ชาวสวนปาล์ม‘อุ่นใจ’ ประกันรายได้ลดเสี่ยง

หมายเหตุนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา หัวข้อ “โครงการประกันรายได้สินค้า 5 สินค้าเกษตร” จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ในวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ประกันรายได้ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” จากนั้นจะเป็นการบรรยายและสะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์และแนวโน้มของพืชเศรษฐกิจไทย 5 ชนิด คือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา โดยเป็นสัมมนาออนไลน์ ไลฟ์สตรีมมิ่ง ผ่านเฟซบุ๊กเครือมติชน ไลน์มติชน ไลน์ข่าวสด และยูทูบมติชนทีวี เวลา 10.00-12.05 น. ณ อาคารสำนักงานใหญ่มติชน

ในด้านผลผลิตฤดูกาลผลิตปี 2565 ซึ่งผลผลิตผลปาล์มทะลายจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคมของปี โดยมีการประเมินในเบื้องต้นว่าฤดูกาลใหม่นี้ จะมีปาล์มทะลายออกสู่ตลาดประมาณ 17 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันดิบ (เปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม 18%) ประมาณ 2-3 ล้านตัน เมื่อดูตัวเลขผลผลิตปาล์มทะลายเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ผลผลิตยังอยู่ในปริมาณที่ไม่มากนัก ประมาณ 9 แสนตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1.62 แสนตัน และน่าจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม อีก 5-20% หรือผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 9.5 แสนตัน ขณะที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของไทย ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 1.3 แสนตัน

อยากแยกเป็นปาล์มเพื่อการบริโภคและวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกส่วนนำไปผสมในการผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซล เดือนกุมภาพันธ์ อีกประมาณ 6.7 หมื่นตัน เท่ากับเดือนกุมภาพันธ์นี้ มียอดใช้รวมประมาณ 1.5 แสนตัน เมื่อคิดคำนวณบวกของใหม่และสต๊อกเดิม หักส่วนที่ต้องใช้ สต๊อกสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ก็น่าจะเหลือประมาณ 1.5-1.6 แสนตัน ในเดือนมีนาคม ผลผลิตปาล์มทะลายก็น่าจะออกอีกใกล้ล้านตัน ดังนั้น จะไม่มีปัญหาปริมาณเพื่อการบริโภคไม่เพียงพอแน่นอน

โดยภาพรวมปี 2565 สถานการณ์น่าจะใกล้เคียงกับปี 2564 ซึ่งรวมปริมาณใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค และใช้ผสมเป็นพลังงานไบโอดีเซลรวมประมาณเดือนละ 1.5 แสนตัน ทั้งปีก็จะใช้ปริมาณ 1.8-2 ล้านตัน จากเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตปาล์มทะลายที่ออกสู่ตลาดประมาณ 17 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 2-3 ล้านตัน ก็คงเหลือสต๊อกระดับ 7-8 แสนตัน ซึ่งบางส่วนเป็นการส่งออก โดยรัฐบาลต้องกันเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในประเทศเกิน 3 แสนตัน

Advertisement

ในด้านราคา ยังมีความเป็นไปได้ที่จะยังสูง ผลจากประเทศผู้ผลิตปาล์มเจอภัยธรรมชาติ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เจอภัยแล้งในพื้นที่เพาะปลูกหลัก และรุนแรงมากโดยเฉพาะปี 2562-2563 กระทบต่อผลผลิตลดลงต่อเนื่อง จนเกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมา ทำให้ผลผลิตและน้ำมันปาล์มหายไปจากตลาด ประกอบกับปัญหาสะสมก่อนหน้านี้ที่ผลผลิตล้นตลาดและน้ำมันปาล์มในสต๊อกสูง กระทบต่อราคาปาล์มทะลายตกต่ำเหลือ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงปี 2561 ทำให้บางส่วนลดพื้นที่และผลักดันการส่งออก

