บรรยากาศการเมืองก่อนการเลือกตั้งที่ปรากฏผ่านพรรคพลังประชารัฐ และที่ปรากฏผ่านพรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ “ภายใน”อย่างเด่นชัดและต่อเนื่อง
วิวาทะว่าด้วย”แม่ทัพ”และ”ขุนศึก”ระหว่าง นายสุชาติ ชมกลิ่น กับคนในตระกูล”คุณปลื้ม”คือตัวอย่างหนึ่ง
ความไม่พอใจที่สะสมตั้งแต่กรณีของ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ แห่งพัทลุง ต่อเนื่องมายังกรณีของ นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ แห่งนครศรีธรรมราช คืออีกตัวหย่างอันร้อนแรง
กรณีที่จังหวัดชลบุรีอาจสามารถจบลงด้วยคำว่าเข้าใจกันแล้ว สงบลงแล้วภายหลังมีข่าวการหารือของ”ผู้ใหญ่” ขณะที่กรณีของพรรคประชาธิปัตย์ลงเอยด้วยการแยกตัว
หากนับแต่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 กระทั่ง มาถึงบรรยากาศก่อนครบวาระในเดือนมีนาคม 2565 ความขัดแย้ง
แตกแยกและแยกตัวของพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์คึกคักอย่างยิ่ง
เป็นการปะทะในทางความคิด เป็นการจัดสรรเพื่อความลงตัวก่อนปี่กลองทางการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นในทางเป็นจริง
ที่อึกทึกที่สุดสำหรับพรรคพลังประชารัฐคือกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ปะทุขึ้นอย่างร้อนแรงจากสถานการณ์ญัตติขอเปิดอภิ ปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกันยายน 2564
ลงเอยด้วยมาตรการ”ขับ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และคณะไป อยู่พรรคเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2565
ขณะที่กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์เริ่มตั้งแต่การออกไปของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ลงเอยด้วยการจัดตั้งพรรคไทยภักดี การออกไปของ นายกรณ์ จาติกวณิช ด้วยการจัดตั้งพรรคกล้า
การแยกตัวของ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาเดียวกัน
ปรากฏการณ์อันเกิดที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์สะท้อนให้เห็นการแยกและแตกตัวในทางการเมือง นำไปสู่การปรับตัวก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไป
บ่งชี้ว่าทิศทางพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์เด่นชัด
แนวโน้มก็คือ ทิศทางที่จะเป็นพรรคขนาดกลาง เป็นพรรคอันเป็นตัวแทนระดับภาค ระดับจังหวัด มิได้อยู่ในลักษณะทั่วประเทศ
เป็นไปตามสถานการณ์ เป็นไปตามวิถีของการเปลี่ยนแปลง