วิเคราะห์ : กลิ่นอาย ยุบสภา รุนแรง เข้มข้น กดดัน บิ๊กตู่

แม้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะมีวาระยาวถึงปี 2566 แต่สถานการณ์ขณะนี้ส่งสัญญาณให้คิดได้ว่านับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาจตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง

พล.อ.ประยุทธ์ อาจตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก่อนครบเทอมรัฐบาล

ประการแรก ยุบสภาประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ยุบสภาก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น เพราะหากมีการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐบาลจะยุบสภาไม่ได้

Advertisement

หากผลการโหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เป็นคุณต่อรัฐบาล ย่อมทำให้เครดิตของรัฐบาลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีปัญหา

ทั้งนี้ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ประเมินว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปีสุดท้ายก่อนรัฐบาลครบเทอมนั้น ทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยง

เสี่ยงจากกระแสสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมาระยะหนึ่งแล้ว

Advertisement

เสี่ยงจากเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ที่เกิดขึ้นชัดแจ้งขึ้นหลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ ส.ส.อีก 20 คน ต้องพ้นจากพรรคพลังประชารัฐเนื่องจากมติขับ

อาจตัดสินใจยุบสภาก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ประการที่สอง ถ้าไม่ยุบก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจตัดสินใจยุบสภาในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่านายกรัฐมนตรีอยู่ครบ 8 ปีแล้ว สมควรต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายกำหนดหรือไม่

และประการสุดท้าย คือ ยุบสภาในช่วงปลายปี คือ ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งแล้วได้ผลการเลือกตั้งก่อนที่วุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ให้ 5 ปี

ดังนั้น ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกยุบสภาในช่วงต้นปี 2565 หรือ ปลายปี 2565

มีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภาก่อนรัฐบาลจะครบเทอม

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาการเมือง

ในด้านเสียงในสภา พล.อ.ประยุทธ์ได้ติดต่อกับบรรดาแกนนำ ส.ส. ที่ตัวเองเชื่อว่าอยู่ข้างฝ่ายตัวเอง ให้ช่วยติดต่อกับ ส.ส. หรือพรรคการเมืองที่จะมา “เติมเสียง” ในสภา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว หากประสบความสำเร็จ อาจจะต้องปรับ ครม. แล้วประกาศโรดแมปการเลือกตั้งทั่วไปให้สังคมทราบ

ช่วยให้รัฐบาลอยู่ได้ โดยรัฐบาลอ้างว่าประเทศจำเป็นต้องมีผู้บริหารเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงขณะนี้ แนวทางการ “เติมเสียง” เริ่มปรากฏเค้าความล้มเหลว เพราะในห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังจะหมดวาระลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่น่าจะมีพรรคการเมืองหรือ ส.ส. ที่กล้าแสดงอะไรที่จะเป็นการสร้างบาดแผลให้ตัวเองก่อนการเลือกตั้ง

ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดจากข้อครหาเรื่อง “งูเห่า” หรือการแปรเปลี่ยนอุดมการณ์ไปเพราะเก้าอี้รัฐมนตรี

ณ วันนี้สภาจึงเกิดปรากฎการณ์ “ล่มซ้ำซาก”

ทั้งพรรคการเมือง และ ส.ส. ทำใจรอคอยเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

รอคอยวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา

รอการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังคาดการณ์เกี่ยวกับระยะเวลาการเลือกตั้งไปต่างๆ นานา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ประกาศจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดใหม่

กกต.ใช้เกณฑ์จำนวนราษฎรทั้งประเทศ 66,171,439 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2564 มาเป็นตัวตั้ง และหาค่าเฉลี่ยเพื่อนำไปสู่จำนวน ส.ส.

พบว่า จำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน

จังหวัดที่มี ส.ส.มากสุด 33 คน คือ กรุงเทพมหานคร ส่วนอันดับสอง คือ นครราชสีมา ที่มีจำนวน ส.ส. 16 คน ตามมาด้วย จังหวัดที่มี ส.ส. 11 คน คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี

ชลบุรี บุรีรัมย์ มี ส.ส. ได้ 10 คน ส่วนนครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลา อุดรธานี มี ส.ส.ได้ 9 คน ขณะที่ เชียงราย นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุรินทร์ มี ส.ส. 8 คน เป็นต้น

การเตรียมพร้อมของ กกต.เช่นนี้ ทำให้ความเชื่อเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในปี 2565 ได้รับความสนใจ

มีโอกาสที่ปีนี้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ไม่เพียงแค่การเคลื่อนไหวของ กกต. เท่านั้น ดูเหมือนรัฐบาล และพรรคการเมืองก็มีความเคลื่อนไหว

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกแพคเกจใหญ่เพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ทั้งเริ่มต้นใช้โครงการ “คนละครึ่ง เฟส 4” หัวละ 1,200 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” จำนวน 2 ล้านสิทธิ เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์

โครงการ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” เริ่มต้นเปิดรับสมัครไตรมาสที่ 3 ประกาศผลและเริ่มใช้ได้ภายในไตรมาสที่ 4 โดยปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือก “คนจน” กันใหม่ แต่ตั้งเป้ารับมือกับ “คนจน” ได้ถึง 20 ล้านคน

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานยังเสนอปรับสูตรกองทุนชราภาพ และให้ลดการจัดเก็บเงินตามมาตรา 40 เพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบมากขึ้น

ส่วนพรรคการเมืองได้ปรากฏพรรคใหม่ขึ้นมาเป็นระยะๆ

ก่อนหน้านี้ นายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จับมือกับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตั้งพรรคใหม่ชื่อ “สร้างอนาคตไทย”

ก่อนการเปิดตัวได้มี ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐลาออกจากพรรคเดิมมาเข้าสังกัดพรรคใหม่ และมีบรรดาผู้มีชื่อเสียงเดินขึ้นเวทีร่วมกิจกรรมของ “สร้างอนาคตไทย”

นอกจากนี้ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐเพื่อไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส และ ส.ส. 17 คน รอให้การต้อนรับอยู่แล้ว

ความเคลื่อนไหวของ กกต. รัฐบาล และพรรคการเมือง สอดคล้องกัน

นั่นคือพร้อมเลือกตั้งใหม่

ขณะนี้เหลือเพียงกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายลูกที่แก้ไขหลังจากรัฐธรรมนูญได้แก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 400 เขต มี ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 100 คน

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ หมดสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ และมีกำหนดส่งให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาก่อนส่งให้รัฐสภาดำเนินการต่อ

คาดหมายกันว่า การพิจารณาจะมีขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมนี้

และหลังจากร่าง พ.ร.ป. 2 ฉบับประกาศใช้

การเมืองไทยก็เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

เมื่อถึงวันนั้น จะเกิดกระแสกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกช่วงเวลาใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เป็นสถานการณ์ที่กดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่กดดันให้เลือกตั้งใหม่

สถานการณ์ที่ตอกย้ำว่าถึงเวลายุบสภา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image