6 องค์กรแถลงเดือด ซัด รบ.ลุอำนาจ ให้ ‘สรรพากร’ ไล่บี้ อ้างตรวจภาษี ที่แท้คุ้ยแหล่งเงินหนุน

6 องค์กรแถลงเดือด ซัด รบ.ลุแก่อำนาจ ให้ ‘สรรพากร’ ไล่บี้เอ็นจีโอ อ้างตรวจภาษี ที่แท้คุ้ยแหล่งเงินหนุน หวั่นใช้เอื้อการเคลื่อนไหว

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 6 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท), ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR), สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายปี 2563 โดยอ้างอำนาจการให้คำแนะนำด้านภาษี ซึ่งทั้ง 6 องค์กรนี้ถูกตรวจสอบในเวลาไล่เลี่ยกัน

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามเข้าไปควบคุมการแสดงออกที่คัดค้านรัฐบาล เรียกร้องระบอบประชาธิปไตย รวมถึงปัจจุบัน รัฐบาลพยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาชน ให้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล โดยกฎหมายนั้นจะกำกับอิสรภาพขององค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน ในการดำเนินกิจกรรมทางด้านพัฒนาสังคมโดยไม่แสวงหากำไร

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

“ปรากฏว่าในระยะกว่า 2 เดือนที่ผ่านมานี้ มีการเรียกองค์กรทั้ง 6 ให้กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบด้านการเงิน แต่กลายเป็นการตรวจสอบในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรไทยและแหล่งทุนแห่งหนึ่ง คือแหล่งทุน National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งเป็นแหล่งทุนอิสระของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่รับทุนกับสภาคองเกรส เพื่อส่งเสริมพวกเราเรื่องประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ในโลก การตรวจสอบของกรมสรรพากรนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือภารกิจของกรมสรรพากร แต่มาจากใบสั่งจากบุคคลในรัฐบาล น่าจะเจ้าหน้าที่สรรพากรเอง ที่ยอมรับว่ามีใครสั่งถึงมาตรวจ จากปกติไม่ค่อยมีใครตรวจ เป็นอีกมาตรการหนึ่งของรัฐบาลนี้ ที่เป็นรัฐบาลสืบทอดจาก คสช. เป็นมาตรการที่จะเข้าไปควบคุมเอ็นจีโอ องค์กรภาคเอกชนที่มีข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิเสรีภาพ และในเรื่องของระบอบประชาธิปไตย” นายจอนกล่าว

ADVERTISMENT

นายจอนยังเรียกร้องรัฐบาลด้วยว่า ให้เลิกแทรกแซงการทำงานของกรมสรรพากร ให้กรมสรรพากรทำงานตามปกติ อย่าให้กรมสรรพากรเป็นเครื่องมือทางการเมือง

“อยากขอให้รัฐบาลว่าการคุกคาม การพยายามเข้าไปควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินกิจกรรมโครงสร้างตามกฎหมาย ขอให้เคารพในความอิสระขององค์กรภาคประชาสังคมตามระบอบประชาธิปไตย” นายจอนระบุ

ADVERTISMENT

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า องค์กรพัฒนาสังคม หรือเอ็นจีโอ ที่ประกอบการส่วนใหญ่ในมูลนิธิ ไม่ใช่ว่าไม่ถูกตรวจสอบ และไม่ใช่ว่าจะไม่เสียภาษี หรือเสียภาษีไม่ได้ แต่เสียภาษีเป็นปกติอยู่แล้ว เราจึงเป็นหน่วยภาษีตามปกติของกฎหมายภาษี นั่นจึงทำให้สรรพากรรู้ว่า เรามีหน่วยภาษีนี้อยู่ จึงขอมาตรวจสอบหน่วยภาษีที่มีอยู่แล้วได้ แต่ปัญหาคือ สรรพากรอ้างอำนาจตามมาตรา 88/3 ของประมวลรัษฎากรตลอด ในการเข้ามาตรวจสอบ ซึ่งมาตรา 88/3 เป็นอำนาจที่ให้ตรวจสอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ซึ่งคือภาษีจากการค้าขาย หรือให้บริการ แต่ว่ามูลนิธิหรือเอ็นจีโอ ไม่มีกำไร หรือไม่ได้มีรายรับจากการค้าขายหรือให้บริการเป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก ที่สรรพากรใช้มาตรา 88/3 และเข้ามาตรวจสอบองค์กรทั้ง 6 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

