การประลองกำลัง ใน ‘3 ป.’ วิกฤตการเมือง ปัจจุบันวันนี้
มีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า ปัญหาทางการเมืองอันเนื่องแต่ความขัดแย้งในขณะนี้ ‘ด้านหลัก’ คือ ความขัดแย้งกันเอง ความขัดแย้ง ‘ภายใน’ ของรัฐบาล
นั่นก็คือ ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พรรคพลังประชารัฐและพันธมิตร
เป็นความขัดแย้งที่เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2564
เป็นความขัดแย้งที่มีญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสมรภูมิ ‘ประลองกำลัง’ และลงเอยด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 170 ปลด ‘รัฐมนตรี’
1 ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 ปลด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
เป็นการปลดโดยมิได้มีการหารือกับ ‘พรรคพลังประชารัฐ’
เหมือนกับเป็นความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์
แต่อย่าลืมว่าใครดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
การประลองกำลังครั้งแรกเห็นได้จากการนิ่งเฉยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นก็คือ ยังคงให้ทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในพรรค
นั่นก็คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังเป็นเลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ยังเป็นเหรัญญิกพรรค
ขณะเดียวกัน ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังดำรงจุดมุ่งหมายของตนในการเตือนพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ ไม่มีการปรับครม.ในโควต้าของพรรคพลังประชารัฐที่ว่างลง
นับจากนั้นเป็นต้นมาก็จะสัมผัสและรับรู้ได้ถึงลูกล่อลูกชนระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พรรคพลังประชารัฐ
กระทั่งก่อให้เกิดการขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไป
ณ วันนี้ ความขัดแย้งยังเป็นปมแห่งการประลองกำลังกันระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พรรคพลังประชารัฐและพันธมิตรที่แยกตัวออกไปภายใต้กระบวนการ ‘ขับ’
ถามว่าทุกก้าวย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รับรู้หรือไม่
คำตอบจึงเห็นได้จากการเคลื่อนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เฝ้ามองอยู่เงียบๆ
ทั้งหมดนี้คือการประลองกำลังภายใน ‘กลุ่ม 3 ป.’ อันเข้มข้น