เหตุเกิดที่ม.เชียงใหม่ เมื่อกระแสประชาธิปไตยสู้กลับ คิกออฟ ศึกชิงเก้าอี้อธิการบดี

จับตา ศึกชิงเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อกระแสประชาธิปไตยสู้กลับ ชูธงขอชิงเก้าอี้…

 

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับเป็นสถาบันการศึกษาสำคัญทางภาคเหนือ ในฐานะพื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาบ่อยครั้ง หลายครั้งเกิดคดีความขึ้นมากมายทั้งต่อนักศึกษาและอาจารย์ ลุกลามต่อเนื่องยาวนานจึงถึงการออกมาขับไล่อธิการบดี

ล่าสุดจะกลายเป็นสนามประลองกำลัง จากเดิมที่ขั้วการเมืองหนึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนาน กำลังเป็นที่จับตากับเก้าอี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนใหม่ เพราะขั้วความคิดอีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับทิศทางการบริหารที่ผ่านมา เริ่มสู้กลับ

เริ่มจากการต่อสู้ให้มีการเปลี่ยน ข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี ที่จะเอาผิดทางวินัย จนท.ใช้วิธีเลือกตั้ง-หยั่งเสียงสรรหาอธิการบดีคนใหม่ ให้ใช้วิธีปรึกษาหารือเท่านั้น จนสภา ม.เชียงใหม่ ยอมแก้ไขข้อความที่ขัดสิทธิเสรีภาพ

Advertisement

ตามด้วยการประกาศชื่อรายชื่อแคนดิเคตที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีถึง 3 ชื่อ ที่น่าสนใจ ในฐานะนักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เสนอและเรียกร้องให้สภาพนักงานเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์และเปิดโอกาสให้มีการหยั่งเสียงในการสรรหาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ทางสภาพนักงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ปฏิเสธ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดงานแสดงวิสัยทัศน์ ว่าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีแคนดิเดตว่าที่ผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนใหม่ ตอบรับเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ จำนวน 3 คนประกอบด้วย ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์

Advertisement

 

ประกาศทลายกำแพงความคิด

 

ผศ.ดร.ทัศนัย เล่าถึงพัฒนาการของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยโลก รวมถึงข้อตกลงทางวิชาการที่เกิดขึ้นโดยมีเสรีภาพเป็นพื้นฐาน เพื่อต่อสู้กับความมืดบอดของยุคสมัยยุคกลางในยุโรป ทั้งนี้การเรียนรู้ของโลกสมัยใหม่วางอยู่บนหลักการเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ จิตวิญญาณของการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยยึดโยงกับผู้คนในสังคมและพัฒนาการของโลก มหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนแสงสว่างทางปัญญา และต้องสว่างมากขึ้นในยุคสมัยที่มืดบอด มหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นสิ่งปลูกสร้างสำหรับชนชั้นนำและบริหาร แต่มหาวิทยาลัยคือพื้นที่สำหรับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในประชาคมมหาวิทยาลัยนั้นๆ นี่คือสิ่งที่ตนเองยึดถือมาโดยตลอดในการทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้สังคมอุดมศึกษา

ผศ.ดร.ทัศนัย ระบุต่อว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสำหรับตนแล้วคือปรัชญาแห่งชีวิต ที่ผู้บริหารจะต้องเข้าใจเป็นพื้นฐาน มิใช่วิสัยทัศน์ที่จะมองทุกอย่างเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น ต้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีมุมมองความคิดที่ดีแตกต่างกันไป หน้าที่ของผู้บริหารคือการนำความคิดที่ดีเหล่านั้นของประชาคมมหาวิทยาลัย ได้ถูกพัฒนาและกลายเป็นนโยบายปฏิบัติ การเคารพความเป็นมนุษย์คือวิสัยทัศน์ที่สำคัญที่สุดในการเป็นผู้บริหาร ผู้บริหารควรยึดถือความคิดและวิสัยทัศน์ของตัวเองให้น้อยลง แต่ต้องเชื่อมั่นและสนับสนุนแนวคิดดีๆของคนอื่นให้เจริญเติบโตงอกงามด้วย การจะทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้ต้นขอเสนอแนวคิด มหาวิทยาลัยที่ปราศจากกำแพง

