สภาเริ่มพิจารณา พ.ร.ป.พรรคการเมือง พท.-ปช.เสนอเลิกครอบงำพรรค ก.ก.ชงยกเลิกโทษยุบพรรค

รัฐสภา เริ่มพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ตัวแทนทั้ง 6 ร่างเสนอสาระสำคัญ พท.-ปช.เสนอยกเลิกหมวดครอบงำพรรค ด้าน ก.ก.ชงยกเลิกโทษยุบพรรค

เมื่อเวลา 18.08 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม มีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ พ.ศ. … ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ ครม.เป็นผู้เสนอ ฉบับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. และคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) และคณะเป็นผู้เสนอ ฉบับนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และคณะ ฉบับที่นาพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และคณะเป็นผู้เสนอ และฉบับที่นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. และคณะเป็นผู้เสนอ โดยจะพิจารณารวมกันทั้ง 6 ฉบับ เพราะมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน

ทั้งนี้ ครม.ยังได้เสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตรากฎหมาย เพื่อประกอบการพิจารณาการตรากฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้วด้วย

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เสนอญัตติร่าง พ.ร.ป.ฉบับ ครม.ว่า การสรรหาผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ 1.ให้คณะกรรมการสรรหากำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และประกาศให้สมาชิกทราบเป็นการทั่วไป โดยมีสิทธิเสนอชื่อแก่กรรมการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 2.เมื่อพ้นเวลาการเสนอรายชื่อให้กรรมการสรรหาตรวจสอบคุณสมบัติ และจัดทำบัญชีรายชื่อไม่ให้เกิน 100 รายชื่อ โดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง แล้วส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และ 3.ให้หัวหน้าสาขา หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจัดการประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อได้คนละไม่เกิน 10 รายชื่อ โดยต้องมีสมาชิกร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน เมื่อประชุมเสร็จสิ้นให้มีการประกาศผล แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหาโดยเร็ว ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.ป.ฉบับนี้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

จากนั้น นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ (ปช.) เสนอร่าง พ.ร.ป.ฉบับพรรค ปช.ว่า 1.ยกเลิกการจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมือง 2.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อบังคับพรรคการเมือง โดยเราเน้นไปที่เรื่องของค่าสมาชิกพรรค ที่สมาชิกที่สมัครเป็นสมาชิกพรรค เดิมต้องจ่าย 100 บาท เป็น 50 บาท 3.ยกเลิกการกำหนดข้อบังคับพรรคการเมืองในลักษณะให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมือง ในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ

Advertisement

นายกมลศักดิ์กล่าวว่า 4.ยกเลิกเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง เนื่องจากไม่ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน 5.ยกเลิกตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพราะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติมาก และแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการส่งผู้สมัครที่มีคำเกี่ยวข้องกับคำว่า “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” และยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ไม่ต้องผ่านตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เป็นต้น ต่อมาคือแก้ไขเพิ่มเติมการกระทำที่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะผู้นำเสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง อภิปรายนำเสนอว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีอุปสรรคบางประการ มีการจำกัดเสรีภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้สมาชิกพรรค ชำระค่าสมาชิกพรรค ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพของบุคคล และมีปัญหาทางปฏิบัติ การกำหนดเหตุยุบพรรคมากเกินไป ที่อาจมีการใช้กฎหมายยุบพรรคการเมืองได้ง่ายเกินไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน พรรค พท.จึงขอเสนอสาระสำคัญที่ควรแก้ไขมีทั้งสิ้น 29 มาตรา เช่น เรื่องการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ควรใช้คุณสมบัติเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จึงขอให้มีการยกเลิก เรื่องการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มีการกำหนดให้เขาต้องจ่ายค่าสมาชิก เพื่อมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองสร้างปัญหา สุ่มเสี่ยงใช้เงื่อนไขนี้ ทำให้เกิดการกระทำผิด จึงขอยกเลิกบทบัญญัติมาตรานี้ แล้วไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคแทนว่าจะมีการเก็บค่าสมาชิกพรรคอย่างไร

นพ.ชลน่านกล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 28-29 ที่มีการพูดถึงกันมาก พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหามีการยัดไส้ เปิดโอกาสให้คนภายนอกมาครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง แต่สิ่งที่พรรคเห็นและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือมีการใช้มาตรานี้กลั่นแกล้งทางการเมือง พรรคจึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา โดยใช้คำว่าการกระทำในวรรคหนึ่ง มิให้รวมถึงการชี้แนะ การให้คำปรึกษา การให้ข้อมูล เพื่อประกอบการทำกิจกรรมพรรคการเมือง

“เราได้ขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นว่าบรรดาการให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แนะ ให้ข้อมูลเสนอแนะ แล้วพรรคนำไปประกอบการทำกิจกรรมในพรรคการเมือง ไม่ถือเป็นการชี้นำ เรื่องนี้ไม่ได้มีการสอดไส้ใดๆ แต่เป็นการป้องกันการตีความเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น ที่จะมีส่วนร่วมได้ บุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ กลไกลการมีส่วนร่วม เป็นกลไกลทางสาธารณะ เป็นการรับฟังความเห็นเชิงสาธารณะ เพราะถ้าตีความเพื่อเอาผิด หากเราไปรับฟังความเห็น การทำประชาพิจารณ์ แล้วมาตีความบุคคลภายนอกครอบงำ มาหาเหตุให้ยุบพรรคได้ จึงต้องเขียนป้องกันเอาไว้” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ประเด็นการยุบพรรคการเมือง หลายพรรคหวั่นไหวมาก เช่น พรรค พท. พรรคก้าวไกล เราจึงเขียนให้ชัด เหตุการณ์ยุบพรรคได้นั้นจะมีเพียงกรณีเดียวคือการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น และคำวินิจฉัยศาลต้องมีหลักฐาน โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่ใช่เพียงมีเหตุอันเชื่อได้ว่าแล้วยุบพรรคการเมือง ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนและพรรคการเมืองหายไป ที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทยที่มีสมาชิกพรรค 19 ล้านเสียงต้องหายไป ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น

