ส่องวิวาทะ ปิยบุตร-ปวิน สงครามรัสเซียบุกยูเครน

สถานการณ์การรบในประเทศยูเครนยังคงตึงเครียดต่อเนื่องหลังจากรัสเซียนำกำลังทหารเปิดปฏิบัติการรุกรานยูเครนเต็มกำลัง ในแวดวงวิชาการไทยก็มีการถกเถียงกรณีดังกล่าวอย่างเข้มข้น

โลกออนไลน์แชร์ข้อความจาก รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า ที่เข้าไปแสดงความเห็นเรื่องนี้ในเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“ผมว่าข่าวเรื่องยูเครนที่คนไทยอ่าน มัน โน้มเอียงไปทางสหรัฐและอียมากจนเกินไป จนกลาย เป็น “มวยปล้ำ” พระเอก-ผู้ร้ยุ บางคนแสดงความเหนกันอย่างกับออกมาจากชีรีส์หรือหนังฮอลลีวูด ที่รัสเชียต้องเป็นผู้ร้ายตลอดกาล เรื่องนี้มันมีรายละเอียดอีกมากมาย ผมชอบความเห็นอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ที่ไปโพสในเพจใบตองแห้ง ผมเห็นว่า ต้องหาวิธีการลดบทบาทหรือเลิกนา โต้ไปได้แล้ว”

ทำให้ รศ.ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นนักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นโต้ว่า

Advertisement

สิ่งที่ปิยบุตรพูดอยู่ คือการให้ความชอบธรรม legitimise การรุกรานอธิปไตยของยูเครน ซึ่งมันคือการให้ความชอบธรรมสงคราม นี่คือคำพูดที่ออกจากปากสมาชิกระดับสูงของพรรคที่อ้างตัวเองว่าหัวก้าวหน้า การบอกว่าเราเอียงไปทางสหรัฐและอียูซะมาก แล้วมองรัสเซียเป็นผู้ร้าย ขอถามหน่อยว่าเรามองรัสเซียในทางที่ดี/ทางที่เป็นพระเอกอะไรได้บ้าง อย่างน้อยไทยยังเป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐ และอียูก็เข้ามาสนับสนุนประชาธิปไตยในไทยที่มากอยู่ แม้แต่ปิยบุตรเองก็ไปกินอาหาร/ดื่มไวน์ที่สถานทูตฝรั่งเศสบ่อยครั้ง ไม่ยักจะไปดื่มที่สถานทูตรัสเซียบ้าง

เอาล่ะ ขี้เกียจแซะ ไม่ว่ายูเครนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่ แต่การแก้ไขความขัดแย้งต้องไม่จบด้วยการรุกรานหรือสงคราม ต่อให้ยูเครนแสนเลว (และดังคำที่ปิยบุตรบอกว่า “เรื่องนี้มันมีรายละเอียดอีกมากมาย”) ยูเครนไม่สมควรต้องถูกลากเข้าสู่สงคราม นี่มันคือคำอธิบายที่ทุเรศ เหมือนกับที่เรารู้ว่า ต่อให้รัฐบาลทักษิณจะเลวอย่างไร การทำรัฐประหารก็ไม่ถูกต้อง นี่คือปิยบุตรกำลังบอกว่า การทำโทษยูเครนเป็นเรื่องที่ justified ได้ งั้นรัฐประหารที่ผ่านมา ถ้าใช้แนวคิดนี้ ก็ justified ได้เหมือนกัน – two wrongs don’t make a right!

ใช่ค่ะ NATO มันคือสิ่งตกค้างของสงครามเย็น แต่เราต้องยกเลิกมันไหม? ปิยบุตรทราบหรือเปล่าว่า ในภูมิภาคอื่นๆ การรวมตัวทางทหารยังมีความหมาย เพราะส่วนหนึ่งมันคือการสร้าง balance of power แล้วเอาจริงๆ มันยับยั้งการทำสงครามได้ในระดับหนึ่ง ที่ผ่านมามันมีทั้ง QUAD มันมีทั้ง AUKUS ที่รัฐสร้างขึ้นเพื่อคานดุลทางทหารของจีน เออ สรุปว่า จะไม่เอาทั้งนาโต้ และเห็นว่ารัสเซียไม่ใช่ผู้ร้าย แล้วประเทศที่เล็กกว่าและไม่มีสมรรถภาพทางทหารที่เท่ากว่าอย่างยูเครนจะทำอย่างไร?

