‘สุริยะ’ แจงไทยไม่ได้เริ่มขอเจรจา ‘คิงส์เกต’ ลั่นไม่มีการยกทรัพยากรชาติแลกเปลี่ยนถอนฟ้องคดี

‘สุริยะ’ เผยไทยไม่ได้เริ่มขอเจรจา ‘คิงส์เกต’ แต่อนุญาโตตุลาการแนะนำ ลั่นไม่มีการยกทรัพยากรชาติแลกเปลี่ยนถอนฟ้องคดี

เมื่อเวลา 11.40 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า การเจรจาระหว่างไทยกับคิงส์เกต ฝ่ายไทยไม่ได้เป็นผู้เริ่มขอเจรจา แต่เป็นการแนะนำของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างการไต่สวนข้อพิพาทที่ประเทศที่สิงคโปร์ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และเริ่มมีการเจรจาในเดือนมิถุนายน 2563 ส่วนที่เลื่อนการชี้ขาดส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ละครั้งที่เลื่อนไม่มีเรื่องการให้สิทธิประโยชน์มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

นายสุริยะชี้แจงว่า ส่วนที่คิงส์เกตสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ แต่ไทยกลับไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ นั้น ในหลักการตราบใดที่ยังไม่มีการอ่านคำชี้ขาด ทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลในชั้นอนุญาโตตุลาการได้ ซึ่งข้อมูลที่คิงส์เกตนำมาเปิดเผยไม่ใช่ข้อมูลในคดี แต่เป็นเอกสารข่าวของบริษัท และเป็นข้อมูลจากการเจรจายุติข้อพิพาทที่คิงส์เกตอยากจะได้และเรียกร้อง ซึ่งไม่ใช่ข้อตกลงของสองฝ่าย

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นายสุริยะกล่าวอีกว่า ส่วนที่อ้างว่าฝ่ายไทยมีโอกาสแพ้และเสียค่าโง่ พร้อมกับหยิบยกคดีต่างประเทศมาเทียบเคียงนั้น จากข้อมูลทางการเงินของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ประกอบกิจการเหมืองทองในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543-2558 มีกำไร 1.1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าเสียหายที่อ้าง 3 หมื่นล้านบาท บริษัท อัคราฯ ต้องประกอบกิจการถึง 38 ปี ส่วนการกล่าวหาว่าการสำรวจแร่ การนำผงเงินไปจำหน่าย เพื่อประนีประนอมแลกเปลี่ยนให้ถอนฟ้องคดีก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งการยื่นคำขออนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง ก็เกิดขึ้นในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยบริษัท อัคราฯ ยื่นขอสำรวจเมื่อปี 2546-2548

Advertisement

นายสุริยะกล่าวว่า ต่อมาปี 2549 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณาเตรียมเสนอขออนุมัติแต่เกิดรัฐประหารก่อน กระทั่งปี 2550 สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เพื่อจัดทำนโนบายทองคำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน กระทั่งปี 2557 ประชาชนรอบเหมืองประสบปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง และความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงส่งหน่วยงานจาก 4 กระทรวงลงไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีคำสั่งคสช.ที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราว และให้กระทรวงอุตสาหกรรม ไปปรับปรุงการทำเหมืองทองคำใหม่ ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ครม.มีมติรับทราบนโนบายทองคำ มีผลให้บริษัท อัคราฯ ยื่นขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่เคยยื่นค้างไว้ และที่บริษัท อัคราฯ ยังไม่กลับมาเดินเรื่องต่อทันที เพราะมีการฟ้องร้องคดีกันอยู่ เกรงว่าจะกระทบรูปคดีในช่วงนั้น

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาทองคำสูงขึ้น เป็นเหตุให้บริษัท อัคราฯ กลับมาขอสำรวจแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ให้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 หากสำรวจเจอแหล่งแร่ และประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงมีการจ้างงานในพื้นที่ที่สำคัญการออกอาชญาบัตร 4 แสนไร่ เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าไม่อนุญาตให้มีการสำรวจ ยืนยันว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษพื้นที่ 44 แปลง เป็นการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายทุกประการ ไม่มีการแทรกแซงเร่งรัดแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวอีกว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าการอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ เอาผงทองไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องคดีนั้น ในอดีตบริษัท อัคราฯ จะนำผงทองคำและเงินที่ได้จากการทำเหมืองมาหลอมเป็นแท่งโลหะทองผสมเงินส่งออกต่างประเทศ แต่ช่วงที่ คสช.ระงับการทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 บริษัท อัคราฯ มีผงทอง ผงเงิน ค้างอยู่ ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม 2560 มีการยกเลิกการระงับการประกอบกิจการชั่วคราว ดังนั้น ในหลักการบริษัท อัคราฯ สามารถนำผงทองคำและเงินที่เหลือไปหลอมส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งไม่ใช่การนำทรัพยากรของชาติไปแลกแต่อย่างใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image