม.

จากแนวทางการสืบสวนของบางหน่วยงานรัฐ พบความเชื่อมโยงคดีกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ มีกลุ่มก่อการร้ายศัตรูของซาอุฯ ตามลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตอีกหลายประเทศในห้วงเวลาเดียวกันทั่วโลก อีกทั้งยังใช้ปืน 6.35 ซึ่งใช้ในหมู่สายลับ แต่พนักงานสอบสวนให้น้ำหนัก “ปม” ผลประโยชน์การส่งแรงงาน

จาก “ปม” คดีนี้ ตำรวจมองว่าเป็นขบวนการเกี่ยวกับการค้าแรงงาน จึงเล็งเป้าไปยังนักธุรกิจซาอุฯรายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งแรงงาน ประกอบกับมีที่พักใกล้กับจุดสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตทั้ง 4 ศพ

Advertisement

จนเป็นที่มาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2533 นายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ สมาชิกราชวงศ์อัลสะอูด มีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาล หายตัวไปอย่างปริศนาจากลานจอดรถโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ท่ามกลางกระแสข่าวว่าตำรวจกลุ่มหนึ่งอุ้มหายไป ทำให้ทางการซาอุฯโกรธมาก ส่งผลให้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่นั้น รวมไปถึงออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย

ต่อมาในปี 2535 ทางการไทยพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงรื้อคดีนายอัลรูไวลี่ขึ้นมาอีกครั้ง มีการดำเนินคดีกับนายตำรวจชุดหนึ่ง โดยกล่าวหานำตัวนายอัลรูไวลี่ไปสอบเค้นข้อมูล แต่เกิดความผิดพลาดจนเสียชีวิตแล้วทำลายศพ ท้ายที่สุดคดีนี้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

กระทั่งปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รื้อคดีขึ้นมาด้วยหลักฐานแหวนพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลี่ นำไปสู่การสั่งฟ้องนายตำรวจชุดเดิมอีกครั้ง ทำให้หลายฝ่ายมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ อาจกลับมาดีขึ้น

แต่ท้ายที่สุดศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา พิพากษายกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไร้น้ำหนักความน่าเชื่อถือ

อีกชนวนหนึ่งที่เข้ามาซ้ำเติมความสัมพันธ์ 2 ประเทศให้เลวร้ายลง นั่นคือ ระหว่างที่คดีฆ่าเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯยังไม่คลี่คลายนั้น ราวเดือนสิงหาคม 2532 นายเกรียงไกร เตชะโม่ง แรงงานรับจ้างทำความสะอาดพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุลอาซิส ได้โจรกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของเจ้าชายไฟซาล น้ำหนักกว่า 91 กิโลกรัม ในจำนวนนั้นคือเพชรสีน้ำเงิน หรือ “บลูไดมอนด์” ซุกซ่อนใส่ถุงกระสอบขนาดใหญ่ไปกับเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว ส่งกลับมาประเทศไทยผ่านบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ หลังก่อเหตุเสร็จนายเกรียงไกรเดินทางกลับบ้านเกิดทันทีก่อนหมดสัญญาจ้าง

ต่อมาทางการซาอุฯ ได้ติดต่อทางการไทยให้หาตัวผู้ก่อเหตุและขอให้ไทยติดตามพร้อมส่งคืนของมีค่าทั้งหมดที่ถูกขโมยไป โดยเฉพาะ “บลูไดมอนด์” ซึ่งเป็นเพชรประจำราชวงศ์
จากนั้นในปี 2533 พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ

ขณะเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจในขณะนั้น ได้สืบสวนจับกุมนายเกรียงไกรได้สำเร็จ แล้วให้การรับสารภาพ ศาลสั่งถูกจำคุก 3 ปี และใช้เวลาไม่นานนัก พล.ต.ท.ชลอไปตามยึดเพชรจากร้านรับซื้อนำส่งคืนให้กับทางการซาอุฯ