Advertisement

แนะให้ปิยบุตรยึดกับนิติศาสตร์ที่เป็นศาสตร์ที่ตัวเองถนัดจะดีกว่า

ต่อมา รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล ใช้เพจทางการของตนเอง เผยแพร่บทความกรณียูเครน ระบุว่า เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และถือเป็นจุดยืนส่วนตัว ระบุว่า

หมายเหตุ – เริ่มแรก ผมตั้งใจจะไม่ใช้เพจทางการของผมในการแสดงความเห็นกรณียูเครน แต่ใช้แอคเคานท์ส่วนตัวไปแสดงความเห็นตามเพจของเพื่อนๆ หลายๆ คน ปรากฎว่า มีการตัดเฉพาะบางท่อนไปเผยแพร่ทางทวิตเตอร์และเพจต่างๆ ทำราวกับว่า ผมสนับสนุนการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ผมจึงใช้ทวิตเตอร์ตอบหลายข้อความ และขอนำมาลงรวมกันที่นี่อีกครั้ง

ไม่มีตรงไหนเลยที่ผมบอกว่าเห็นด้วยกับการรุกรานหรือบอกว่าการรุกรานอธิปไตยของยูเครนมีความชอบธรรม

จุดยืนของผมมีดังนี้

1.ต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ปูตินทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ รัสเซียต้องยุติการใช้กำลังทางทหารรุกรานต่อยูเครน

2.ผมมีความเห็นมานานแล้วว่านาโต้ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาความมั่นคง และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือมหาอำนาจของตะวันตก กรณีวิกฤตยูเครนที่เรื้อรังมาเกือบสิบปี ก็คือบทพิสูจน์หนึ่งว่าองค์กรแบบนาโต้ไม่เวิร์คจริงๆ

3.ประเด็นเรื่องรัสเซีย ยูเครน ควรแยกพิจารณาแต่ละประเด็น เราต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ประณามปูตินได้ แต่ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนการมีอยู่ขององค์กรแบบนาโต้ และพฤติกรรมของมหาอำนาจตะวันตก

ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเลือกข้าง จนไปไกลถึงขนาดที่ว่าหากเราต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย แล้วต้องตามมาด้วยการสนับสนุนนาโต้ ผมเห็นว่าองค์กรแบบนาโต้มีปัญหาจริงๆ และพฤติกรรมของสหรัฐและตะวันตกในอีดตที่ผ่านมาก็มีข้อวิจารณ์จริงๆ

เมื่อวานนี้ Mariana Mazzucato นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ได้แชร์เห็นด้วยกับบทความของ Jeffry Sachs ที่ตีพิมพ์ใน FT ที่วิจารณ์บทบาทของ NATO และสหรัฐอเมริกา ก็โดน “ทัวร์ลง” ยกใหญ่

ผมเข้าใจดีว่า ด้วยสถานการณ์ “แผลสด” ที่พึ่งเห็นตรงหน้าจากการรุกรานของรัสเซีย ย่อมทำให้คนไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย แต่ผมอยากให้พิจารณาทั้งระบบ ตลอดเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2014 ถึงบทบาทของมหาอำนาจตะวันตกและ NATO ด้วยที่ทำให้สถานการณ์ยูเครนบานปลายมาขนาดนี้