จากนั้น จากปัญหาโควิดและต้นทุนการเพาะปลูกสูงต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรบางส่วนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องซื้อปุ๋ยเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณผลผลิตและน้ำมันปาล์มจึงไม่ได้ออกสู่ตลาดได้มากนัก ดังนั้น เมื่อโควิดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลาย มาพร้อมกับความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันเพิ่ม ทั้งความต้องการโดยตรงในการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น และทางอ้อมจากความต้องการที่ต้องหาน้ำมันพืชชนิดอื่นแทนน้ำมันถั่วเหลืองหรือน้ำมันพืชอีกหลายชนิด ที่มีผลผลิตต่ำลงมากเช่นกัน ซึ่งเกิดความต้องการเพิ่มพร้อมกัน 2 ส่วน

จึงมีโอกาสที่ปีนี้ ผลปาล์มทะลายจะยังทรงตัวเฉลี่ย 8-9 บาทต่อกิโลกรัม และราคาน้ำมันดิบ (ซีพีโอ) เฉลี่ย 47 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมค่าประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) แม้หากบางช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากทั้งในไทยและประเทศผู้ผลิตหลัก ราคาปาล์มทะลายไทยก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 6-7 บาท และราคาปาล์มน้ำมันก็น่าจะแกว่งระดับ 42-47 บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้น ภาพรวมผู้ปลูกปาล์มปีนี้น่าจะพอใจกับราคา เพราะปริมาณผลผลิตน้อย ย่อมมีผลต่อราคาปาล์มสูงกว่าในอดีต จึงทำให้ 3 เดือนก่อนหน้านี้ ราคาปาล์มทะลายของไทยทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ขยับได้ถึง 11-12 บาทต่อกิโลกรัม

Advertisement

ปัญหาหลักตอนนี้ คือ แบกภาระต้นทุนเพาะปลูกที่สูงมาก ทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมาก ขาดแคลนแรงงาน และค่าใช้จ่ายด้านแรงงานมากขึ้น ราคาปุ๋ยสูงขึ้นหลายเท่าตัวประมาณ 120-130% จากราคากระสอบละ 600 บาท วันนี้ขึ้นไปถึง 1,300-1,500 บาท ทำให้ต้นทุนสูงอย่างรวดเร็ว อีกเรื่องคือนโยบายของภาครัฐในด้านพลังงาน ซึ่งหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบการปรับลดสูตรผสมน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากปัจจุบันมี B7 เกรดเดียวให้เป็น B5 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ส่งผลต่อราคาปาล์มลดลง 4 บาทต่อกิโลกรัมทันที จาก 11-12 บาท เหลือ 8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งก็สวนกระแสกับหลายประเทศที่เพิ่มไบโอดีเซลเป็น B20 แล้ว อาทิ มาเลเซีย อินเดีย อีกเรื่องคือรัฐบาลต้องปรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อลดภาระเพาะปลูก และประคองรายได้เกษตรกรในภาวะค่าครองชีพสูงและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเต็มที่

แม้ประเมินว่าผลผลิตปีนี้จะยังน้อย สต๊อกปาล์มอาจไม่สูง แต่ความต้องการของการบริโภคทั้งในครัวเรือน ในอุตสาหกรรมต่างๆ และยังเป็นส่วนผสมของพลังงานทางเลือก ทำให้ราคาเฉลี่ยผลปาล์มน่าจะไม่ต่ำกว่า 6 บาทต่อกิโลกรัมในปีนี้ แต่หากเทียบกับภาระต้นทุนเพาะปลูกที่ยังสูงต่อเนื่อง และเงินชดเชยช่วยเหลือราคาปุ๋ย 50 บาท ก็ยังเสี่ยงต่อการพยุงรายได้ของชาวสวนปาล์ม และเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเป็นจริง ก็อยากให้รัฐบาลปรับเพิ่มราคาประกันรายได้ปาล์มน้ำมันเป็น 5.00-5.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันกำหนดไว้ 4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งชาวสวนปาล์มเราคิดจากการแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตอนนี้เฉลี่ยประมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งการที่ราคาปาล์มยังสูงในวันนี้ เพราะผลผลิตไม่ได้เพิ่มมากแต่ความต้องการใช้ของโลกยังสูง จึงเกิดการแย่งชิงสินค้าและมีผลต่อราคาทรงตัวได้สูง อย่างราคาปาล์มประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 9-10 บาท