“นอกจากนี้ พรรคได้เขียนบทเฉพาะกาลให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขอให้สมาชิกรัฐสภารับร่างของพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกันเมื่อดูร่างทั้งหมด 6 ร่าง มีหลักการใกล้เคียงกัน อยากให้สมาชิกสภารับหลักการทั้งหมดทุกร่าง เหมือนกับที่ได้รับหลักการวาระ 1 ทุกร่างของ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” นพ.ชลน่านกล่าว

ด้าน นายวิเชียร ชวลิต เสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับพรรคร่วมรัฐบาลว่า แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมและค่าปรับปรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมือง แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวแทนพรรคการมืองประจำจังหวัด, แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร รับเลือกตั้ง, แก้ไขเพิ่มเติมเกียวกับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง, แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาผู้มัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ, แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบเบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ, ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืนข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เป็นต้น

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้สภามี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะพึงมีและการแบ่งเขต การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะได้รับเลือกตั้ง ที่เป็นธรรม ต่อพรรคการเมืองและเคารพสิทธิและเสียงของประชาชน จึงสมควรแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าทำเนียมพรรคการเมือง และค่าบำรุงพรรคการเมือง การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การสรรหาผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จึงต้องตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้

นายวิเชียรกล่าวว่า การเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประชากรในปีใด ให้มีการคำนวน ส.ส.เขตโดยกระจายเป็นเขตในแต่ละจังหวัด โดยใช้จำนวนประชากร หรือประกาศทะเบียรราษฎรปีก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญว่าการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งนั้นจำต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในแต่ละปีเมื่อมีการประกาศทะเบียนราษฎร ฉะนั้น การที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งคือการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้ง ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และในการประกอบเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคการเมืองนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของสมาชิกตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และไปดำเนินการจัดตั้งให้มีตัวแทน เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้จะยุ่งยากซับซ้อน และผูกพันไปถึงการสมัครเป็นสมาชิกที่จะต้องเสียค่าสมาชิกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาระและกระทบกับประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆ ในการทำธุรการ

นายวิเชียรกล่าวว่า ส่วนการทำไพรมารีนั้น รัฐธรรมบัญญัติให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่มีบทบัญญัติใดบังคับว่าต้องทำไพรมารี แต่ก็มีการทำไพรมารีมาแล้วเมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ซึ่งเป็นผลให้ได้ ส.ส.มานั่งทำงานกันอยู่ในรัฐสภา และการเสนอแก้ไขนี้ไม่ได้ผิดไปจากหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และไม่ได้หนีไปจากสิ่งที่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองเดิมบังคับใช้อยู่

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มีบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการพรรคการเมือง สร้างภาระขั้นตอนทางธุรการ มีบทกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วน วันนี้จึงเป็นโอกาสนี้ดีที่เราจะได้มาแก้ไขผลพวงของรัฐบาลสมัย คสช.ที่ออก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะผู้ร่างไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้มีโอกาสร่าง โดยร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่พรรค ก.ก.เสนอนั้นยืนบนหลักการว่าพรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นสถาบันการเมืองที่สะท้อนความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน

นายวรภพกล่าวว่า พรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้พรรคต้องตั้งง่าย แต่ยุบยาก ต้องไม่บังคับการเก็บค่าสมาชิก รวมทั้งต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอุดหนุนเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองมาเป็นตามสัดส่วนจำนวนสมาชิกพรรค เพราะจะทำให้พรรคเข้มแข็ง มีทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ยกเลิกการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีเงินทุนประเดิม 1 ล้านบาท เป็นต้น

นายวรภพกล่าวด้วยว่า เมื่อจุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองมาจากประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงไม่ควรมีอำนาจใดที่จะมีสิทธิตัดสินยุบพรรคการเมืองได้ เพราะมันคือการทำลายหลักการประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถอยู่ได้ หากไม่มีประชาชนสนับสนุน ประชาชนจึงควรเป็นผู้ตัดสินพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง โดยโทษยุบพรรคถูกกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้เป็นบ่อนทำลายพรรค ทำให้พรรคตั้งยาก แต่ยุบง่าย และอ่อนแอ ดังนั้น การยุติและยกเลิกการใช้อำนาจที่นอกเหนือจากประชาชนอย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ด้วยเหตุนี้พรรค ก.ก.จึงเสนอยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง

ส่วน นายอนันต์ ผลอำนวย เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับพรรค พปชร.ว่า แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้อาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าทำเนียม และค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมือง แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติเกี่ยวกับตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ ให้ยกเลิกเกี่ยวกับข้อห้าม ในการดำเนินการสรรหาผู้สสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเเขตและบัญชีรายชื่อ ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืนข้อห้าม ในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ

นายอนันต์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติต้องห้ามของผู้อาจร่วมดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง จากเดิมกำหนดให้ผู้มีอายุไม่ต่ำว่า 20 ปีบริบูรณ์ ขอแก้ไขให้เป็นมีอายุไม่ต่ำว่า 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนอัตราค่าทำเนียมค่าบำรุงพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองแบบตลอดชีพ จากเดิมกำหนดว่าไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ขอแก้ไขให้เป็นไม่น้อยกว่า 200 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image