หน้า 3 วิเคราะห์ : ‘บิ๊กตู่’ วัดดวง เกม ‘รามเกียรติ์’ ยื้อ ‘ยุบสภา-ลาออก’

หน้า 3 วิเคราะห์ : ‘บิ๊กตู่’ วัดดวง เกม ‘รามเกียรติ์’ ยื้อ ‘ยุบสภา-ลาออก’

‘บิ๊กตู่’ วัดดวง

เกม ‘รามเกียรติ์’

ยื้อ ‘ยุบสภา-ลาออก’

การอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ผ่านไปแบบได้น้ำได้เนื้อพอสมควร

Advertisement

ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงใช้ประโยชน์จากวาระนี้ ฝ่ายหนึ่งถล่มเพื่อตรวจสอบ อีกฝ่ายพลิกวิกฤตเป็นโอกาสชี้แจงออกทีวี ชิงคะแนนจากประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังรักษาลีลาพร้อมบวก ด้วยการลุกขึ้นอภิปรายโต้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านตั้งแต่นาทีแรกๆ ของการอภิปราย

หลังจาก นพ.ชลน่าน ชี้แจงญัตติ ระบุการทำงานของรัฐบาลที่ผิดพลาด และเรียกร้องให้นายกฯ ยุบสภาหรือลาออกไป

Advertisement

ตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้อภิปรายว่า เคยคุยกับ นพ.ชลน่าน ครั้งหนึ่ง นพ.ชลน่าน ได้บอกกับตนว่า เข้าสภาควรจะวางบทบาทให้เหมือนกับรามเกียรติ์ ให้ตนเล่นบทพระราม พระลักษมณ์ อะไรทำนองนี้ ส่วนอีกฝ่ายก็เล่นบททศกัณฐ์

“ผมคิดว่าประเทศชาติคงไม่ใช่แบบรามเกียรติ์หรอก แต่ท้ายที่สุดรามเกียรติ์คงรู้อยู่แล้วว่าทศกัณฐ์ตอนท้ายเป็นอย่างไร ไม่อยากไปกล่าวอะไรให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน และพยายามระวังตัวที่สุด”

ทำให้การประชุมสภา ทั้งวันที่ 17 และ 18 ก.พ. ชื่อของ “พระราม-พระลักษมณ์” และ “ทศกัณฐ์” ว่อนอยู่ตลอดการอภิปราย

เนื้อหาสาระหลักๆ ของการซักฟอกรอบนี้ พุ่งเป้าวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ทั้งการใช้งบประมาณในเรื่องต่างๆ การแก้ปัญหาโควิด การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเหมืองอัครา ปัญหายาเสพติด ปัญหาสินค้าราคาแพง โรคระบาดสัตว์ หมูแพง ฯลฯ

พรรคหลักๆ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ขยายบทบาท ส.ส.รุ่นหนุ่มสาว จัดคิวให้ลุกอภิปรายสลับกันไปกับรุ่นอาวุโส หลายๆ คนที่หายหน้าไป ไม่ค่อยลุกขึ้นอภิปราย ก็ลุกขึ้นโชว์วาทะ เพื่อให้มีผลไปถึงเทศกาลเลือกตั้งใหญ่ ที่ใกล้เข้ามา

ตลอดเวลาการอภิปรายของฝ่ายค้าน เสียงเรียกร้องให้พระรามตู่ยุบสภาหรือลาออก ดังกระหึ่มสอดแทรกในทุกการอภิปราย

ขณะที่รัฐบาลเอง รายการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นำทีมสู้ยิบตา ทำให้เห็นว่าแม้ ส.ส.กลุ่ม “ธรรมนัส” แยกตัวออกไป ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร

ระดมสรรพกำลังเท่าที่มีในมือ ออกมาลุยคืน ไม่ยอมให้ด่าฟรีๆ

ยุทธวิธีที่ได้ผลมาตลอด ทั้งการอภิปรายแบบมีโหวตและไม่มีโหวต คือให้ “พระรามตู่” ลุกขึ้นแผลงศรตอบกว้างๆ ในประเด็นที่ฝ่ายค้านถล่ม

เกริ่นนำตามสมควร ตอบโต้กลับบ้าง แล้วโยนให้เจ้ากระทรวงหรือ รมต.ที่รับผิดชอบ ลุกขึ้นมาตอบแบบลงลึกในรายละเอียด