กำแพงแรกที่ต้องทำลายคือการทำงานแบบลี้ลับจากบนลงล่างต้องถูกทลาย ไม่รวมศูนย์อำนาจดังที่เป็นมา นักศึกษา เจ้าหน้าที่ทุกส่วนงาน คณาจารย์ จะต้องมีตำแหน่งในทำเนียบผู้บริหาร อาจารย์ต้องเปลี่ยนฐานะเป็นสหภาพแรงงาน ไม่ได้มีหน้าที่เป็นแค่ตรายางให้ฝ่ายบริหาร สภาและสโมสรนักศึกษาไม่ใช่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของนักศึกษาเท่านั้น มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณ

กำแพงที่ 2 ที่ต้องถูกเปิดออก คือม่านหนาทึบระหว่างประชาคมมหาวิทยาลัยกับสภามหาวิทยาลัย การบริหารงานแนวระนาบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าโครงสร้างสภามหาวิทยาลัย หน้าที่ของสภา ไม่ถูกขีดเขียนขึ้นใหม่

กำแพงที่ 3 ที่จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงคือข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่ประกอบพิธีกรรม ธรรมาภิบาลของผู้บริหารต้องอยู่ในหัวใจของผู้คน เหล่านี้เกิดขึ้นบนฐานคิดแบบมนุษยธรรมไม่ใช่ศีลธรรม

กำแพงที่ 4 ให้ความสำคัญกับหลักสูตรและสาขาวิชา ที่จะต้องมีอิสระในการบริหารจัดการโดยคณะทำหน้าที่ธุรการที่ทำหน้าที่สนับสนุนอย่างเต็มกำลังเท่านั้น เปิดโอกาสให้ส่วนงานต่างๆ ทำหน้าที่มากขึ้นและอย่างมีอิสระ

กำแพงที่ 5 ที่ต้องทลายคือความคิดที่เชื่อว่าการศึกษาต้องเกิดขึ้นที่ชั้นเรียน ตารางนิ้วในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะต้องถูกปรับภูมิทัศน์ เสริมความแข็งแกร่งทางสติปัญญาร่างกายและจิตใจ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย​ โรงหนัง โรงมหรสพ มีแต่บาร์สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ภายนอก ให้ผู้คนได้พบเจอกัน ต้องถูกสร้างขึ้น ได้รับใช้เฉพาะประชาคมมหาวิทยาลัยเท่านั้น ภายนอกก็ใช้ได้ด้วย

ผศ.ดร.ทัศนัยระบุว่า หากกำแพงดังกล่าวข้างต้นถูกรื้อถอนลง บรรยากาศการเรียนรู้ก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ต้องพยายามมากเกินไปที่จะต้องทำแต้มการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก รายได้ของมหาวิทยาลัย เรื่องที่ไม่สามารถคำนวณบนเครื่องคิดเลขได้ แต่มาจากบรรยากาศวัฒนธรรมการเรียนรู้ อันจะนำมาซึ่งความร่วมมือ การบริจาค การสนับสนุน ทั้งจากประชาคมภายในประเทศและภายนอกประเทศ เหลือจากงบประมาณรายได้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอยู่แล้ว รวมถึงค่าเทอมนักศึกษา ทุกบาทที่หามาได้ต้องจ่ายคืนให้นักศึกษาและสังคม

“ประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยสอนให้เราเห็นว่า ความคิดของมนุษย์และเสรีภาพคือต้นทุนที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ในการขับเคลื่อนอารยธรรมและอนาคต ทุกอย่างบนโลกใบนี้ผมเชื่อว่าล้วนมาจากความคิดของมนุษย์เอง กฎระเบียบที่ตกยุคสมัยขัดขวางอนาคตก็เช่นกัน ไม่ใช่ความจริงสูงสุด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อที่จะทำให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ส่งเสริมคนให้มีศักดิ์ศรีและมีความเท่าเทียมกัน” ผศ.ดร.ทัศนัย กล่าวทิ้งท้าย

 

เป้าหมาย 6 ประการ เปลี่ยน มช. 