“ไอลอว์ได้รับจดหมายลำดับสุดท้ายใน 6 องค์กร เมื่อปลายมกราคม มีการตรวจสอบนอกเหนืออำนาจของสรรพากร และทราบว่า ตอนไปสัมภาษณ์กับศูนย์ทนายความฯ มีการแจงรายละเอียดและบันทึก แต่ไม่ได้ให้สำเนากลับมา ซึ่งเป็นเรื่องแปลก ไอลอว์ได้เชิญกรมสรรพากรมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มา 3 คน และเตรียมเอกสารให้ครบ และจะตั้งกล้องถ่ายวิดีโอตลอดการพูดคุย ตลอดการตรวจเอกสาร จะได้เข้าใจตรงกันเป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่สรรพากรก็แจ้งว่า ไม่ให้ถ่าย ทางไอลอว์ก็ยืนยันไปว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่ ใช้อำนาจตามกฎหมายต้องถูกตรวจสอบได้ และถ่ายได้ ซึ่งทางสรรพากรแจ้งว่า ถ้าถ่ายจะไม่ตรวจและกลับไปเลย คือตอนนี้ไอลอว์ยังไม่ถูกตรวจสอบ ยังรออยู่ และยืนยันว่าถ้ามาก็จะถ่าย” นายยิ่งชีพกล่าว

ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวเสริมถึงเหตุการที่กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบสำนักงานด้วยว่า เกิดขึ้นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร กรุงเทพมหานคร เข้ามาที่สำนักงาน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่นักการทูตเข้ามาเยี่ยมสำนักงาน

เจ้าหน้าที่สรรพากร 4 คน มีหนังสือฉบับหนึ่งเรียกว่าหนังสือนำตัวเจ้าหน้าที่ มีสาระสำคัญคือ มาปฏิบัติตามมาตรา 88/3 และเหตุที่ตรวจ เพราะมีข้อร้องเรียนด้านภาษีของมูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม โดยมีการสอบถาม 1 ชั่วโมง และมีการติดต่อกลับมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ส่งเอกสารดังต่อไปนี้เพื่อให้ตรวจสอบ

1. ส่งเอกสารทางการเงินตั้งแต่ปี 2562-2564
2. เอกสารนำส่งภาษี
3.รายงานเงินฝากของในบัญชีเงินฝากหรือ Bank Statement ตั้งแต่ปี 2562-2564 ให้กับกรมสรรพากรในวันที่ 17 ธันวาคม 2564

ซึ่งศูนย์ทนายความฯ ได้เตรียมเอกสารเฉพาะของปี 2563 เพราะปี 2562 เป็นช่วงที่ศูนย์ทนายความฯ เปลี่ยนเป็นมูลนิธิ ส่วนปี 2564 ยังไม่นำส่งเพราะอยู่ในช่วงการปิดงบดุล มีข้อสังเกตว่าในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ พูดคุยกับกรมสรรพากร มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการว่า มูลนิธิเพื่อสิทธิความยุติธรรม หรือศูนย์ทนายความฯ เสียภาษีได้หรือไม่ คือเสียภาษี 2 เปอร์เซ็นต์ จากเงินบริจาคจากทุกคนที่บริจาคในช่วงเหตุการณ์ทางการเมือง และถ้าส่วนนี้ไม่ได้ ขอเก็บภาษี 2 เปอร์เซ็นต์จากเงินทุนที่รับจากต่างประเทศ และทางศูนย์ทนายความฯ ยืนยันแล้วว่า เงินทั้ง 2 ส่วนเป็นเงินบริจาค ซึ่งตามกฎหมายแล้วได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่ากรมสรรพากรจะเรียกให้ศูนย์ทนายความฯ ดำเนินการต่ออย่างไรในการตรวจสอบครั้งนี้

ด้าน น.ส.สุภาวดี เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่า มอส.ตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 ประมาณ 40 กว่าปี ไม่เคยมีกรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบ เพราะว่ามูลนิธิได้ทำตามขั้นตอนกฎหมาย ตามกระบวนกฎหมายแพ่ง จะต้องส่งรายงานการทำงาน การเงิน ให้กับทางสำนักงานเขตทุกปี แต่เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่กรมสรรพากรเข้ามาตรวจ โดยในจดหมายอ้างว่าแนะนำเรื่องการเสียภาษีและขอให้มูลนิธิเตรียมเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายงานการทำงาน รายงานการเงิน โดยมีเจ้าหน้าที่มา 2 คน

มูลนิธิค่อนข้างแปลกใจว่า ทำไมถึงเพิ่งมาในช่วงที่กำลังมีกฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … และในช่วงของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ คือมูลนิธิแสดงเอกสารให้ทั้งหมด ซึ่งปรากฏแน่ชัดว่ามูลนิธิได้รับเงินจากองค์กรใดบ้าง

“40 ปีที่ผ่านมา องค์กรได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยทำงานประเด็นเรื่องการทำงานอาสาสมัคร มาช่วง 4-5 ปีหลังที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนเสริมสร้างสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) พอแสดงรายงานรายรับ ปรากฏว่าให้ความสนใจค่อนข้างมากกับแหล่งทุนหนึ่งที่ได้รับมาประมาณ 16 ปี มาทำโครงการอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน และมีการถามในรายละเอียดยิบย่อย เช่น การให้เบี้ยเลี้ยงอาสาสมัคร การจ้างทำโปสเตอร์ และทราบว่าไม่ได้มีการตรวจทุกที่ และเมื่อถามว่าตรวจเรื่องอะไร เจ้าหน้าบอกว่า บอกไม่ได้ ซึ่งหากมีการตรวจสอบองค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเป็นการสร้างความหวาดกลัว เรายืนยันว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่แทรกแซงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของการรวมกลุ่มการสมาคม” น.ส.สุภาวดีกล่าว