บางประเด็นที่มีความล่อแหลมต่อความเข้าใจของสังคม ก็ให้ ส.ส.ลุกขึ้นมาโต้คืน อาทิ กรณีเหมืองอัครา ก็ส่ง ส.ส.ออกมาชี้แจงแทนนายกฯ เรียกเสียงประท้วงจากฝ่ายค้าน

แน่นอนว่า คำถามจากฝ่ายค้านในหลายๆ ประเด็นก็ “เข้าทาง” รัฐมนตรี ที่หาพื้นที่จะอภิปรายชี้แจงอยู่แล้ว

กลายเป็นโอกาสให้เจ้ากระทรวงได้ชี้แจงยาวๆ ในสภา ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ เป็นข่าวในสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และออนไลน์

การอภิปรายรอบนี้ ยังเกิดประเด็นน่าสนใจ คือการประกาศกลางสภา ขอลาออกจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรค

เจ้าตัวขยายความว่า เกิดจากความผิดหวังในจุดยืนพรรค ที่หันเหไปสนับสนุนรัฐบาล

เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า นายมิ่งขวัญจะย้ายกลับสังกัดเดิมหรือไม่

ขณะที่เกิดกระแส “กลับบ้าน” ขึ้นสูง หลังจากมีการแก้รัฐธรรมนูญเป็นบัตร 2 ใบ แทนที่จะเป็นใบเดียวที่เหมาะแก่การ “แตกแบงก์” เมื่อปี 2562

อดีต ส.ส.ที่ประกาศวางมือ หรือย้ายพรรค ขอกลับมาลงสมัครในสังกัดพรรคเดิม

ทำให้หลายพรรค ต้องปวดหัวกับปัญหาผู้สมัครซ้อน จัดไม่ลงตัว

กรณี “นายมิ่งขวัญ” สะท้อนอีกมุมหนึ่งของการเมืองที่กำลังเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลง แม้ว่าหลายฝ่ายพยายามยื้อเอาไว้

ถือเป็นการ “ซ้อมใหญ่” ก่อนหน้าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะตามมาในเดือน พ.ค. หรืออีก 2 เดือนเศษข้างหน้า

ซึ่งคาดหมายกันว่า ถ้าเสียงสนับสนุนของรัฐบาลในสภายังไม่กลับเข้าที่ การลงมติหลังอภิปราย อันเป็นจังหวะชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาล อาจจะกลายเป็นจุดจบของ พล.อ.ประยุทธ์ได้

เหมือนกับที่ต้องลุ้นกันหน้าดำคร่ำเครียดมาแล้ว เมื่อครั้งผู้กองธรรมนัสเคลื่อนไหวใหญ่ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน ก.ย.2564

ขณะนี้ ปี 2565 รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนอยู่ที่ 260-264 เสียง จากการเช็กยอดหลังจากกลุ่มผู้กองธรรมนัสทิ้งพรรคไป

เสียง 260-264 เสียงที่ว่านี้ เกินครึ่งของสภามาไม่มากนัก ถ้าเกิดคลื่นหายหรือเน็ตล่ม คะแนนไม่มาตามนัด ก็เป็นว่า รัฐบาลอาจต้องสิ้นสภาพไปง่ายๆ

สิ่งที่จะตามมา จะยิ่งไม่ง่าย หากรัฐบาลสิ้นสภาพไป จะต้องจัดการเลือกตั้งใหญ่

โดยที่พรรคพลังประชารัฐ อันเป็นตัวแทนกลุ่มอำนาจไม่พร้อมที่จะเข้าสนามเลือกตั้ง

ความไม่ลงตัวดังกล่าว อาจจะเป็นวิกฤตได้ง่ายๆ

ในเวลาที่เหลืออยู่ พรรครัฐบาลจึงต้องออกแรง ช่วยกันระดมดึงเสียง ส.ส.เข้ามาตุนไว้ เพื่อให้ผ่านการอภิปรายไปให้ได้

และต้องหาทางทำลายเงื่อนไขของการยุบสภา

ไม่ใช่งานง่ายๆ ในสภาพที่รัฐนาวาหรือเรือแป๊ะของ พล.อ.ประยุทธ์ กรำศึกหนักมาตลอด แถมยังมีการตะลุมบอนเป็นการภายในของบรรดาลูกเรืออีก

รอยบุบ แผลชนรอบลำตัว กระเทือนไปถึงเครื่องยนต์

พระรามจะต้องผวาอีกครั้ง ในอีก 2 เดือนเศษ เมื่อสภาสมัยหน้าเปิดประชุมในเดือน พ.ค. และฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติไม่ไว้วางใจแบบ “จัดเต็ม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image