นานาทรรศนะ มองนัยยะ‘สภาล่ม’

หมายเหตุ เป็นความเห็นของนักวิชาการต่อสถานการณ์สภาผู้แทนราษฎรไม่ครบองค์ประชุม หรือสภาล่ม ส่งผลให้ร่างกฎหมายสำคัญและประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไป พร้อมข้อเสนอแนะทางออกของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กรณีสภาล่มที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนว่า ระบบสถาบันทางการเมืองหลักมีลักษณะการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการพยายามที่จะพิจารณาข้อกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ สมมุติว่าหากมีการถกเถียงและให้ตกประเด็นใดประเด็นหนึ่งนั้นยอมรับได้ แต่องค์ประชุมไม่ครบกำลังบอกว่าระบบการเมืองสถาบันหลักถดถอยเป็นอย่างมาก

กรณีนี้มองได้สองส่วนคือ 1.ในตัวของระบบพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่ในสภาคงจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะการแสดงรายชื่อของ ส.ส.หรือฝ่ายของพรรคการเมืองที่ขาดการประชุมให้สาธารณะได้รับทราบซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก 2.คือในกรณีของการพยายามที่จะใช้องค์ประชุมเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เห็นได้ว่าตอนนี้วิปของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอาจจะต้องมีการคุยกัน เพราะทางฝั่งรัฐบาลจะต้องช่วยกันรับผิดชอบในแง่ของสถาบันของรัฐสภา ซึ่งเป็นกลไกในการพิจารณาข้อกฎหมาย หรือนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะมาก โดยเฉพาะปัจจุบันมีทิศทางของวิกฤตโควิด หรือวิกฤตอื่นๆ ที่เข้ามา ฉะนั้นถ้าสถาบันหลักอย่างรัฐสภาไม่สามารถทำงานได้ คิดว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองในภาพรวมด้วย

Advertisement

แนวทางออกตอนนี้คือ ทางวิปของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะต้องร่วมมือกันและร่วมรับผิดชอบให้สภากลายเป็นสภาที่สมเกียรติตามที่ได้ยินและรับทราบมา โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของทั้งรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ให้มีความน่าเชื่อถือ และคิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะต้องแสดงรายชื่อของ ส.ส.ที่ขาดองค์ประชุม เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้ทราบว่า ส.ส.ที่ได้เลือกไป ใครทำหน้าที่ของตนเองได้สมบูรณ์ หรือใครที่ทำหน้าที่ในการเข้าร่วมประชุมสภาซึ่งเป็นหน้าที่หลักที่ไม่สมบูรณ์ ประชาชนต้องได้รับทราบ รวมไปถึงการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ผ่านทางสาธารณะด้วย

การเห็นต่างของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล มองว่าเป็นกรณีของการจะเลือกจุดยืนด้านการเมือง แต่ทั้งนี้ลักษณะของการพยายามที่จะมองสภาล่ม คิดว่าในท้ายที่สุดไม่ใช่ประเด็นของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นพิเศษ แต่กำลังจะกลายเป็นภาระที่ทุกพรรคการเมืองที่มี ส.ส.อยู่ในรัฐสภา หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่พยายามจะรับผิดชอบระบอบประชาธิปไตย ต้องทำให้การประชุมสภาเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง คิดว่าตรงนี้เป็นภาระหลักมากกว่า

ปิยณัฐ สร้อยคำ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Advertisement

สถานการณ์รัฐสภาไทยในปัจจุบันถือว่าเดินทางสู่หมุดหมายสำคัญอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ลงรอยต่อกัน ไม่เพียงแต่แค่ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น แต่ในฝั่งของฝ่ายค้าน พรรคร่วมก็มองต่างมุมเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเร่งสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยให้เกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้น

จากเหตุการณ์สภาล่มครั้งล่าสุด มองว่าเป็นเกมในรัฐสภาที่กำลังโหมไฟการเมืองให้ลุกโชนมากยิ่งขึ้น เพราะทั้ง ส.ส.จากฝั่งรัฐบาล และ ส.ส.จากฝ่ายค้าน ต่างไม่แสดงตนจนทำให้ไม่ครบองค์ประชุม จนไม่สามารถเปิดประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายและนโยบายต่อไปได้ หากมองในมุมเสถียรภาพของฝั่งรัฐบาล การที่ ส.ส.โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำของรัฐบาล ไม่แสดงตนเกือบครึ่งนั้น กำลังบ่งบอกถึงการคุมเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กำลังสั่นคลอน ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทยที่ ส.ส. เกือบทั้งหมดไม่แสดงตน แสดงถึงความพร้อมใจที่จะกดดันรัฐบาลผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังถึงทางตัน

สภาล่มไม่เพียงแต่ทำลายความเชื่อมั่นของฝั่งรัฐบาลเท่านั้น แต่อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนความไม่ลงรอยของฝ่ายค้านเช่นกัน เพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคเพื่อไทยในการล้มการประชุมสภา เนื่องจาก กระทบต่อการพิจารณาโครงการพัฒนาและการแก้ปัญหาประชาชน และมองว่าพรรคเพื่อไทยกำลังตัดโอกาสในการที่ฝ่ายค้านจะมีชัยในการร่วมกันเสนอและผลักดันกฎหมายสำคัญ อันเป็นผลประโยชน์ของประชาชน

อย่างไรก็ตาม จากรอยร้าวระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของฝ่ายค้านและไม่เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองเท่าใดนัก

ส่วนตัวหวังว่า เหตุการณ์สภาล่มจะนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อสร้างเกมการเมืองใหม่จากการลงคะแนนของประชาชน มากกว่าการที่สภาล่มเพื่อกลับไปสู่วงเวียนรัฐประหารอีกครั้ง หากเป็นอย่างหลังพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยทั้งหลายคงต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์ ถอยออกมาคนละก้าว และจับมือกันให้แน่นมากกว่าเดิม

ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ประเทศไทยปกครองด้วยระบบรัฐสภา เพราะฉะนั้นอำนาจอธิปไตยทั้งหมดจะไปตัดสินกันที่สภา ตั้งแต่ที่มาของนายกรัฐมนตรีว่ามาอย่างไร กฎหมายมาอย่างไร อำนาจทุกอย่างจะไปตัดสินกันที่สภาทั้งหมด การตัดสินใจของประเทศจึงรวมกันอยู่ที่สภา ในเชิงหลักการคือประชาชนต้องเลือกตัวแทนเข้าไป ซึ่งตัวแทนคือเข้าไปควบคุมกติกาในการปกครองบ้านเมือง เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของตัวแทนในการที่จะเข้าไปทำงานในสภา เมื่อใดก็ตามที่ผู้แทนประชาชนไม่ได้เข้าไปทำงานในสภาหลังจากได้รับเลือก นั่นคือผู้แทนที่เรียกได้ว่ามีความบกพร่องในหน้าที่ อย่างเช่น มีคนบอกว่าจะไม่ไปโหวต ในเชิงหลักการถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะตัวแทนประชาชนถือว่าได้สิทธิจากประชาชนเข้ามาตัดสินใจแทนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี เรื่องบำนาญ หรือแม้แต่เรื่องคราฟต์เบียร์

เพราะฉะนั้น ในเชิงหลักการถือว่า มีปัญหา ถ้าตัวแทนไม่เข้าไปทำหน้าที่ในสภา แต่ถ้าหากดูในเชิงปฏิบัติสำหรับการเมืองไทย จะมีความประหลาดอยู่นิดหน่อยตรงที่ด้วยความที่เป็นระบบรัฐสภา อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติจะกระจุกรวมอยู่ด้วยกัน เสียงข้างมากในสภาจะได้ตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นในการเมืองไทยหลายๆ ครั้ง การทำให้สภาเจออุปสรรคไม่ว่าจะเป็นการประชุมที่มาไม่ครบกึ่งหนึ่ง การที่ไม่สามารถออกพระราชบัญญัติสำคัญได้ หรือการขวางการออก พ.ร.บ.งบประมาณ ทั้งหมดคือวิธีการที่จะทำให้สภาชะงักงันลง และสามารถทำให้ฝ่ายบริหารเกิดความไร้เสถียรภาพมากขึ้นได้

หลายครั้งในประวัติศาสตร์ไทยการสร้างความปั่นป่วนในสภาก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้นักการเมืองเห็นว่า ถ้าป่วนในรัฐสภาได้ก็ป่วนรัฐบาลได้ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถปกครองประเทศได้แล้ว และไม่สามารถทำให้รัฐสภาทำหน้าที่ได้ จึงแตกออกมาเป็นชุดการตัดสินใจสองกลุ่มจากสองแนวคิด คือ หากยึดหลักการก็จะกลายเป็นกลุ่มฝ่ายค้านฝั่งของพรรคก้าวไกล แต่ถ้ายึดเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคยุทธศาสตร์ในเชิงปฏิบัติที่เป็นการเมืองไทยก็จะเป็นฝั่งพรรคเพื่อไทย แม้จะมองว่าเป็นปัญหาจุดยืนที่แตกต่างกันของฝ่ายค้านแต่ภาพที่เห็นจริงๆ คือความสั่นคลอนของรัฐบาลมากกว่า เพราะไม่ว่าฝ่ายค้าน หรือแม้แต่ฝ่ายรัฐบาลบางกลุ่มที่เป็นกลุ่มอิสระ การขยับในสภาเขาไม่มีอะไรจะเสีย แตกต่างจากฝั่งรัฐบาลที่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรกับรัฐสภา หากปล่อยไว้เรื่อยๆ หากประชุมไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าหากยืดเยื้อไปถึงที่จะมี พ.ร.บ.เลือกตั้ง และมีเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณเข้ามาอีก รัฐบาลจะอยู่อย่างไรหากปล่อยเรื่องนี้ไว้

