‘ปริญญ์’ กระทุ้งรัฐบาล อย่าคิดสั้น รีดภาษีคริปโท จนนักลงทุนหอบเงินไป ตปท.

‘ปริญญ์’ วอน รัฐบาลหนุน การเงินยุคใหม่ กระทุ้งอย่าคิดสั้น รีดภาษีคริปโท จนนักลงทุนหอบเงินไปตปท.

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีคริปโท โดยให้นำผลขาดทุนมาลบกับกำไรในปีภาษีเดียวกัน จะเป็นผลดีกับผู้ลงทุนหรือไม่ ว่า กรมสรรพากรมีเวลาให้เตรียมตัวประมาณ 3 ปี ก่อนที่จะออกมาตรการมาบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ตนขอชมกรมสรรพากรที่ยังรับฟังคำแนะนำและข้อกังวลของนักลงทุนระดับหนึ่ง ที่ยอมให้หักลบกำไรขาดทุนได้ และไม่หัก ณ ที่จ่าย แต่ทั้งนี้ตนอยากเห็นรัฐบาลและกระทรวงการคลัง มีนโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่อย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่ทำกับนักลงทุนตอนนี้ถือว่าไม่เป็นการสนับสนุน รัฐบาลควรช่วยลดหย่อนภาษี เพื่อเพิ่มเวลาและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการคนไทย นักลงทุนไทย และผู้ประกอบการในสตาร์ตอัพ หรือผู้ที่จะลงทุนผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอลสามารถทำได้เต็มที่ก่อน จากนั้นเมื่อวัฏจักรเติบโตเต็มที่แล้ว ในอีก 5 ปีข้างหน้าไทย อาจจะมีอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ใหญ่มากและสามารถเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำ ยกตัวอย่างบริษัทบิทคับ ที่เติบโตมาได้ใหญ่ขนาดนี้และได้เสียภาษีนิติบุคคลกว่าพันล้านบาทให้กับรัฐบาล หากไม่มาเก็บเล็กเก็บน้อย อีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทบิทคับ อาจจะเสียภาษีให้รัฐบาลปีละหลายหมื่นล้านบาทได้

นายปริญญ์​กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการสนับสนุนอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ เช่น สตาร์ตอัพ และเอสเอ็มอี ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากจากวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ จะดีกว่า เพื่อให้ไทยมีโอกาสได้เป็น Digital Asset Hub หรือฮับของการเงินยุคใหม่ เพราะไทยได้พลาดโอกาสการเป็น Financial Center หรือศูนย์กลางทางการเงิน ไปให้กับสิงคโปร์และฮ่องกง ไปแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่มา 48 ปี ได้รับการยกเว้นภาษีกว่า 30 ปี รัฐบาลและกรมสรรพากรต้องให้ความเป็นธรรมในส่วนนี้ด้วย

เมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงออกนโยบายมาเช่นนี้ นายปริญญ์กล่าวว่า ก็แปลได้ชัดเจนว่ากระทรวงการคลัง ไม่ได้สนับสนุนการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิตอล หรือการซื้อขายโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ทั้งนี้อาจจะมองอีกทางได้ว่า รัฐบาลไม่เข้าใจรายละเอียดทั้งหมดหรือไม่ว่าศักยภาพของการเทรดคริปโท เป็นมากกว่าการเก็งกำไร ยกตัวอย่างเช่น การระดมทุนที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกและเป็นธรรม ปัจจุบันหากมีการระดมทุนในแพลตฟอร์มดิจิตอล กรมสรรพากรจะตีความว่านี่คือเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตรงข้ามกับการระดมทุนในตลาดหุ้นหรือการออกหุ้นกู้ที่ถูกยกเว้นภาษีเงินได้ จึงไม่ต้องเสียภาษี นี่จึงเป็นจุดด้อยและจุดเสียเปรียบอันดับหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการระดมทุนในต่างประเทศแทน นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตีความคริปโท และโทเคนฯ ว่า เป็นสินค้า หากขายครบ 1.8 ล้านบาทต่อปีจะต้องจ่ายภาษี แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องจ่ายให้กับใคร เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้กำหนดผู้ซื้อหรือผู้ขายอย่างชัดเจน จึงต้องปรับแก้นิยามของคำว่าคริปโท

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายเช่นนี้ต่อไปจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและระบบเศรษฐกิจของไทยในอนาคตอย่างไร นายปริญญ์กล่าวว่า ตนคิดว่าจะทำให้เกิดการเสียโอกาส ทั้งนี้ ไทยยังไม่ได้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ จึงยังไม่กระทบในเชิงลบอย่างเต็มที่ แต่อาจจะมีนักลงทุนบางคนไปเทรดในกระดานต่างประเทศมากขึ้น ทำให้บริษัทของคนไทยเสียเปรียบ สำหรับผู้ประกอบการหลายคนที่มีความกลัวจะถูกหักภาษีในขั้นตอนของการระดมทุน ก็จะย้ายไประดมทุนในต่างประเทศ ทำให้เสียบริษัทดีๆ และเกิดสมองไหลไปต่างประเทศ หากเก็บบริษัทเหล่านี้ไว้ให้อยู่ลงทุนในประเทศไทย ในระยะยาวก็จะเสียภาษีให้กับไทยตามกฎหมายทุกอย่าง เราคงไม่อยากเห็นบริษัทชั้นนำด้านฟินเทค ไปจดทะเบียนในต่างประเทศและเสียภาษีให้กับต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image