‘เพื่อไทย’ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ประมง 6 ฉบับ แก้เงื่อนการเงิน กัน ‘บิ๊กตู่’ ปัดตก ชี้เป็นปัญหาใหญ่ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศปีละหลายแสนล้าน รอจับตาท่าทีรัฐบาล
เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรค นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) โดย น.ส.ธีรรัตน์แถลงว่า จากการที่พรรคเพื่อไทยทำงานประสานร่วมกับสมาคมชาวประมงแห่งประเทศไทยในการรับเรื่องร้องเรียนอุปสรรคปัญหาที่กลุ่มชาวประมงได้รับในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาจากประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ของรัฐบาล ทำให้ชาวประมงเกิดอุปสรรคในการทำมาหากิน และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมากมาย สิ่งที่ชาวประมงได้ดำเนินการแล้วคือการยื่นข้อร้องเรียนและการแก้ไขกฎหมายไปถึงรัฐบาล แต่ไม่ได้การตอบรับหรือความคืบหน้าใดๆ อ้างเพียงว่ากฎหมายยังไม่ได้รับการรับรองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน สมาคมประมงฯจึงนำเรื่องมาร้องเรียนกับพรรค พท. และนำมาซึ่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เราได้จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวประมง ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนเพราะมีพี่น้องชาวประมงมากกว่า 5 หมื่นครัวเรือนที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่เราเสนอเข้าสู่สภาแล้ว เหลือแต่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม
ด้านนายจุลพันธ์กล่าวว่า ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์รับตำแหน่งนายกฯในช่วงปี 2557-2558 เครือข่ายประมงของไทยถูกแบนจากอียู โดยไอยูยู เนื่องจากมีการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบของยุโรป ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นก็หาหนทางแก้ไข แต่ไม่ได้ดูอย่างรอบคอบคือออกเป็น พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 ผลกระทบ คือชาวประมงเสียหายยับเยินตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน คิดเป็นตัวเลขไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท
นายจุลพันธ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจึงได้หารือกับสมาคมชาวประมง 22 จังหวัด จนได้ข้อสรุป และเราได้เสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 6 ฉบับ โดยมี 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก เรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับชาวประมง เช่น ไม่ติดเอไอเอส การซื้อเรือคืน การขยายเวลาประมง ขั้นตอนที่สอง คือการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งร่างทั้ง 6 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 พ.ร.บ.เกี่ยวกับการประมงที่เสนอโดยพรรค พท. เป็นการแก้ไขทั้งฉบับแบบครบวงจร ซึ่งในนั้นมีเรื่องของการเงินอยู่ด้วย เราไม่มั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร จึงได้ยื่นประกบไปอีก 5 ฉบับ
“ฉบับที่ 2 แก้ไขทั้งฉบับ แต่ตัดเรื่องการเงินออก ฉบับที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา ฉบับที่ 4-6 เป็นเรื่องการเงินที่เราดึงแยกออกมาเฉพาะแต่ละส่วน ส่วนแรกคือปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยเสนอให้ตั้งกรมประมงทะเลขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้คนกลุ่มนี้ ส่วนที่ 2 พ.ร.บ.ว่าด้วยกองทุนการประมง และส่วนที่ 3 พ.ร.บ.ที่จะสร้างให้มีสภาการประมงแห่งชาติขึ้นมา อยากถามความจริงใจไปยังรัฐบาลว่าปัญหาของชาวประมงเป็นปัญหาใหญ่ สามารถนำเม็ดเข้าสู่ประเทศได้ทีละหลายแสนล้านบาท เมื่อ พ.ร.บ.ทั้ง 6 ฉบับเข้าสู่สภาแล้วเราจะรอดูว่ารัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร” นายจุลพันธ์กล่าว