ในเรื่องการเคลื่อนไหวลดราคาดีเซล ก็อยากให้มองผลกระทบต่อชาวสวนปาล์มด้วย เพราะเพิ่งได้ราคาปาล์มที่สูงขึ้นเกินภาวะขาดทุนมาได้ระยะหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งปลูกปาล์มไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาเหมือนภาคขนส่งที่ได้รับการอุดหนุนประคองราคามาตลอด จนกระทบต่อกองทุนน้ำมัน ก็ไม่อยากให้มาทุบเกษตรกรจนราคาปาล์มตกต่ำอีกรอบเลย ซึ่งเราก็ยินดีและเสนอให้จัดพบปะและพุดคุย 3 ฝ่าย ในภาคเกษตรกรชาวสวนปาล์ม กระทรวงพลังงาน และกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุก โดยยึดสมดุลในภาคบริโภค ภาคผลิต และภาคบริการ

ถึงแม้รัฐจะเพิ่มราคาประกันรายได้เป็น 5.00-5.50 บาทก็ตาม แต่จากสถานการณ์ที่กล่าวไว้ ก็เชื่อว่างบประมาณที่ใช้กับประกันรายได้ปาล์มไม่ได้มากนัก แค่เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงและอุ่นใจให้กับชาวสวนปาล์มว่าหากเกิดอะไรขึ้น ก็จะไม่ทำให้ชาวสวนเผชิญปัญหารายได้ตกต่ำและขาดทุนซ้ำอีก เพราะดูจากการประกันรายได้ปาล์มมาตลอด 3 ปี พบว่า วงเงินที่ใช้ไม่ได้มาก เพราะราคาปาล์มดีกว่าราคาประกันรายได้ น่าจะใช้ในปีแรกๆ อย่างปลายปี 2562-2563 รวมงบประมาณไม่กี่พันล้านบาท อย่างปี 2564 ราคาปาล์มดีมาก ไม่ได้ใช้โครงการกันเลย ปีนี้ก็ยังราคาดี และทั้งปีนี้หากราคายังดีต่อเนื่องอย่างนี้ ไม่หลุด 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ก็น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่ไม่ต้องใช้อีก เพราะไม่เข้าข่ายเงื่อนไขจะได้รับชดเชยประกันรายได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องการประกันรายได้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้ปลูกก็น่าจะยังยึดไปต่อเนื่อง ซึ่งชาวสวนเองก็ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าการใช้น้ำมันปาล์ม ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนภาคอุตสาหกรรมผลักดันอุตสาหกรรมเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์ม อาทิ พัฒนาเพื่อการพัฒนาผงซักฟอก หรืออุตสาหกรรมแปรรูปด้านอาหาร

ก็อยากย้ำให้เห็นว่า ประกันรายได้ยังเป็นเรื่องจำเป็น แม้จะได้รับการชดเชยน้อย แต่มองในเรื่องการป้องกันความเสี่ยง เพราะชาวสวนปาล์มเราไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ แต่เป็นโรงงานสกัดที่กำหนดราคาน้ำมันปาล์ม ดังนั้น การมีประกันรายได้ ก็เพื่อให้ผู้ปลูกมีกำลังใจ และรู้ว่าจะยังเป็นอาชีพสำคัญ โดยปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชที่ขับเคลื่อนประเทศ ก็อยากให้รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องมองเห็นความสำคัญต่ออาชีพชาวสวนปาล์มด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image