 

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล หนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเองก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เสนอชื่อ ซึ่งก็คลุมเครือคล้ายกับกระบวนการเลือกอธิการบดีคนใหม่ครั้งนี้ อยากเสนอเป้าหมาย 6 ประการ 2 จุดยืน และ 1 ความฝัน หากได้รับเลือกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะถือเป็นแนวทางสำคัญที่ต้องเดินไป

1.เสรีภาพในการแสดงความเห็นต้องได้รับการปกป้อง เสรีภาพในการค้นคว้าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหัวใจสำคัญ การคุกคามต้องได้รับการปกป้อง ไม่ว่าการคุกคามนั้นจะมาจากภายใน หรือภายนอกมหาวิทยาลัย การเกิดขึ้นขององค์ความรู้ในมนุษยชาติมันเกิดขึ้นได้เพราะการแลกเปลี่ยน ถกเถียง และการหักล้างความเชื่อเดิมด้วยเหตุผล ที่ผ่านมาตนไม่แน่ใจว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ทำได้ดีขนาดไหน

2.การมีส่วนร่วมในทุกระดับ กว้างขวาง การคัดสรรผู้บริหารระดับสูงต้องโปร่งใส ต้องไม่ใช่การสืบทอดทางตำแหน่งต่อของชนชั้นนำในมหาวิทยาลัย การมีส่วนร่วมไม่ใช่เรื่องทำให้เกิดความแตกแยก แต่คือการทำให้มองเห็นความจริงหลากมิติ เห็นความหวังของผู้คนฝ่ายต่างๆ

3.แนวการศึกษา ต้องเป็นไปในทางเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ ที่มีความรอบรู้ เท่าทันโลก ใช้เหตุผลและปัญญาในการพิจารณาประเด็นต่างๆ มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนฝึกหัดทางวิชาชีพ เพื่อที่จะผลิตเนติบริกร รัฐศาสตร์บริการ หรืออื่นๆ ที่ไม่ได้ยึดมั่นต่อหลักวิชาและความรู้ การส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเป็นมนุษย์ เท่าทันโลก เป็นหัวใจที่สำคัญไม่น้อยกว่าการส่งเสริมให้มีงานทำ

4.ระบบการจ้างงานต้องมีความก้าวหน้าให้กับบุคลากรทุกฝ่าย ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเงินเดือน ระบบสวัสดิการ การรักษาพยาบาล เพื่อให้บุคลากรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเป็นมืออาชีพอย่างทัดเทียม ควรเลิกระบบจ้างงานระยะสั้น ที่จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงแก่บุคลากร และรวมถึงการทำให้บุคลากรต่างๆไม่สามารถแสดงความกล้าหาญในการแสดงออกทางวิชาการออกมาได้

5. เลิกระบบประเมินการศึกษาที่ไร้สาระและไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง แต่ละปีบุคลากรในมหาวิทยาลัยต้องเสียเวลาเป็นจำนวนมาก ทำเอกสาร รวมๆกันปีละเป็นหมื่นๆแผ่น ทำเสร็จก็ไม่รู้ว่าใครอ่าน ผลเป็นอย่างไร มุ่งสนับสนุนสร้างระบบประเมินที่สร้างความแตกต่างในหลากหลายวิชา ไม่ผูกติดกับการวัดด้วยอันดับมหาวิทยาลัยโลกอย่างบ้าคลั่ง หรือการตีพิมพ์ทางวิชาการที่ผูกพันผลประโยชน์ทางธุรกิจแบบไม่ลืมหูลืมตา เรายึดมั่นกับการอยู่ในอันดับโลกจนมีปัญหาเช่นการจ้างเป็นสัญญาระยะสั่นปีต่อปีให้ฝรั่งมาเขียนงานตีพิมพ์อย่างเดียวเพื่อให้ ม.เชียงใหม่อยู่ในระดับที่สูงอยู่ นี่คือการพัฒนาที่ไม่ทำให้มหาวิทยาลัยเข้มแข็งจากภายใน