ผมเห็นด้วยกับ Mélenchon และพรรค La France insoumise ที่เสนอให้ฝรั่งเศสออกจากนาโต้ ในขณะเดียวกันเขาก็ต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ล่าสุดพึ่งแถลงการณ์ประณามไป เราต้องทยอยลดและเลิกบทบาทนาโต้ สร้างรูปแบบองค์กรความร่วมมือใหม่ที่แสวงหาสันติภาพจริงๆ ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของมหาอำนาจตะวันตก

4. ผมเห็นว่าการติดตามสถานการณ์ที่มหาอำนาจสองขั้วทะเลาะกัน (ไม่ว่าจะตะวันตกกับรัสเซีย หรือ ตะวันตกกับจีน) ไม่สามารถอ่านจากสื่อหรือปัญญาชนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว ถ้าอ่านแต่สื่อฝ่ายตะวันตกก็ไม่มีทางเข้าใจรัสเซีย จีน หากอ่านแต่สื่อรัสเซีย เช่น RT สื่อจีน ไม่มีทางเข้าใจตะวันตก

ผมไม่มีวันเห็นด้วยกับสงคราม การรุกราน แบบยึดครอง แบบจักรวรรดิ ที่ประชาชนไม่ได้อะไรนอกจากความตาย แบบที่รัสเซียทำตอนนี้ แต่เราก็ต้องไม่สวิงกลับไปหาอีกขั้วหนึ่งที่ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน ผมไม่เชื่อว่าการแสวงหาสันติภาพทำได้โดยองค์กรแบบ NATO เพราะองค์กรและวิธีการแบบที่ NATO ทำมาตลอด ไม่มีทางแก้ปัญหารัสเซียได้แน่ๆ รอบนี้ก็เห็นชัดๆ ว่าแก้ไม่ได้ ทั้งหมดนี้ คือ จุดยืนและความเห็นส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวอะไรกับองค์กรที่ผมสังกัด

ขณะที่ รศ.ดร.ปวิน เขียนข้อความในเวลาต่อมาว่า

อะไรมันคือศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิทางการทูต นั่นคือการที่เรามีจุดยืดที่ตั้งอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน ทำไมในปี 2022 เราต้องมานั่งเถียงกันว่าเรื่องนี้มันจำเป็นหรือไม่ จำเป็นค่ะ เพราะสิทธิมนุษยชนมันคือผลประโยชน์แห่งชาติที่เบสิคที่สุด ดังที่เขียนไปแล้ว เรามีการทูตไผ่ลู่ลมมาช้านาน (bamboo diplomacy) หรือการทูตแบบสองหน้า ที่ทำให้เรารอดวิกฤตในยุคอาณานิคม แต่วันนี้ วันที่รัสเซียรุกรานยูเครน วันที่ทุกอย่างมันชัดเจนว่า รัสเซียทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ วันนี้สงครามถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการทูต เราจะตีสองหน้าไม่ได้ เราต้องมีจุดยืน เพราะมันเห็นชัดว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนกำลังถูกละเมิด นี่ไม่ใช่เรื่องว่าเราเลือกข้างหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกรัสเซียหรือยูเครน แค่เราเลือกที่จะยืนข้างสิทธิมนุษยชน ถ้ายืนแบบนี้ ยืนบนหลักการ เราจะถูกเสมอ ไม่ต้องไม่เหยียบเรือสองแคมนั่น

…เห็นผู้ลี้ภัยและอดีตอาจารย์ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองแสดงความเห็นแล้วเหนื่อยใจ คนหนึ่งบอกไทยทำดีแล้วไม่ต้องมีจุดยืน ในขณะที่ชาวยูเครนส่วนหนึ่งต้องเริ่มอพยพและกลายเป็นผู้ลี้ภัยประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่น ส่วนอีกคน บอกว่ารัสเซียไม่เลวร้ายขนาดนั้น แล้วแถออกทะเลเรื่องนาโต้ว่าจะอยู่หรือจะไป ถามหน่อยเถอะ มันยากหรอกับการที่จะพูดว่าสงครามแม่งโคตร outdated มันยากหรอกับการยืนบนหลักการ แล้วมันยากหรอกับการยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image