กกต.เห็นชอบ กม.กำหนดโทษประชามติแล้ว เตรียมเสนอรัฐบาล 10 ก.พ.นี้

“กกต.”จ่อเสนอความเห็นต่อ กรธ.สัปดาห์หน้า พร้อมเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กำหนดโทษประชามติ เตรียมเสนอรัฐบาล 10 ก.พ.นี้

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคระกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต. แถลงผลการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.มีมติให้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของ กกต.เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีประเด็นหลักๆ คือ 1.บทบัญญัติตามมาตรา 99 ที่มีการกำหนดว่าหากมีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ให้ กกต.มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในหน่วยที่มีปัญหาได้ กกต.เห็นว่าการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นจะต้องมีหลักเกณฑ์ วิธีการรองรับ จึงควรเพิ่มข้อความว่าให้ใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ด้วย 2.ขอให้เพิ่มอำนาจ กกต.ในการควบคุม สั่งการข้าราชการในกรณีที่ข้าราชการได้กระทำการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือการที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐช่วยพรรคการเมืองหาเสียงนั้น ให้ กกต.มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการเหล่านั้นหยุดพฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งสามารถสั่งให้ข้าราชการออกนอกพื้นที่เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตได้ 3.ขอให้บัญญัติข้อความกรณีการวินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของ กกต. ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เคยกำหนดไว้ 4.ขอให้ กรธ.เพิ่มข้อความในมาตรา 80 เพื่อเปิดช่องให้มีการเลือกตั้งรูปแบบอื่นในอนาคตด้วย โดยควรเพิ่มข้อความว่า ให้มีการเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งและรูปแบบอื่น ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เคยกำหนดไว้ 5.การจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ควรกำหนดระยะเวลาว่าสภาจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 180 วัน จึงให้มีการจัดเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง เพราะหากไม่มีการกำหนดหากมีตำแหน่งว่าง และสภามีอายุเหลือเพียง 1 เดือน กกต.ก็จะต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งแทน ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ 6.ขอให้ กกต.มีอำนาจในการสั่งเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง จนถึงหลังการประกาศผลการเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี

นายธนิศร์กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ กกต.เตรียมเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กรธ. อาทิ การให้อำนาจ กกต.ในการเรียกบุคคลมาให้ข้อมูล การเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ และสามารถบันทึกภาพ และภาพเคลื่อนไหวในขั้นตอนการไต่สวนของ กกต.ได้ รวมทั้งการดำเนินคดีเลือกตั้งขอให้ยึดสำนวนการไต่สวนของ กกต.เป็นหลัก และให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ที่ยังคงค้างชำระค่าเสียหายการจัดเลือกตั้ง จากกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบแดง) แม้คดีจะยังไม่สิ้นสุด เป็นต้น ทั้งนี้ กกต.จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อ กรธ.ภายในสัปดาห์หน้า

นายธนิศร์กล่าวอีกว่า กกต.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ใช้ควบคุมการออกเสียงประชามติและมีการกำหนดบทลงโทษในการทำประชามติ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหามาจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2550 และมีการพิจารณาเพิ่มเติมกำหนดความผิดและบทลงโทษที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับยังไม่มีการระบุไว้ด้วย โดยจะมีการนำเสนอต่อรัฐบาลในการหารือร่วมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการหารือร่วมกันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ด้วย

ADVERTISMENT

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image