แต่นั่นกลับยิ่งสร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการซาอุฯ เมื่อพบว่าของกลางกว่าครึ่งเป็นของปลอม และที่สำคัญไม่มี “บลูไดมอนด์”

เดือนกรกฎาคม 2537 พล.ต.ท.ชลอยังคงติดตามเพชรที่หายไปอีกครั้ง พุ่งเป้าไปที่นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าผู้รับซื้อเพชรจากนายเกรียงไกร จนเกิดการลักพาตัวนางดาราวดีและ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและลูกชายของนายสันติ หวังบีบบังคับให้นายสันติบอกที่ซ่อนของบลูไดมอนด์ จึงลักพาตัวไปจากปากซอยบ้านพักย่านตลิ่งชันกว่า 1 เดือน ก่อนที่นางดาราวดีและ ด.ช.เสรี 2 แม่ลูกจะกลายเป็นศพ โดยเป็นการฆ่าอำพรางว่าเป็นคดีอุบัติเหตุรถชนที่แก่งคอย จ.สระบุรี

เดือนกันยายน 2537 พล.ต.ท.ชลอถูกจับกุมพร้อมพวก 9 คน และอยู่ในเรือนจำนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระทั่งวันที่ 27 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษ พล.ต.ท.ชลอจำคุกตลอดชีวิต ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน และในปี 2552 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่พล.ต.ท.ชลอได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 ครั้ง ลดหย่อนโทษ จำคุกนาน 19 ปี พร้อมถูกถอดยศและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี 2553

ปี 2556 พล.ต.ท.ชลอมีคุณสมบัติพักการลงโทษ ตรงตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ คือเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษ หรือ 18 ปี ในโทษจำคุกตลอดชีวิต และยังเข้าเงื่อนไขพิเศษ เป็นนักโทษชราอายุเกิน 70 ปี และมีอาการป่วย ได้รับการพักโทษ ออกจากเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556

ที่ผ่านมา รัฐบาลทุกสมัยพยายามจะฟื้นความสัมพันธ์กับทางซาอุฯ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่มีการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ มีการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ผู้นำของไทย กับเจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกฯราชอาณาจักรบาห์เรน และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น

จากนั้นวันที่ 28 มิถุนายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บินอับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำ จี20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่ามีหารือถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 ฝ่าย ก็มีการหารือกันเป็นระยะ และเมื่อเดือนมกราคม 2563 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปเยือนซาอุฯตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย

กระทั่งนำมาสู่การเยือนซาอุฯอย่างเป็นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ เพื่อเข้าเฝ้าและหารือกับเจ้าชายมุฮัมมัด บินซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565
ผลการหารือกับทั้งไทยและซาอุฯ

ปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ และมีความร่วมมือกันในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว ด้านแรงงาน ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม

จากนี้จะมีการตั้งเอกอัครราชทูตประจำระหว่างกัน และจะเปิดให้แรงงานไทยเข้าไปทำงานในซาอุฯต่อไป อีกทั้งสายการบินซาอุฯจะกลับมาเปิดทำการบินมาไทยโดยตรงอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้

แม้วันนี้ไทยจะยังไม่สามารถตอบคำถามทางการซาอุฯได้ว่า ใครฆ่านักการทูตและอุ้มหายอัลรูไวลี่ รวมทั้งบลูไดมอนด์ไปอยู่ที่ไหน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวแสดงความเสียใจยิ่งต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2532-2533 ซึ่งเป็นที่มาของความสัมพันธ์ร้าวฉานระหว่างกัน พร้อมระบุว่าไทยพยายามอย่างที่สุดแล้วในการสะสางกรณีต่างๆ และยืนยันว่าหากมีหลักฐานใหม่ก็พร้อมที่จะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณา

ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยและเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซาอุดีอาระเบีย ที่ฟื้นความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้กลับคืนมา

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image