6.จากวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ต้องเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อส่งเสียงไปยังภาครัฐ ทบทวนเรื่องงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้นและมีเหตุผลมากขึ้น เพื่อให้การศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นสวัสดิการที่ประชาชนควรเข้าถึง ไม่ว่าจะมีฐานะอะไร ไม่ควรมีคำว่าคนจนเข้าไม่ถึงมหาวิทยาลัยเพราะมีค่าใช้จ่ายแพง มหาวิทยาลัยต้องเปิดประตูให้ผู้คน ม.เชียงใหม่ที่เดียวทำไม่ได้ ในแง่นี้ต้องแสวงหาความร่วมมือ

 

อธิการฯต้านรัฐประหาร 

 

2 จุดยืนที่ขอประกาศหากตนได้เป็นอธิการบดี ม.เชียงใหม่ 1.หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้จะเกิดขึ้นไหม อธิการบดี ม.เชียงใหม่ จะไม่เข้าร่วม ไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือทางอ้อม เคยทำมาแล้วเมื่อรัฐประหารปี 2549 เมื่อถูกเสนอชื่อให้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ห้วงขณะที่ตนดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มช. ที่ปฎิเสธตำแหน่งดังกล่าวเพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ต่างกับรัฐประหารปี 2557 ที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยใหญ่หลายที่ เข้าไปเป็นสนช.กันถ้วนหน้า

จุดยืนที่ 2 จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินรายได้ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งและทุกรอบปี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เห็นรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มช. มีอยู่มากน้อยแค่ไหน

ความฝัน มี 1 ข้อ คือต้องเป็นสถาบันการศึกษาที่ยึดมั่นในภูมิปัญญาและเคารพต่อระบอบประชาธิปไตย

เราควรสร้างสถาบันการศึกษาที่มีภูมิปัญญาที่เคารพประชาธิปไตย ไม่กลบความเห็น ความแตกต่างด้วยอำนาจ และต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย

สุดท้ายขอฝากว่า เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ในสังคมที่เครือข่ายจารีตครอบงำมาอย่างยาวนาน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมแรงร่วมใจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อย่าคาดหวังว่าเพียงใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มี การขยับการส่งเสียงหรือปฎิบัติการในขอบเขตที่แต่ละคนทำได้เป็นเรื่องสำคัญ ลำพังการกดแชร์ กดไลค์ ไม่เพียงพอต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

 

หยุดสืบทอดอำนาจลึกลับ

 

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กล่าวว่า หากตนเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การจัดให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ของว่าที่อธิการบดี จะต้องถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เปิดเผย โดยหน่วยงานตัวแทนบุคลากรมหาวิทยาลัย หากได้เป็นอธิการบดีหญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระเบียบ กฎที่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจ สืบทอดอำนาจการปกครองของมหาวิทยาลัยในมือของชนชั้นนำมหาวิทยาลัยไม่กี่คนต้องถูกยกเลิก เปลี่ยนแปลง แก้ไข ระบอบอำนาจที่ชนชั้นผู้บริหารนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่แยแสเสียงประชาคมมช. ไม่เคยเปิดพื้นที่แห่งการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม จะต้องยุติลง เรามาถึงจุดที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปให้ถึงขั้นรากฐาน ที่จะนำม.เชียงใหม่ ไปสู่สถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งฟูมฟักความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่สถานที่แสวงหาผลประโยชน์ทางอำนาจ ผูกขาดอย่างที่เป็นอยู่