น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ตัวแทนกรรมการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน (ประชาไท) เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิดำเนินการในกิจกรรมหลายส่วน อย่างหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ThisAble.me เป็นสื่อเพื่อสิทธิคนพิการ รวมถึงกิจกรรมในภาคประชาสังคม ในการสื่อสารด้านต่างๆ มูลนิธิจดทะเบียนในปี 2548 และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการเข้ามาตรวจสอบองค์กรต่างๆ ซึ่งในตอนแรกคิดว่าคงไม่ใช่เรื่องที่ต้องการกลั่นแกล้ง หรือคุกคามทางการเมือง แต่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพบว่าเท่าที่รู้ตอนนี้คือมี 6 องค์กร และไม่ทราบว่ามีองค์กรอื่นอีกหรือไม่

“สิ่งเหล่านี้ เราเรียกว่าการไล่บี้จากกรมสรรพากร คิดว่าการกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่เป็นการคุกคามโดยเปิดเผย และเป็นการคุมคามโดยเครื่องมือ ที่คิดว่าควรจะอยู่ให้ห่างการเมืองมากที่สุด” น.ส.จีรนุชกล่าว และว่า

“เราไม่อยากโทษว่าเป็นเพราะสรรพากร เพราะชัดเจนว่ามีใบสั่ง เป็นใบสั่งจากหน่วยงานรัฐบาลด้วยกันเอง ที่จะสั่งสรรพากรได้ก็ต้องเป็นหน่วยงานระดับบริหารขึ้นไป ซึ่งมองความรับผิดชอบไปที่ใครไม่ได้เลย นอกจากผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เราไม่ขอเรียกร้องใดๆ เพราะเขาไม่มีอำนาจที่จะให้อะไรเรา เพราะสิ่งที่เขากำลังอยู่ เป็นการใช้อำนาจในการบริหารเกินความอำนาจที่เขามี และไม่มีกฎหมายรองรับ” น.ส.จีรนุชกล่าว

ด้าน น.ส.รีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นพฤติกรรมปกติหรือไม่ ของกรมสรรพากร แน่นอนว่าผิดปกติอย่างมาก โดยรัฐบาลที่มาจากการยึดครองอำนาจ ที่มีเจตจำนงชัดเจน ที่เข้ามาควบคุมกิจกรรมของภาคประชาสังคม องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เราเป็นองค์กรที่ดีรับการรับรองจากกรมการปกครองแล้ว กรมสรรพากรไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาตรวจสอบกิจกรรมของสมาคม

เราเห็นว่าสิ่งที่กรมสรรพากรทำก้าวล่วงล้ำเกินอำนาจที่ตัวเองมี ในการเอื้อมมือเข้ามา ยื่นจมูกเข้ามาสอดส่องว่าเราทำกิจกรรมอะไร เราได้เงินจากที่ไหน เราใช้เงินไปเพื่ออะไร ร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ มีเจตนาหลักเนื่องจากเขาห่วงใยว่า แหล่งที่มาขององค์กรประชาสังคม จะเป็นที่มาไปเกี่ยวข้อง หรือสุ่มเสี่ยงต่อการฟอกเงิน เราคิดว่าเป็นความห่วงใยที่ตราหน้าเรา ว่าสิ่งที่พวกคุณทำเป็นการลักลอบทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ของรัฐบาล และใช้เครื่องมือที่ก่อความเดือดร้อนรำคาญและถูกจับจ้อง นี่ไม่ใช่บรรยากาศของประชาธิปไตย เป็นเรื่องคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน เราคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องเรียกร้อง รัฐบาลเองควรที่จะต้องสำเหนียกว่า กฎหมายระเบียบใดใดก็ตามที่ไม่เป็นธรรม เราไม่ยอมรับ ที่เขาจะทำอะไรกับคน หรือองค์กรใดใด” น.ส.รีเยาะระบุ

ขณะที่ นายอัมรินทร์ สายจันทร์ นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เอ็นลอว์น่าจะเป็นองค์กรแรกๆ ที่ได้รับหนังสือจากกรมสรรพากร แจ้งเข้ามาว่าจะมีการตรวจสอบ โดยจะให้คำแนะนำในด้านภาษี นี่เป็นครั้งแรกที่เอ็นลอว์เคยถูกตรวจสอบ เราเชื่อมั่นว่าองค์กรของดำเนินการอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด และทราบว่ามีองค์กรอื่นด้วย ซึ่งเป็นความบังเอิญที่เหลือเชื่อ และบังเอิญกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image