เปิดเบื้องลึก ‘ภูมิใจไทย’ ลาประชุม ครม. ค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว ยัน มท.ไม่ทำตามระเบียบ กม.

แฟ้มภาพ

7 รัฐมนตรีภูมิใจไทยตบเท้ายื่นหนังสือลาประชุม ครม.พร้อมเพรียง แสดงออกคัดค้านไม่เห็นด้วย หลัง มท.1 ดันขยายสัญญาสัมปทานสายสีเขียวเข้า ครม.วันนี้ เหตุมหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล แถมส่วนต่อขยายสายสีเขียวยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟม.โดยสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม.วันนี้ รัฐมนตรีในสังกัดพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ได้ยื่นหนังสือขอลาการประชุม ครม. เนื่องจากติดภารกิจ และแสดงออกถึงความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกรณีกระทรวงมหาดไทยเสนอวาระเพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ ประกอบกับมองว่ากระทรวงมหาดไทยไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล หากมีการอนุมัติวาระดังกล่าวจะส่งผลทางด้านกฎหมายในอนาคตได้

เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงคมนาคมได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติมเข้า ครม.ทุกครั้งที่จะมีการเสนอ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1.ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

2.ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท

Advertisement

3.ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

และ 4.ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ดังนั้น จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้ กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน

Advertisement

ล่าสุด ในการประชุม ครม.วันนี้ทางกระทรวงคมนาคมยังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมเสนอเข้าไปประกอบด้วย เนื่องจากข้อมูลที่ กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็น 1.การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วงยังคงเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากยังไม่มีการโอนไปยัง กทม. เนื่องจากยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 2.การคำนวณค่าโดยสารและการรองรับระบบตั๋วร่วม รวมถึงความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมายที่ทาง กทม.ยืนยันว่าจะเข้าดำเนินการตั๋วร่วมแต่จะไม่ยอมลงทุนเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image