ฉะนั้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายที่มีความน่าลำบากใจและต้องเผชิญกับปัญหาคือ ฝ่ายของตัวรัฐบาลมากกว่า ในขณะที่ฝ่ายค้านแม้จะมีความเห็นแตกต่างกันแต่ผลลัพธ์น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน คือทำให้ภาพของรัฐบาลเกิดความสั่นคลอนในเชิงเสถียรภาพ

สำหรับแนวทางออกของปัญหานี้ มองว่าในการทำงานของรัฐสภา ส.ส.ก็ควรต้องทำงานไม่ว่าจะเป็นในเชิงยุทธศาสตร์หรือไม่ก็ตาม เพราะต้องเข้าใจว่าประชาชนเลือก ส.ส.เพื่อเข้าไปทำงาน ไปออกกฎหมายต่างๆ ไม่ได้เลือกไปเพื่อเล่นการเมือง อีกทั้งเกมการเมืองเล่นได้หลากหลายวิธีมากกว่านั้น

ฉะนั้นในเบื้องต้นอย่างน้อยที่สุด ส.ส.ต้องเข้าสภาไปทำงาน แต่จะสั่นคลอนรัฐบาลก็ให้สะท้อนผ่านการทำงานในสภามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการอภิปราย การโหวตร่างกฎหมาย หรือในการตรวจสอบขั้นกรรมาธิการ มากกว่าใช้เกมการเมืองในเรื่องของการไม่เข้าประชุม น่าจะเป็นทิศทางที่ควรจะได้เห็นในอนาคตมากกว่า ส่วนรัฐบาลจะไปได้มากน้อยแค่ไหนก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไป

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การที่สภาล่มบ่อยครั้ง พรรคเพื่อไทยเล่นเกมการเมืองครั้งนี้เพื่อให้เกิดกระแสกระเพื่อม เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาในเรื่องตัว ส.ส. จึงอยากผสมโรงด้วย แต่ลืมประเมินว่าการผสมโรงเพื่อให้สภาล่ม ยังมีในเรื่องของกฎหมายที่จะต้องผ่านสภา คือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือร่าง พ.ร.บ.สุรากำลังพิจารณาอยู่ด้วย ทำให้หลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทยมีใจที่จะช่วยเหลือนายทุน เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ผ่าน ทำให้ฝ่ายค้านด้วยกันคือ พรรคก้าวไกลเอาไปเป็นประเด็นเงื่อนไขว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทยไม่ถูกต้อง ทำให้เป็นปัญหาระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์จุดยืนในสภา

ในมุมมองพรรคก้าวไกลนั้น บทบาทต้องการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายจะต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคนต้องร่วมรับผิดชอบทั้งหมด การที่พรรคเพื่อไทยไม่เข้าประชุมสภา เป็นการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่รับผิดชอบกับประชาชน และเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

หลักการพิจารณาร่างกฎหมายเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.ทุกคน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของ ส.ส.เสียงข้างมากในสภา หรือฝ่ายรัฐบาล ซึ่งขึ้นตรงกับวิปรัฐบาลจะต้องประสานงานกับวิปฝ่ายค้านให้ชัดเจนในเรื่ององค์ประชุม รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาอยู่แล้ว มีหน้าที่ในการทำงานจะต้องให้การประชุมสภาผ่านพ้นไปได้

ส่วนที่หลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทยมีความได้เปรียบทางการเมือง และอยากให้มีการยุบสภา ต้องมองว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทยอยากให้มีการยุบสภาจริงหรือเปล่า การที่มีการตีรวนในสภาทำให้ภาพลักษณ์การเป็น ส.ส.ด้านนิติบัญญัติเสียหายเหมือนกัน

สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่าจะไม่ประชุม เพราะประชาชนเขาเลือกให้ ส.ส.มาประชุม มาทำหน้าที่นิติบัญญัติ เมื่อไม่อยากทำหน้าที่นิติบัญญัติก็ต้องออกไป จะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ล้มรัฐบาล จะต้องทำให้เสียงข้างมากของพลังประชารัฐมาเป็นเสียงข้างมากของฝ่ายค้าน แล้วล้มตามขบวนการของรัฐสภา อย่างนี้ถึงจะถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image