ช่วงสองทศวรรษที่ตนสอนหนังสืออยู่ที่นี่ อยากจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า เป็นห้วงเวลาแห่งหายนะของเสรีนิยมใหม่ที่ผสมพันธุ์กับเผด็จการ    ม.เชียงใหม่ พาตัวเองออกนอกระบบ นอกการกำกับของรัฐก่อนมหาวิทยาลัยใหญ่ๆในประเทศและในระดับเดียวกัน มหาวิทยาลัยกลายเป็นแขนขาองคาพยพของรัฐเผด็จการ การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการการ การคุกคามเสรีภาพทางการแสดงออกของนักศึกษาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยที่มหาวิทยาลัยเพิกเฉย และไม่เคยแสดงบทบาทในการปกป้องบุคลากร นักศึกษาให้ปลอดภัยจากการคุกคามที่เกิดขึ้นเลย

ในทางการเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ละทิ้งคุณค่า ตำแหน่งแห่งที่ในการเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนประชาธิปไตยของสังคมไปอย่างน่าอดสูอย่างยิ่ง ช่วงเวลาที่ผ่านมา ม.เชียงใหม่ได้แปลสภาพจากสถาบันการศึกษา ให้กลายเป็นโรงงาน หรือบรรษัทชั้นเลวบีบให้กรรมกรคณาจารย์ ปั่นบทความภาษาอังกฤษเพื่อไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเพียงเพื่อเพิ่มอันดับของมหาวิทยาลัยโลก ทุกอย่างถูกวัดด้วยการจัดอันดับด้วยตัวเลข การทำงานของคณาจารย์ถูกควบคุมด้วยระบบการประเมินซ้ำซากทางเอกสารที่ถมทับพลังงานและเวลาอย่างขาดสติ ลืมเลือนบทบาทหน้าที่บ่มเพาะฟูมฟักสติปัญญา เพื่อสร้างความรู้ให้กับสังคม มิใช่การทำลายสติปัญญาให้ย่อยยับลงด้วยระบอบต่างๆพร้อมกองกระดาษที่ไร้ประโยชน์

ทั้งยังสร้างระบบสัญญาจ้างระยะสั้น อันเป็นการกดขี่แรงงาน การพยายามตัดต้นทุนค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการ ปล่อยให้ตลาดเข้ามาควบคุมกำกับมหาวิทยาลัย จนมองไม่เห็นเป้าหมายสถาบันการศึกษา

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ บุคลากรกลับไม่มีส่วนร่วมในมหาวิทยาลัยแม้แต่น้อย แม้จะมีสภาพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ก็อย่างที่เห็น องค์กรนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพนักงานมหาวิทยาลัย แต่กลับอิงแอบตนเองกับชนชั้นผู้มีอำนาจปกครอง กลายเป็นสถานที่ของการทำงานที่ปราศจากซึ่งความสุข ความมั่นคง ปราศจากซึ่งเกียรติภูมิของการเป็นเสาหลักของสังคม ระบอบบริหารอุดมศึกษาเช่นนี้ หรือเรียกอีกอย่างว่า ระบอบการบริหารแบบเสรีนิยมใหม่ที่ด้อยพัฒนา จะได้รับการสืบทอดต่อไปถ้าเรายอมให้การเลือกสรรผู้บริหาร ทำกันอย่างปิดลับ ทำกันภายในหมู่ชนชั้นนำไม่กี่คน อย่างไม่เห็นหัวประชาคมมช.

หากตนเองได้รับการหยั่งเสียงโดยประชาคม มช. 3 ประการที่จะล้มเลิกคือ 1. เลิกการผูกขาดอำนาจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารภาควิชา ไปจนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำหลักประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เข้ามาใช้ในการบริหาร การปกครองและการจัดการ มิเช่นนั้นแล้ว หัวหน้าภาคและคณบดีก็ทำงานเพียงเพื่อรับใช้ผู้บริหารระดับสูง รอวันที่จะเป็นแขนขาให้ผู้บริหารระดับสูงที่จะคัดสรร 2. มหาวิทยาลัยต้องกำหนดตำแหน่งแห่งหนให้เป็นเอกเทศน์ เป็นอิสระจากรัฐ ธำรงค์ไว้ซึ่งหลักการเป็นประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางการเมือง ไม่นำตนเองไปรับใช้อำนาจที่ฉ้อฉลทางการเมือง 3.มหาวิทยาลัยต้องเลิกหมกมุ่นกับการไต่อันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แนวทางเช่นนี้นอกจากฟุ้งจนขาดสติ มันยังตัดขาดมหาวิทยาลัยออกจากพันธกิจสังคม หากจะมีก็เพียงเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ แต่ต้องไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด ที่จะต้องนำทรัพยากรทุกอย่างมาเดิมพัน

 

มช.เพื่อสังคมที่มีสวัสดิการ 

 

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังบอบช้ำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่างจากวิกฤตโควิดที่แทบจะเอาชีวิตไม่รอด นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกินกว่าครึ่งมาจากชนชั้นกลางระดับล่าง ได้รับผลกระทบเต็มๆ ชีวิตของพ่อแม่เขาแขวนกับชีวิตทางเศรษฐกิจที่ปราศจากความมั่นคง คำถามคือมหาวิทยาลัยจะยังหมกมุ่นอยู่กับการไต่อันดับโลกอยู่ได้อย่างไร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะดำรงตนอย่างไรในการมีส่วนกอบกู้ชีวิตผู้คนที่บอบช้ำ การไต่อันดับโลกช่วยแค่ชนชั้นนำผู้บริหารไม่กี่คนแต่ไม่ช่วยสังคมแน่ๆ

ตนขอเสนอว่าหากตนได้รับเลือกเป็นอธิการบดี มีแนวคิดขอเสนอให้ม.เชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งสวัสดิการ ต้องให้ความสำคัญการพัฒนาสวัสดิการที่เข้มแข็ง เป็นต้นแบบให้สังคม ดูแลนักศึกษา บุคลากร คณาจารย์ ดูแลส่งเสริมการวิจัยคณะต่างๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ สร้างเสริมระบบสวัสดิการขึ้นในสังคม ทุนของอธิการบดีต้องเป็นไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วย มิใช่ให้ทุนเพื่อมุ่งเพิ่มการจัดอันดับโลก และจะต้องผูกตนเองเข้ากับภูมิภาคและท้องถิ่น เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยวอชิงตันที่ตนจบการศึกษามา เพียงปีเดียวสามารถจ้างงานในมลรัฐได้ถึงแสนตำแหน่ง นี่คือบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีส่วนช่วยผ่อนบรรเทาความยากลำบาก ความยากไร้ของประชาชน มิตินี้ ม.เชียงใหม่ไม่มี แต่กลับกระทำการสวนทาง เช่นเอาการจ้างงานระยะสั้น ลดอัตรากำลังคน ผลักคนให้ตกงาน ตัดขาดการยึดโยงตนเองกับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ ม.เชียงใหม่ต้องสนับสนุนการกระจายอำนาจการปกครองในท้องถิ่นอย่างจริงจัง ต้องกล้าตั้งคำถามกับระบบราชการส่วนกลางที่ไร้ประสิทธิภาพ

2.เรื่องการศึกษา อยากเสนอเป้าหมายการศึกษาเพื่อ Civic Education การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้กับนักศึกษา ส่งเสริมให้เรียนรู้การคิด ตระหนักสิทธิหน้าที่ของตนเองและสังคม ที่จะติดตัวนักศึกษาไปตลอดชีวิต ในการสืบสานระบบคุณค่าแห่งประชาธิปไตย

นี่คือส่วนหนึ่งของเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ที่ไม่ว่าแคนดิเดตทั้งสามท่านจะเข้าไปนั่งเก้าอี้บริหารนี้ได้หรือไม่ แต่วิสัยทัศน์ดังกล่าว ก็ได้ถูกจารึกและถูกประกาศต่อสังคมแล้ว

จากนี้ไปต้องจับตา กับศึกชิงเก้าอี้อธิการบดี เก้าอี้นี้อย่างใกล้ชิด…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image